ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ยันอาหารทะเลแช่เย็นอันตรายไวรัสโควิด-19 คงชีวิตอยู่ได้นาน หากสัมผัสหรือประกอบอาหาร ควรล้างมือให้สะอาด ยืนยันสามารถบริโภคอาหารทะเลได้ ถ้าปรุงสุก เพราะความร้อนสามารถทำลายไวรัสได้อย่างแน่นอน
วันนี้ (21 ธ.ค.) เฟซบุ๊ก “Yong Poovorawan” ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์แสดงความคิดเห็น โดยระบุว่า “โควิด-19 กับอาหารทะเล อาหารทะเล โดยมากจะต้องทำความเย็นหรือแช่แข็งเพื่อให้คงคุณภาพได้ดี ถ้าชาวประมง ผู้ขาย มีการติดเชื้อโควิด-19 โอกาสที่จะเชื้อปนเปื้อนอยู่ในอาหารทะเลและไวรัสคงชีวิตอยู่ได้นาน จึงมีความเป็นไปได้ที่จะตรวจพบไวรัสในอาหารทะเลแช่เย็น เช่น การตรวจพบในปลาแซลมอน กุ้งนำเข้าในประเทศจีน การติดต่อของโรคโควิด-19 ผ่านทางอาหารทะเล มีการตั้งข้อสงสัยในประเทศจีน
อย่างไรก็ตาม อาหารทะเล สามารถบริโภคได้ ถ้าปรุงสุก ความร้อนสามารถทำลายไวรัสได้อย่างแน่นอน Covid-19 สามารถทำลายด้วยความร้อน 56 องศานานครึ่งชั่วโมง และถ้าความร้อนสูงขึ้นระยะเวลาก็จะสั้นลง โดยทั่วไปแล้วถ้าความร้อนสูงกว่า 85 องศา ก็จะมั่นใจในการทำลายไวรัสได้ และถ้าต้มให้เดือดที่อุณหภูมิ 100 องศาไวรัสจะถูกทำลายทันที
ในช่วงที่มีการระบาดของโรคจึงไม่ควรรับประทานอาหารทะเลดิบหรือไม่สุก สิ่งที่จะต้องคำนึง คือ การจับต้องกับอาหารทะเลที่แช่เย็นมา จะต้องล้างมือให้สะอาด และชำระล้างอาหารทะเล โดยใช้น้ำสะอาดให้มีปริมาณมากพอ และจะต้องทำความสะอาดมือด้วยสบู่ ถ้าเป็นไปได้ควรใส่ถุงมือ และล้างถุงมือ หรือใช้แบบครั้งเดียวแล้วทิ้ง ทุกครั้งต้องล้างมือก่อนจับต้องใบหน้า ในระบบนำส่งอาหารทะเล ก็จะต้องมีมาตรการควบคุมดูแลเรื่องความสะอาด ตลอดเส้นทาง
ทั้งนี้ อุตสาหกรรมอาหารทะเล โรงงาน จะต้องหมั่นตรวจดูคนงาน และอาจจำเป็นต้องสุ่มตรวจหาเชื้อไวรัส covid-19 เพราะผู้ติดเชื้อจำนวนหนึ่ง อาจไม่มีอาการของโรคอาหารทะเลยังคงรับประทานได้ตามปกติ และมีประโยชน์ต่อสุขภาพอย่างมากโดยเฉพาะปลาทะเล แต่ขั้นตอนตั้งแต่ผลิต หรือจับมาจากชาวประมง จำหน่าย การเตรียมมาทำอาหาร ทุกขั้นตอนให้คำนึงเรื่องความสะอาดและความปลอดภัย ในการจับต้องกับอาหารทะเลแช่เย็นหรือแช่แข็ง เพื่อความปลอดภัยของทุกคน”
คลิกโพสต์ต้นฉบับ