รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมมาตรการความพร้อมรองรับโควิด-19 รพ.นครปฐม มีระบบการดูแลรักษาแบบครบวงจร ห้องความดันลบสำหรับผู้ป่วยหนัก 39 ห้อง หอผู้ป่วยแยกโรค 50 เตียง จัดช่องทางพิเศษเฉพาะผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจ ห้องเก็บตัวอย่างพระราชทาน 4 ห้อง ลดความเสี่ยงผู้รับบริการ และเจ้าหน้าที่ พร้อมห้องปฏิบัติการต้นแบบตรวจได้ 300 รายต่อวัน รู้ผลใน 3 ชั่วโมง
เมื่อวันที่ 7 พ.ย. ที่โรงพยาบาลนครปฐม จ.นครปฐม ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมมาตรการดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ของโรงพยาบาลนครปฐม และให้สัมภาษณ์ว่า กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายให้โรงพยาบาลทุกสังกัด เตรียมความพร้อมระบบบริการ หากพบผู้ป่วยโควิด-19 ต้องได้รับการรักษาทันที เน้นหลักการผู้รับบริการและเจ้าหน้าที่ปลอดภัย ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา โรงพยาบาลนครปฐม ได้เข้มระบบคัดกรองเพื่อลดความเสี่ยงผู้ป่วยและผู้ปฏิบัติงาน จัดช่องทางเดินในโรงพยาบาลใหม่ เพื่อลดความแออัด ลดการสัมผัส มีคลินิกโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ (ARI Clinic) ให้บริการแบบ one stop service แยกโซนออกมาจากอาคารที่ดูแลรักษาผู้ป่วยโรคอื่นๆ หากพบผู้ป่วยมีความเสี่ยงจะส่งตัวไปเก็บตัวอย่างที่ห้องเก็บเชื้อพระราชทานได้ทันที ซึ่งมีจำนวน 4 ห้อง พร้อมส่งตรวจที่ห้องปฏิบัติการของโรงพยาบาล ซึ่งเป็นห้องปฏิบัติการต้นแบบที่มีศักยภาพตรวจได้วันละ 300 ตัวอย่าง ทราบผลไม่เกิน 3 ชั่วโมง นอกจากนี้ ยังมีห้องความดันลบสำหรับผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการหนัก จำนวน 39 ห้อง หอผู้ป่วยแยกโรคสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการน้อย 50 เตียง ในส่วนของยา เวชภัณฑ์ อุปกรณ์ป้องกันร่างกาย มีสำรองในระบบอย่างน้อย 3 เดือน ดูแลผู้ป่วยได้จำนวนมาก และสามารถหมุนเวียนใช้ภายในเขตสุขภาพได้
“ที่ผ่านมา โรงพยาบาลนครปฐมได้ให้การดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด-19 จำนวน 23 ราย ทุกรายรักษาหาย และมีความพึงพอใจบริการที่ได้รับ การเรียนรู้จากประสบการณ์ครั้งนี้ ทำให้มั่นใจว่าโรงพยาบาลพร้อมให้การดูแลรักษาหากพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ได้เป็นอย่างดี” ดร.สาธิต กล่าว
นอกจากนี้ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้เยี่ยมเสริมพลังอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ในพื้นที่ ซึ่งเป็นกำลังสำคัญที่ช่วยสนับสนุนการทำงานของบุคลากรด้านการแพทย์การสาธารณสุข ในการส่งเสริมสุขภาพกายและสุขภาพจิตเชิงรุก ทั้งในช่วงสถานการณ์ปกติ และวิกฤตโควิด-19 เป็นตัวแทนภาคประชาชนผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนปฏิบัติงานอย่างเข้มแข็ง เผยแพร่ความรู้ที่ถูกต้องแก่ประชาชนลดปัญหาข่าวลือ ข่าวลวง และระดมความร่วมมือให้ทุกคนในชุมชนปฏิบัติตามมาตรการการเฝ้าระวัง ควบคุมป้องกันโรคโควิด-19 อย่างเคร่งครัดจนประสบผลสำเร็จในการควบคุมป้องกันโรค ทำให้ไม่พบรายงานผู้ติดเชื้อรายใหม่ในจังหวัดนครปฐม ตั้งแต่วันที่ 7 พฤษภาคม 2563