รมว.การอุดมศึกษาฯ ยกย่องในหลวง รัชกาลที่ ๙ “เป็นผู้นำและปราชญ์ของโลก” ถือเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงให้กับประเทศ สั่ง อว.ตั้ง “สถาบันเศรษฐกิจพอเพียง” เผยแพร่ทฤษฎีเป็นภาษาอังกฤษทั่วโลก
วันนี้ (4 ธ.ค.) ที่จามจุรีสแควร์ สามย่าน กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัดงานนิทรรศการ “งานของพ่อ” เพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันพระราชสมภพ วันที่ 5 ธันวาคม 2563 โดย ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.อว. ได้กล่าวว่า พระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ทรงเป็นผู้นำที่ยิ่งใหญ่ของประเทศไทย ถ้าพูดถึงสิงคโปร์ เราจะนึกถึงลีกวนยู ถ้าพูดถึงแอฟริกา เราจะนึกถึงเนลสัน แมนเดลา ถ้าพูดถึงจีนจะนึกถึงเหมาเจ๋อตุง สำหรับประเทศไทยก็คือ ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงอยู่เหนือการเมือง และท่านทำสิ่งที่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญไทยที่เรียกว่า พระราชประศาสนศาสตร์ ที่ไม่ใช่พระราชกรณียกิจ หรือพระราชกุศล แต่เป็นสิ่งที่สอดคล้องกับรัฐประศาสนศาสตร์ที่สามารถทรงงานได้อย่างต่อเนื่อง ขณะที่รัฐบาลมาแล้วก็ไป แต่พระราชประศาสนศาสตร์ทำมาตลอด 70 ปี แห่งการครองราชย์ สามารถทำให้ประเทศไทยพัฒนาได้อย่างต่อเนื่อง เป็นแผนงานระยะยาวที่ประสบความสำเร็จ เช่น การพัฒนาป่าชายเลนอ่าวคุ้งกระเบน การปลูกป่าทดแทน ทำให้ประเทศไทยมีป่าที่มีคุณภาพอยู่ในระดับเดียวกับป่าอะเมซอน ที่มีเสือ มีช้าง มีนกเงือก ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ความอุดมสมบูรณ์ของป่า นี่คือ พระราชประศาสนศาสตร์ของในหลวงรัชกาลที่ ๙
รมว.อว.กล่าวต่อว่า ในหลวง รัชกาลที่ ๙ ทรงเป็นนักปราชญ์ที่ยิ่งใหญ่ของโลก โดยเฉพาะการคิดค้นทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียงที่ท้าทายชาติตะวันตก และไม่เป็นทฤษฎีที่เป็นปฏิปักษ์กับใคร โดย อว.จะจัดตั้งสถาบันเศรษฐกิจพอเพียงขึ้นมา และมอบให้สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือ นิด้า เป็นหน่วยงานที่ดูแลรับผิดชอบ สถาบันนี้จะยกระดับทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียงให้เป็นสากล โดยเผยแพร่เป็นภาษาอังกฤษไปทั่วโลก เพื่อชี้ให้เห็นว่า เศรษฐกิจพอเพียง คือ ทางรอดของมนุษย์ และเป็นทฤษฎีทางเศรษฐกิจที่สามารถใช้ได้จริง ทุกวันนี้เราจะเห็นได้ว่า ทฤษฎีเศรษฐกิจของตะวันตกล้วนประสบปัญหาแทบทั้งสิ้น สถาบันเศรษฐกิจพอเพียงของ อว. ขณะนี้ถือว่าได้เริ่มต้นนับหนึ่งแล้ว
“เวลาคิดถึงในหลวง รัชกาลที่ ๙ และสถาบันพระมหากษัตริย์คนไทย จะไม่คิดแบบชาติตะวันตก คนไทยจะคิดถึงการรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ เพราะสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลง แม้กระทั่งเรื่องของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พระมหากษัตริย์ไทยหลายพระองค์ล้วนได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้มองการณ์ไกล และทำเพื่อผลประโยชน์ระยะยาวของประเทศ สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นแบบอย่างผู้นำการเปลี่ยนแปลง ไม่ได้ขัดขวางการเปลี่ยน มีการปรับเปลี่ยนให้เข้ากับยุคสมัยตลอด ทรงรักษาความภูมิใจในรากเหง้าของความเป็นชาติ และความเป็นไทยมาโดยตลอด ผมดีใจที่ อว. ได้จัดนิทรรศการงานของพ่อ เพื่อเป็นการแสดงความกตัญญูต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ คนที่เจริญคือคนที่จะต้องรู้จักความกตัญญู ไม่ใช่บอกว่ารู้จักเทคโนโลยี รู้ความก้าวหน้าของศาสตร์ต่างๆ แต่ไม่รู้จักความกตัญญูก็ถือว่าใช้ไม่ได้” ดร.เอนก กล่าว