กระทรวงสาธารณสุข เผยโควิด-19 กรณี สถานบันเทิง กทม.พบผู้ป่วยเพิ่มรวม 49 ราย เสียชีวิต 1 ราย เป็นชายวัย 44 เหตุจากป่วยไม่พบแพทย์ภายใน 48 ชั่วโมง จนอาการรุนแรง ส่วนกลุ่มบ่อนพนันพบผู้ป่วยเพิ่ม 2 จังหวัด คือลำพูน และ สระแก้ว ทั้ง 2 กรณีมีประวัติไประยองก่อนพบเชื้อ สั่งการให้ทุกจังหวัดสำรวจ สำรองเตียง ยา เวชภัณฑ์เพิ่มรองรับ กรณีผู้ป่วยอาการรุนแรงเพิ่มขึ้น ให้ทุกโรงพยาบาลเตรียมความพร้อมและรายงานทรัพยากรเข้าระบบ เพื่อบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ ดูแลผู้ป่วยโควิด-19 เพียงพอ
วันนี้ (1 ม.ค.) เวลา 15.00 น. ที่ ศูนย์แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค พร้อมด้วย นายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป ปฏิบัติหน้าที่รองอธิบดีกรมควบคุมโรค และ นายแพทย์ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ แถลงข่าวสถานการณ์โรคโควิด-19 ในประเทศไทย และการเตรียมความพร้อมรักษาพยาบาลผู้ป่วยโควิด-19 โดยนายแพทย์โอภาส กล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี โปรดเกล้าฯ รับนายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร และ นางชุลีพร วิจิตร์แสงศรี ภริยาผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร เป็นผู้ป่วยในพระบรมราชานุเคราะห์ พร้อมทั้งพระราชทานของเยี่ยมและดอกไม้เพื่อเป็นกำลังใจให้แก่ผู้ป่วยทั้งสองราย
สำหรับสถานการณ์โรคโควิด-19 ในประเทศไทย มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 279 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 273 ราย เดินทางมาจากต่างประเทศและเข้ารับการกักกัน 6 ราย รักษาหายเพิ่ม 33 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 2 ราย ยอดผู้ป่วยสะสมรวม 7,163 ราย หายป่วยรวม 4,273 ราย ยังอยู่ระหว่างการรักษา 2,827 ราย มีผู้ป่วยอาการหนัก 11 ราย เสียชีวิตรวม 63 ราย มีการติดเชื้อเพิ่มขึ้น 2 จังหวัด คือ ลำพูน และ สระแก้ว ส่งผลให้มีผู้ติดเชื้อกระจาย 53 จังหวัด ภาพรวมการระบาดยังอยู่ที่ จ.สมุทรสาคร ภาคตะวันออก รวมถึง กทม.และ ปริมณฑล แม้มีการกระจายไปจังหวัดอื่น แต่สามารถติดตามผู้สัมผัสเสี่ยงสูงและเสี่ยงต่ำ ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการออกมาครบ พบการติดเชื้อร้อยละ 2 ถือว่าควบคุมสถานการณ์ได้
นายแพทย์โอภาส กล่าวว่า ผู้ป่วยโควิด-19 ส่วนใหญ่มีความสัมพันธ์กับสถานบันเทิงและร้านอาหาร โดยเฉพาะการนั่งรับประทานอาหารในร้านมีความเสี่ยงในการติดเชื้อและแพร่กระจายเชื้อมาก เนื่องจากต้องถอดหน้ากากอนามัยออก ซึ่งวันนี้มีการประชุมคณะกรรมการอำนวยการศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีโควิด-19 (ศปค.สธ.) ที่มีปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน ได้มีข้อแนะนำสำหรับพื้นที่มีการระบาดโควิด-19 ในส่วนที่เป็นสถานบันเทิงและร้านอาหารประเภทนั่งกินในร้าน ขอแนะนำให้ปิดดำเนินการ 14 วัน แต่อนุญาตให้จำหน่ายอาหารประเภทนำกลับไปรับประทานที่บ้านได้ ซึ่งจะเสนอข้อแนะนำนี้ไปยังคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด คณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร และ ศบค.ต่อไปเพื่อพิจารณา ขอย้ำเตือนว่า ที่ร้านอาหารและสถานบันเทิงเป็นจุดที่เราพบการระบาดหลายครั้ง ถ้าประชาชนหลีกเลี่ยงได้เปลี่ยนเป็นการซื้อกลับไปรับประทานที่บ้านก็จะทำให้มีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น สำหรับในช่วงนี้ที่ยังมีการระบาดหลายพื้นที่ โดยเฉพาะกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมถึงภาคกลาง และภาคตะวันออกด้วย
ทั้งนี้ การควบคุมโรคโควิด-19 ต้องอาศัยทั้งมาตรการด้านการแพทย์และสาธารณสุข และมาตรการทางสังคม ความร่วมมือจากประชาชนในการงดกิจกรรมพบปะกันจำนวนมาก งดการเดินทาง ถ้าทุกคนร่วมแรงร่วมใจกันสามารถชะลอและลดการติดเชื้อได้ในเวลารวดเร็ว
ด้าน นายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป ปฏิบัติหน้าที่รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า กรณีสถานบันเทิงร้านอาหารย่านปิ่นเกล้า เขตบางพลัด กทม. มีผู้ป่วยรวม 49 ราย มีผู้เสียชีวิต 1 ราย เหตุการณ์นี้เริ่มตั้งแต่กลางเดือนธันวาคม 2563 ที่พบผู้ชายมีอาการป่วยและตรวจพบเชื้อ หลังจากนั้น พบว่า เพื่อนร่วมงานในสถานที่ทำงานเดียวกัน 3 แห่ง คือ ร้านอาหารแซ่บอีสาน ร้านอีสานกรองแก้ว และร้านน้องใหม่พลาซ่า นอกจากนั้น ยังพบลูกค้าที่มาใช้บริการติดเชื้อโควิด นอกจากคนในกรุงเทพฯ แล้วยังมีผู้มาจากจังหวัดใกล้เคียงติดเชื้อด้วย คือ นนทบุรี 1 ราย และ นครปฐม 1 ราย ซึ่งเป็นพนักงานผู้หญิง เป็นผู้ติดเชื้อรายที่ 49 จากการสอบสวนพบว่าร้านอาหารมีผู้ใช้บริการจำนวนมาก นักร้อง และพนักงานในร้านบางส่วนก็ไปให้บริการร้านอื่นด้วยในย่านเดียวกัน และผู้ติดเชื้อก็มีการไปเที่ยวต่ออีกร้านหนึ่ง จึงมีโอกาสแพร่เชื้อต่อเนื่องได้
สำหรับผู้เสียชีวิต 1 ราย ซึ่งเป็นรายที่ 62 ของประเทศไทย นับจากเริ่มมีการแพร่ระบาดของเชื้อนั้น เป็นชายไทยอายุ 44 ปี เสียชีวิตเมื่อวันที่ 31 ธ.ค. 63 จากประวัติพบว่าป่วยตั้งแต่วันที่ 26 ธ.ค. หลังจากรับประทานอาหารในร้านกรูฟอีฟเวนนิ่งบาร์ ย่านปิ่นเกล้า เมื่อวันที่ 20 ธ.ค. 63 แต่เมื่อมีอาการป่วยเมื่อวันที่ 26 ธ.ค.ก็ยังไม่พบแพทย์ทันที หลังจากนั้น 2 วัน เริ่มมีอาการเหนื่อยหอบ ซึ่งเป็นภาวะปอดอักเสบ และเมื่อเหนื่อยมากขึ้นก็ไปตรวจที่คลินิกโรคทางเดินหายใจที่ รพ.เจริญกรุงประชารักษ์ เมื่อวันที่ 30 ธ.ค. พบว่า ความอิ่มตัวของออกซิเจนในเลือดลดลงเหลือ 80 จากปกติ 99 หรือ 100 เปอร์เซ็นต์ ได้รับการดูแลจากแพทย์ ใส่ท่อช่วยหายใจ เก็บตัวอย่างส่งตรวจหาเชื้อ ผลตรวจพบว่ามีเชื้อที่ก่อให้เกิดโรคโควิด-19 ในปริมาณมาก เป็นสาเหตุของการป่วยที่ชัดเจน วันที่ 31 ธ.ค. อาการไม่ดีขึ้น แพทย์จึงส่งต่อไป รพ.จุฬาลงกรณ์ และมีภาวะระบบทางเดินหายใจล้มเหลว เสียชีวิตเมื่อช่วงเวลา 15.00 น.ของวันที่ 31 ธ.ค. ขณะนี้มีการติดตามผู้สัมผัสเสี่ยงสูงทั้งครอบครัวคน และเจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาลเพื่อตรวจหาเชื้อและกักกันโรคเป็นเวลา 14 วัน
“กรณีนี้เป็นตัวอย่างของการป่วยที่นำมาซึ่งอาการรุนแรงในเวลาอันสั้น ดังนั้น จึงมีคำแนะนำสำหรับประชาชน ถ้าหากเป็นผู้มีประวัติเสี่ยงไปในพื้นที่ที่มีผู้ป่วยโรคโควิด-19 มาก่อน ต่อมาในระยะ 14 วัน มีอาการทางเดินหายใจ ไม่ว่าจะเป็นอาการไข้ ไอ เจ็บ คอ น้ำมูก จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส และต่อมามีอาการเหนื่อย ขอให้รีบไปรับการตรวจรักษาที่โรงพยาบาลโดยเร็ว ซึ่งถ้าหากไปช้าเกิน 48 ชั่วโมง ก็มีโอกาสเสียชีวิตได้ กลุ่มเสี่ยงก็จะเป็นผู้สูงอายุ มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน โรคปอด หญิงตั้งครรภ์ หรือ เด็ก ซึ่งในกรณีที่มีอาการเหนื่อยแล้วหากเป็นไปได้ก็ควรเรียกรถพยาบาลไปรับ หรือถ้าอาการไม่หนักก็เดินทางโดยรถส่วนตัว ไม่ควรใช้รถสาธารณะ” นพ.โสภณ กล่าว
นอกจากนี้ แนะนำว่า หากระยะนี้พนักงานร้านอาหารหรือสถานบันเทิงมีอาการป่วยให้หยุดงาน และไม่ไปให้บริการร้านอื่น เพราะจะมีโอกาสแพร่เชื้อเพิ่มขึ้น ขอให้ผู้ที่ทำงานผับ บาร์ คาราโอเกะ พื้นที่ กทม. โซนกรุงธนเหนือ รอยต่อบางใหญ่ นนทบุรี รับคำปรึกษาและการตรวจโควิด-19 ที่สถาบันป้องกันและควบคุมโรคเขตเมือง (สปคม.) โทร.นัดคิวตรวจที่เบอร์ 0-2521-1668 หรือ 061-642-4406 ในเวลาราชการ
นายแพทย์โสภณ กล่าวต่อว่า สำหรับกรณีที่เกี่ยวข้องกับจังหวัดระยอง เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม พบผู้ป่วยที่ จ.จันทบุรี 5 ราย และ จ.ตราด 3 ราย (สามีไปเล่นการพนันแล้วติดเชื้อ นำมาติดภรรยาและลูก) ล่าสุด วันนี้มีการรายงานผู้ติดเชื้ออีก 2 จังหวัด คือ จ.สระแก้ว และ จ. ลำพูน โดยที่ จ.สระแก้ว พบผู้ป่วย 2 ราย มีประวัติไปการเล่นพนันในบ่อนหลายแห่ง เช่น อ.เมือง จ.ระยอง อ.นายายอาม อ.ท่าใหม่ อ.สอยดาว จ.จันทบุรี และ อ.เขาสมิง จ.ตราด ส่วนที่ จ.ลำพูน พบ 1 ราย มีประวัติไปเที่ยวและไปสถานบันเทิง ที่ จ.ระยอง นอกจากนี้ ยังพบการติดเชื้อจากร้านหมูกระทะใน จ.ระยอง ที่เกี่ยวเนื่องจากบ่อนพนัน 3 ราย ผู้ป่วยรายแรกเป็นเจ้าของร้านหมูกระทะมีประวัติไปเล่นพนันวันที่ 17 ธันวาคม เมื่อทราบว่ามีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก จึงไปตรวจและพบเชื้อ รายที่ 2 เป็นพนักงานร้านหมูกระทะ ไม่มีอาการป่วย ติดเชื้อจากการทำงานสัมผัสใกล้ชิดเจ้าของร้าน และรายที่ 3 เป็นพนักงานบริษัท ไปรับประทานหมูกระทะกับเพื่อนวันที่ 28 ธันวาคม ผลตรวจพบเชื้อ
“จุดนี้สะท้อนว่าหากไม่มีการกักกันโรคทำให้เกิดการแพร่เชื้อต่อได้ ดังนั้น ผู้ที่เคยไปสถานที่ลักลอบเล่นพนัน จ.ระยอง ชลบุรี จันทบุรี และ ตราด ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2563 ให้กักกันตัวเองให้ครบ 14 วันนับจากวันสุดท้ายที่ไปบ่อน สวมหน้ากาก เว้นระยะห่าง ล้างมือ หลีกเลี่ยงการใกล้ชิดผู้อื่น หากครบ 14 วันถือว่าปลอดภัย แต่หากมีอาการทางเดินหายใจ จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส ขอให้พบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย โดยสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา เดินทางโดยรถส่วนตัว” นายแพทย์โสภณ กล่าว
ด้าน นายแพทย์ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า สถานการณ์ผู้ป่วยโควิด 19 ระลอกใหม่ มีผู้ป่วยอาการหนักและเสียชีวิต 3 ราย ได้แก่ ระยอง เป็นชายอายุ 45 ปี กทม. ชายอายุ 44 ปี และ ตาก ชายอายุ 70 ปี โดยทั่วประเทศมีผู้ป่วยอาการหนักที่ยังนอนในโรงพยาบาลขณะนี้มี 11 ราย ทั้งนี้ คาดว่า จะมีผู้ป่วยอาการปานกลางและรุนแรงหนักเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ โดยพบผู้ป่วยอาการรุนแรงในภาคตะวันออก มากกว่า จ.สมุทรสาคร เนื่องจากโรคประจำตัวและปัจจัยต่างๆ และคาดจะพบผู้ป่วยกระจายไปอีกหลายจังหวัด ได้เตรียมพร้อมทรัพยากรและเตียงสำรองไว้อย่างเพียงพอ ปัจจุบันมีเตียงรองรับผู้ป่วยโควิด 19 รวม 22,690 เตียง อยู่ในสังกัดและนอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุข
สำหรับพื้นที่ กทม.และปริมณฑล มีเตียงรองรับ 2,778 เตียง รองรับผู้ป่วยอาการรุนแรงจากพื้นที่โดยรอบด้วย ขณะนี้มีผู้ป่วยนอนโรงพยาบาล 277 ราย มีอาการหนักเพียง 8 ราย ต้องอยู่ในไอซียูและใส่ท่อช่วยหายใจ เมื่อคำนวณจากข้อมูลการรักษา คือ ผู้ป่วยไม่มีอาการ หรือมีอาการเล็กน้อยใช้เวลารักษาในโรงพยาบาล 14 วัน อาการปานกลางจนถึงรุนแรงอยู่โรงพยาบาล 17 วัน ดังนั้น พื้นที่ กทม.และปริมณฑลสามารถรองรับผู้ป่วยโควิด 19 ได้เพิ่มจำนวน 276-480 รายต่อวัน เฉพาะห้องไอซียูรองรับเพิ่มได้วันละ 24 ราย ทั้งประเทศรองรับผู้ป่วยโควิด 19 เพิ่มได้ 1,103-1,920 รายต่อวัน เฉพาะห้องไอซียูรองรับเพิ่มได้ 96 รายต่อวัน
“เรามีระบบริหารจัดการเตียงและเวชภัณฑ์ โดยให้ทุกโรงพยาบาลรายงานภาพรวมของทรัพยากรทั้งหมดและการใช้ในแต่ละวันเข้ามาในระบบ เพื่อข้อมูลเป็นปัจจุบัน ทำให้ทราบว่ามีเตียงเท่าไร มีเครื่องช่วยหายใจเพียงพอหรือไม่ เวชภัณฑ์ต่างๆ หน้ากากและชุดป้องกันมีมากน้อยเท่าไร เพื่อจัดสรรให้เพียงพอ เบื้องต้นมีการสำรองไว้เพียงพอประมาณ 2-4 เดือน ไม่พอมีระบบช่วยเหลือทั้งในระดับจังหวัดและระดับเขตสุขภาพ” นายแพทย์ณัฐพงศ์ กล่าว
ทั้งนี้ ขอแนะนำประชาชน หลีกเลี่ยงการไปที่ชุมชน โดยเน้นการอยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ ถ้ามีประวัติเสี่ยงการสัมผัสโรค ให้ไปขอรับการตรวจ มีวินัยป้องกันตนเองโดยเว้นระยะห่าง ล้างมือ และสวมหน้ากาก ใช้แอปพลิเคชันไทยชนะและหมอชนะ โรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขไม่ปิดบริการแต่อาจลดบริการลงบ้างเพื่อลดความแออัด ป้องการการแพร่กระจายเชื้อ ขอให้โทรศัพท์สอบถามเพื่อนัดคิวหรือเลื่อนนัด รวมถึงขอรับบริการพบแพทย์ออนไลน์ได้ และบริการส่งยาทางไปรษณีย์ เพื่อลดการมาโรงพยาบาล