“สุขภาวะ” นอกจากจะเป็นเรื่องของสุขภาพทางร่างกาย ยังรวมไปถึงสุขภาพจิตใจ สุขภาพทางสังคมและสิ่งแวดล้อมด้วย ทั้งนี้ การที่จะมีสุขภาวะที่ดีได้นั้น มิได้ขึ้นอยู่กับปัจจัยใดปัจจัยหนึ่งเพียงอย่างเดียว แต่เป็นผลรวมจากปัจจัยเหล่านี้ร่วมกัน
เช่นเดียวกับ สสส. ที่เล็งเห็นปัญหาที่อาจส่งผลกระทบต่อการเกิดสุขภาวะที่ดีได้ในอนาคต จนนำมาซึ่งงานเสวนา“ทิศทางการจัดการทรัพยากรลุ่มน้ำโขง จากงานวิจัยเชิงปฏิบัติการโดยชุมชนลุ่มน้ำโขง” ร่วมกับ มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน และภาคีเครือข่าย เพื่อนำเสนอแลกเปลี่ยนผลการทำวิจัยโดยชุมชน อีกทั้งร่วมกันแก้ปัญหาและฟื้นฟูระบบนิเวศในลุ่มน้ำโขงที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของประชากรริมน้ำโขงทั้ง 7 จังหวัด ได้แก่ เลย, หนองคาย, บึงกาฬ, นครพนม, มุกดาหาร, อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี รวมทั้งสิ้น 22 งานวิจัย/พื้นที่
ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุน สสส. ได้ให้ข้อมูลถึงที่มาของความร่วมมือในครั้งนี้ไว้ว่า สสส. ได้ร่วมกับมูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน และภาคีเครือข่าย ร่วมสนับสนุนการจัดทำข้อมูลเชิงวิชาการเพื่อสนับสนุนการแก้ปัญหาระบบนิเวศลุ่มน้ำโขง ที่มีสาเหตุหลักมาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ รวมไปถึงการสร้างเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าบนแม่น้ำสายหลักในต่างประเทศ ที่ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อชาวบ้านนับ 1,000 หมู่บ้านในหลายจังหวัดริมลุ่มน้ำโขง ที่ประกอบทั้งอาชีพประมง การเกษตร และผู้เลี้ยงปลากระชัง จนทำให้ขาดรายได้และแหล่งอาหารโปรตีนจากธรรมชาติที่ได้จากปลานานาชนิด โดยงานเสวนานี้ถือเป็นการแลกเปลี่ยนความรู้ และสรุปบทเรียน เพื่อนำไปสู่การขยายผลในพื้นที่อื่น ๆ พร้อมร่วมหารือสู่การเสนอเป็นนโยบายระดับประเทศ
“เราร่วมกันขับเคลื่อนโครงการฯ มาตลอด 2 ปี โดยครั้งนี้ สสส. เข้ามามีบทบาทในการสนับสนุนข้อมูลเชิงวิชาการ อาทิ การให้ข้อมูลเรื่องผลกระทบ รวมไปถึงการประกอบอาชีพ อีกทั้งยังมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางการปรับตัวให้กับคนในชุมชน เพื่อร่วมกันพัฒนาสู่โครงการวิจัยในระดับต่อไป ก่อนพัฒนาเป็นชุมชนต้นแบบด้านสุขภาวะใน 22 พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ”
ทั้งนี้ ในส่วนของโครงการฯ ที่ดำเนินงานมาตั้งแต่ปี 2562 ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ กล่าวด้วยความยินดีว่า ผลลัพธ์จากการดำเนินโครงการ ฯ เป็นสิ่งที่น่าพึงพอใจอย่างยิ่ง ที่ชาวบ้านสามารถปรับตัวตามสังคมและสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะเรื่องอาชีพและรายได้หลัก เพราะปัญหาปากท้องนับเป็นส่วนสำคัญของกระบวนการเริ่มต้นในงานสร้างเสริมสุขภาพ ที่จะต้องได้รับการแก้ไขก่อนเป็นอันดับแรก ๆ เพราะเมื่อประชาชนมีการบริโภคที่สมบูรณ์และมีเศรษฐกิจครัวเรือนที่ดีแล้ว จึงจะหันมาใส่ใจการมีสุขภาพดี
“เราเห็นด้วยกับวัตถุประสงค์ที่มีการศึกษาวิจัยเชิงปฏิบัติการโดยคนในชุมชน ซึ่งในอนาคตเราหวังมากกว่านั้นว่า นอกจากการแก้ปัญญาในระดับชุมชนด้วยตนเองแล้ว ชาวบ้านจะสามารถนำกิจกรรมและองค์ความรู้ที่ได้รับเหล่านี้ ไปบอกต่อให้เกิดประโยชน์ได้ในอนาคต”
ด้านนายบุญส่ง ศรีเจริญธรรม ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศวิทยากรมประมง รักษาการในตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการประมง ก็ได้กล่าวแสดงความรู้สึกยินดีที่ได้เข้าไปหนุนเสริมด้านกิจกรรมร่วมกับชุมชน ทั้งเรื่องการจัดตั้งแหล่งพันธุ์ปลา ตลอดจนการเพิ่มประชากรปลาในแหล่งน้ำสาขาของลุ่มน้ำโขง พร้อมแนะให้ขับเคลื่อนกิจกรรมที่หลากหลายมากขึ้น
“จากสภาพปัญหาและแนวทางที่ชุมชนได้ดำเนินการก็เป็นสิ่งที่กรมประมงมองว่า สามารถที่จะเข้าไปสนับสนุนในส่วนของกิจกรรม ทั้งดูแลในส่วนของผลผลิตทางประมงให้มากขึ้น ซึ่งจากการเสวนาก็มองว่า นอกจากหน่วยงานที่ร่วมมือกันในวันนี้ ชุมชนเองก็ต้องมุ่งมั่นเพื่อเข้ามาจัดการปัญหาส่วนรวม ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับคนริมโขงในขณะนี้”
นายมนตรี จันทวงศ์ หัวหน้าโครงการวิจัยและพัฒนาชุมชนต้นแบบด้านสุขภาวะฯ กล่าวว่า ปัญหาในพื้นที่ขณะนี้แบ่งออกเป็นหลายส่วน ทั้งที่เกิดในระดับชุมชน และระดับนานาชาติ โดยในระยะสั้นเล็งเห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องฟื้นฟูแหล่งทรัพยากรอาหาร เพื่อให้ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบกลับมามีอาชีพอีกครั้ง ก่อนนำไปสู่การแก้ในระยะยาวอย่างการฟื้นฟูระบบนิเวศของลุ่มน้ำโขง
“งานวิจัยจากชุมชนนำร่องเริ่มถูกนำไปปฏิบัติใช้ในหลายพื้นที่ทดลอง โดยเริ่มทดลองนำแผนกำหนดทิศทางการจัดการทรัพยากรไปปฏิบัติ ยกตัวอย่างบ้านป่งขาม ม.1 ต.ป่งขาม อ.หว้านใหญ่ จ.มุกดาหาร ก่อนหน้านี้ประสบปัญหาจับปลาได้น้อยลงถึง 50% จึงมีการจัดทำแหล่งอนุบาลปลาในหนองค้า ซึ่งเป็นหนองน้ำในชุมชน โดยปล่อยพันธุ์กุ้งไปจำนวน 20,000 ตัว ปลาบึก 1,300 ตัว ปลาเทโพ 700 ตัว ทำให้ชาวบ้านมีแหล่งทำกินอย่างยั่งยืน จากเดิมพึ่งพาการทำประมงในลำน้ำโขงเท่านั้น”
“นอกจากทำงานร่วมกับชุมชน เราก็ได้ทำงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐควบคู่ไปด้วย อาทิ ประมงจังหวัด ประมงศูนย์ เป็นต้น ดังนั้นแม้ในอนาคตโครงการวิจัยจะยุติไป แต่เชื่อได้ว่า การสนับสนุนในพื้นที่ทางประมงและชาวบ้าน สามารถที่จะทำงานร่วมกันต่อไปได้ ซึ่งขณะนี้เราก็ยังมีการทำงานเชิงนโยบายร่วมกับสำนักบริหารนโยบายของนายกรัฐมนตรี ซึ่งในลำดับต่อไป ก็จะนำเรื่องนี้เข้าสู่การประชุมหารือระหว่างกระทรวงพลังงานและกระทรวงต่างประเทศ ถึงแนวทางการเจรจาร่วมกับจีนและลาว ในเรื่องการบริหารน้ำร่วมกันให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด”