สธ.เผยไทม์ไลน์บุคลากรทางการแพทย์ป่วยโควิด-19 รายที่ 7 โดยเป็นผู้ติดเชื้อใน กทม. ระบุเคยทำงานร่วมกับผู้ป่วยรายที่ 4 และเป็นเพื่อนร่วมห้องผู้ป่วยรายที่ 6
วันนี้ (14 ธ.ค.) ที่ศูนย์แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด 19 (ศบค.) และ นายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค แถลงข่าวสถานการณ์โรคโควิด-19 ของประเทศไทย
นายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กล่าวถึงบุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อโควิด-19 รายที่ 7 นี้ เป็นเพื่อนร่วมห้องพักของผู้ป่วยบุคลากรทางการแพทย์รายที่ 6 ดังนั้น ผู้ติดเชื้อทั้งหมดอยู่ในกลุ่มเดียวกัน โดยเริ่มจากการมีบุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อจากการปฏิบัติงานภายในสถานกักกันที่รัฐกำหนด (ASQ) และนำมาติดเพื่อนบุคลากรจากการมีกิจกรรมร่วมกันนอกเวลางาน ใช้ชีวิตด้วยกัน พักด้วยกัน รับประทานอาหารด้วยกัน
จากการสอบสวนโรคพบว่า ผู้ป่วยรายที่ 7 มีความเกี่ยวข้อง โดยเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2563 ทำงานร่วม Ward กับผู้ป่วยรายที่ 4 ที่เริ่มป่วยเป็นคนแรก, พักอาศัยร่วมห้องกับผู้ป่วยรายที่ 6 เมื่อวันที่ 5-7 ธันวาคม 2563 ก่อนที่จะทราบว่าผู้ป่วยรายที่ 6 ติดเชื้อ, วันที่ 8 ธันวาคม 2563 เก็บตัวอย่างตรวจหาเชื้อครั้งแรก ผลไม่พบเชื้อ และเข้ารับการกักกันในโรงพยาบาลเอกชนวันที่ 9-11 ธันวาคม 2563 ระหว่างนี้ไม่มีอาการ กระทั่งวันที่ 12 ธันวาคม 2563 มีอาการเจ็บคอ แน่นจมูก ผลตรวจแล้วพบเชื้อ ขณะนี้อยู่ในการดูแลรักษาของแพทย์
“ผู้ป่วยรายที่ 7 อยู่ในสถานที่กักกันโรคตั้งแต่วันที่ 8-12 ธันวาคม จึงไม่มีการสัมผัสกับผู้อื่น ถือว่ามีความปลอดภัยสูง ขอยืนยันว่าไม่ต้องกังวล ผู้ที่พักในคอนโดเดียวกัน หากไม่มีอาการป่วย ไม่มีอาการผิดปกติ ถือเป็นกลุ่มที่ไม่เสี่ยง ส่วนกรณีสงสัยว่าอาจจะมีอาการป่วยเนื่องจากมีความใกล้ชิดช่วงก่อนหน้านี้ เช่น มีอาการทางเดินหายใจ ไข้ ไอ เจ็บคอ น้ำมูก ไม่ได้กลิ่น ไม่รับรส สามารถไปตรวจสถานพยาบาลใกล้บ้านได้ อย่างไรก็ตาม จากการสอบสวนพบว่าเป็นการติดเชื้อภายในกลุ่มเพื่อนร่วมงานที่ใช้ชีวิตร่วมกันเท่านั้น และขอให้ประชาชนยังคงตระหนักป้องกันโรคด้วยการใส่หน้ากาก เว้นระยะห่าง ล้างมือบ่อยๆ ทำความสะอาดพื้นผิวสัมผัสที่ใช้ร่วมกัน” นายแพทย์โสภณ กล่าว
สำหรับผู้ติดเชื้อรายใหม่ ที่เดินทางมาจากเมียนมา 6 ราย เดินทางเข้ามาอย่างถูกต้องและเข้ารับการกักกันในสถานที่กักกันที่รัฐจัดให้ (Local Quarantine) จ.เชียงราย แล้วจึงตรวจพบเชื้อ ได้รับการดูแลรักษาในโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ โดย 4 รายติดเชื้อไม่มีอาการ อีก 2 รายมีอาการเล็กน้อย จึงไม่ต้องตระหนก เนื่องจากไม่ได้มีการสัมผัสกับผู้อื่นภายนอก