xs
xsm
sm
md
lg

เมื่อไหร่ลูกจะได้กลับไปเรียนที่จีน?/ดร.สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ลูกกลับไปเรียนที่เซี่ยงไฮ้หรือยัง ?

คำถามที่ถูกถามบ่อยมาก เพราะจะว่าไปก็เกือบครบปีแล้วที่ลูกชายของดิฉันทั้งสองคนซึ่งเป็นนักศึกษาเรียนระดับปริญญาตรีอยู่ที่เซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน เมื่อต้องเผชิญกับสถานการณ์ COVID-19 ทำให้ต้องเรียนผ่านออนไลน์ เช่นเดียวกับเพื่อนนักศึกษาต่างชาติที่ไม่สามารถเดินทางกลับไปเรียนยังประเทศจีนได้ เพราะทางรัฐบาลจีนก็ยังไม่ออกวีซ่าให้ 

แม้สถานการณ์โดยรวมของประเทศจีนดูเหมือนจะรับมือได้ดีแล้วก็ตาม อาจจะเพราะในภาพรวมรัฐบาลจีนกับรัฐบาลไทยยังตกลงเปิดประเทศแลกเปลี่ยนนักท่องเที่ยวระหว่างสองประเทศกันไม่ได้

อีกประการก็เป็นเพราะว่ายังไม่สามารถวางใจได้ เนื่องจากสถานการณ์ทั่วโลกยังคงมีผู้ที่ได้รับเชื้อCOVID-19 เพิ่มขึ้นทุกวัน ในขณะที่ภายในประเทศจีนเขาสามารถควบคุมได้ แต่ถ้านักศึกษาต่างชาติจากทั่วสารทิศจะเดินทางเข้าไปในประเทศจีนก็อาจจะเกิดปัญหาได้ จึงตัดสินใจชะลอไปก่อน และใช้วิธีการเรียนผ่านออนไลน์มาได้สองเทอมแล้ว

ที่ผ่านมาดิฉันเองก็เฝ้ามองการเรียนออนไลน์ของลูก ๆ เหมือนกัน แรก ๆ ก็ดูเหมือนตื่นเต้นบ้าง สนุกกับสารพัดโปรแกรมที่ใช้ในการเรียน เพราะมีทั้งเรียนผ่านทางไลฟ์สดเปิดกล้อง และแบบดูคลิปวิดีโอที่ทางอาจารย์อัดไว้ล่วงหน้าให้นักศึกษาดูและนำมาเป็นกรณีตัวอย่างในการเรียนการสอน 

วิชาที่เปิดกล้องไลฟ์สดก็ต้องนัดแนะกันในหมู่นักศึกษาและอาจารย์ว่า สะดวกเวลาไหนกัน เพราะแต่ละคนอยู่กันคนละประเทศ ถ้าคลาสไหนนักศึกษาอยู่ในโซนเอเชียกันหมด เช่น ไทย เกาหลี ญี่ปุ่น มีไกลสุดคือทาจิกิสถาน เวลาไทม์โซนเลยยังไม่ต่างกันมาก แม้จะมีเพื่อน ๆ ที่อยู่ฝั่งอเมริกาหรือยุโรปบ้าง แต่พวกเขาเหล่านั้นตัดสินใจไม่กลับประเทศเขาตั้งแต่แรก ทำให้ทุกวันนี้ยังมีนักศึกษาบางกลุ่มที่ยังอยู่หอพักของมหาวิทยาลัย เพราะพวกเขารู้สึกว่ารัฐบาลจีนควบคุมสถานการณ์ได้ เลยตัดสินใจอยู่กัน ซึ่งทำให้การเรียนออนไลน์เป็นไปได้ด้วยดี  
ส่วนวิชาไหนที่เป็นคลาสเรียนรวม พื้นฐานต่าง ๆ ที่นักศึกษาเยอะ ๆ ก็จะเรียนจากคลิปวิดีโอ นักศึกษาก็เข้าไปศึกษาเอง โดยอาจารย์จะใช้แอพลิเคชันของจีน มีเว็บให้เข้าไปดู เข้าไปเช็คชื่อ ไปโหลดเนื้อหาเอกสารประกอบการเรียน มีเว็บส่งงาน อย่าง VDO Conference ที่ใช้เรียนคลาสไลฟ์สดกันก็เป็นแอพลิเคชันของ Tencent ที่มีพร้อมอยู่แล้ว 

ลูกชายเล่าให้ดิฉันฟังว่าที่จีนมีแนวทางการเรียนออนไลน์อยู่ก่อนแล้ว เรียกว่าเครื่องมือเครื่องไม้พร้อม เพียงแต่ก่อนหน้านี้ไม่เคยได้จำเป็นต้องใช้เต็มรูปแบบ พอเกิดเหตุการณ์ COVID-19 จึงทำให้พร้อมและปรับตัวได้เร็ว
 
ส่วนการวัดผลของมหาวิทยาลัยที่เขาทั้งสองเรียน ก็ยังคงเป็นเรื่องการเรียนผ่านออนไลน์ ซึ่งต้องเช็คชื่อกับอาจารย์ทุกครั้ง บางครั้งเหล่าซือหรืออาจารย์จะโทร Wechat เข้ามาถามคำถามเป็นรายบุคคล เพื่อทดสอบว่าเข้าใจไหม เวลาสอบก็จะมีการไลฟ์สดให้เด็กสอบพร้อมกันหมด โดยนัดเวลาพร้อมกัน และต้องให้เด็กทุกคนแพลนกล้องไปรอบ ๆ ห้องให้ทั่วก่อนที่จะเริ่มทำการสอบรายบุคคลด้วย 

แต่อย่างไรก็ตาม ลูกชายทั้ง 2 คนของดิฉันก็อยากกลับไปเรียนที่จีนแล้ว เพราะเขาคิดว่ามันนานเกินไป ทำให้เขาเสียโอกาสในการใช้ชีวิตทั้งในและนอกห้องเรียนจริง ซึ่งมันคือประสบการณ์ที่สำคัญอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นมิตรภาพระหว่างเพื่อน การทำกิจกรรม การใช้ชีวิต ฯลฯ ซึ่งเป็นการฝึกภาษาและทักษะชีวิตที่ดี รวมถึงแผนการที่เตรียมไว้ว่าจะทำอะไรในแต่ละปีก็ต้องงดไปโดยปริยาย 

ขณะเดียวกัน เมื่อย้อนดูวิถีเรียนออนไลน์ของพวกเขาที่บ้าน สิ่งที่เห็นก็คือ เขาต้องฝึกวินัยตัวเองและแบ่งเวลา เพราะไม่มีใครมาบังคับ ยกเว้นคลาสที่ต้องเปิดกล้องไลฟ์สดที่ต้องมีเวลาชัดเจน เรียกว่าก็เป็นการฝึกฝนตัวเองเช่นกัน ต้องรับผิดชอบและศึกษาด้วยตนเองไม่ให้ต้องเสียเวลาการเรียนไปกับสิ่งอื่น

ส่วนคำถามที่ว่าลูกกลับไปเรียนที่เซี่ยงไฮ้ได้เมื่อไหร่ ?

คำถามนี้จึงตอบได้ยากเพราะการระบาดยังคงดำเนินอยู่ แต่เริ่มมีกระแสเรียกร้องจากบรรดานักศึกษาชาวไทยที่ส่งเสียงเรียกร้องให้พวกเขาได้มีโอกาสกลับไปเรียนที่ประเทศจีนได้แล้ว 
 
ในขณะที่ก็มีบางประเทศที่กำลังทยอยรับนักเรียนและนักศึกษากลับพร้อมด้วยมาตรการป้องกันที่รัดกุม เพราะแม้จะมีเทคโนโลยีสุดล้ำแต่การเรียนออนไลน์ประสบปัญหามาก

และพอทุกวิชาปรับเป็นออนไลน์ นักศึกษาต้องทำงานหนักเพิ่มขึ้นเท่าตัวเลย เพราะอาจารย์ทุกวิชาสั่งงานให้ค้นคว้าหมด ขณะที่บางคนก็ไม่พร้อม เช่น บางคนอยู่ต่างจังหวัดไม่มีห้องสมุดให้ค้นคว้า ทำให้ค้นคว้าได้เฉพาะออนไลน์ ถ้าไม่ได้มีช่องทางเข้าฐานข้อมูลออนไลน์ของห้องสมุดมหาวิทยาลัยได้ ก็กลายเป็นข้อจำกัดไป

จริงอยู่แม้เราจะปฏิเสธการเรียนออนไลน์ไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงสถานการณ์วิกฤติที่ทำให้เราต้องเผชิญปัญหา นักเรียนนักศึกษาจากทั่วโลกเองก็กำลังเผชิญกับจุดเปลี่ยนการเรียนรู้ครั้งสำคัญพร้อมกัน
จากนี้ เราจำเป็นต้องเปลี่ยนวิธีคิดใหม่จากประโยคที่ว่า “จะกลับไปเรียนที่เมืองจีนได้เมื่อไหร่” มาเป็น “ถ้าเรายังต้องเรียนออนไลน์แบบนี้ต่อไปล่ะ” ซึ่งไม่รู้ว่าถึงเมื่อไหร่ ก็ควรจะทำให้การเรียนรู้ในปัจจุบันขณะสามารถทำให้เราพัฒนาศักยภาพและทักษะชีวิตได้โดยไม่ต้องกังวลกับข้อจำกัดน่าจะดีกว่ามิใช่หรือ ! 

บางที การหากิจกรรมเสริมสร้างประสบการณ์ชีวิตในประเทศไทยเสริมก็จะช่วยทดแทนโอกาสที่เสียไปได้มาก

ทุกวิกฤตย่อมมีโอกาสเสมอ – อยู่ที่ว่าเราจะหาพบมั้ย !


กำลังโหลดความคิดเห็น