แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ยืนยันอาหารทะเลรับประทานได้ตามปกติ แนะใช้น้ำทำความสะอาดในปริมาณมากและปรุงสุก เพราะความร้อนสูงสามารถทำลายไวรัสได้ ควรหลีกเลี่ยงอาหารทะเลดิบและไม่สุก
ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้คำแนะนำผู้บริโภคในการรับประทานอาหารทะเลอย่างปลอดภับในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 ว่า อาหารทะเลปรุงสุกสามารถบริโภคได้ เพราะโควิคถูกทำลายได้ด้วยความร้อนในระดับที่ต่างกัน เช่น ที่อุณหภูมิ 56 องศานานครึ่งชั่วโมง และอุณหภูมิยิ่งสูงขึ้นจะใช้เวลาสั้นลง กล่าวคือ ที่อุณหภูมิเกินกว่า 85 องศา มั่นใจได้ว่าทำลายไวรัสได้ภายใน 1-3 นาที และที่ 100 องศา ไวรัสจะถูกทำลายทันที
“สิ่งที่ต้องคำนึงถึง คือ การจับต้องอาหารทะเลที่แช่เย็นมา ต้องล้างมือให้สะอาด ใช้น้ำสะอาดในปริมาณที่มากพอล้างอาหารทะเล และทำความสะอาดมือด้วยสบู่ก่อนสัมผัสใบหน้า ควรใส่ถุงมือและล้างถุงมือให้สะอาดหรือ ใช้แบบครั้งเดียวทิ้ง เพื่อความปลอดภัยและสุขอนามัยที่ดี” ศ.นพ.ยง กล่าว
นอกจากนี้ การขนส่งอาหารทะเลควรมีระบบการจัดการที่ดี มีมาตรการควบคุมดูแลเรื่องความสะอาด ตลอดเส้นทางแล้ว ในส่วนของผู้ประกอบการหรือโรงงานต้องมีมาตรการป้องกันโรคและสุขอนามัยส่วนบุคคลอย่างเคร่งครัด เช่น ต้องหมั่นตรวจดูคนงาน การเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) และอาจจำเป็นต้องสุ่มตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 เนื่องจากผู้ติดเชื้อจำนวนหนึ่งไม่แสดงอาการ หากตรวจพบให้หยุดสายการผลิตบริเวณที่ผู้ป่วยติดเชื้อปฏิบัติงานอย่างน้อย 1 วัน เพื่อทำความสะอาดและฆ่าเชื้อ ด้วยการใช้น้ำยาฆ่าเชื้อที่มีสารประกอบคลอรีนหรือแอลกอฮอลล์ ซึ่งสามารถฆ่าเชื้อไวรัสโควิด 19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
สำหรับการเลือกซื้ออาหารทะเล ศ.นพ.ยง แนะนำว่า กุ้ง อาหารทะเล ที่แช่ในน้ำแข็งแล้วควรหลีกเลี่ยงการใช้มือเลือก ถ้าเป็น กุ้ง อาหารทะเลแช่แข็งที่แพคมาแล้ว และต้องทำความสะอาดแพคเกจจิ้งพร้อมปฏิบัติตามขั้นตอนการปรุงอาหารให้ถูกสุขอนามัย
ศ.นพ.ยง กล่าวว่า อาหารทะเลยังคงรับประทานได้ตามปกติและมีประโยชน์ต่อสุขภาพอย่างมาก โดยเฉพาะปลาทะเล แต่ต้องคำนึงถึงความสะอาดทุกขั้นตอนตั้งแต่การผลิตหรือจับจากชาวประมง การจำหน่าย การเตรียมเพื่อปรุงเป็นอาหาร ตลอดจนการจับต้องอาหารทะเลแช่แข็ง เพื่อความปลอดภัยของทุกคน
“อยากฝากคนไทยเรื่องระเบียบวินัยและการทำตามคำแนะนำต่างๆ เรื่องการดูแลสุขอนามัย ทานอาหารปรุงสุก การสวมหน้ากากอนามัย การล้างมือ ตลอดจนการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) และการเว้นระยะระหว่างบุคคล (physical distancing ) เชื่อคำแนะนำของทางราชการ จะทำให้การสูญเสียทางสุขภาพร่างกายและเศรษฐกิจจากอุบัติการโรคโควิด-19 น้อยกว่าประเทศทางตะวันตกแน่นอน” ศ.นพ.ยง กล่าวย้ำ