xs
xsm
sm
md
lg

Empathy ทักษะที่หายไปของเด็กไทย!/ดร.สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เป็นธรรมดาที่เราอยากให้ผู้อื่นเข้าใจเรา แต่เราก็มักไม่ได้คิดต่อว่า แล้วเราได้เข้าใจผู้อื่นหรือเปล่า ? 

Empathy คือ ความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น การที่เราสามารถเข้าใจความรู้สึกหรือมุมมองของคนอื่นผ่านประสบการณ์ของเขาโดยไม่เอาประสบการณ์ของเราไปตัดสิน 

และการที่จะเข้าถึงใจคนนั้นได้จริง ไม่ใช่ว่าเกิดมาแล้วจะทำได้เลย แต่มันต้องผ่านการเรียนรู้และค่อย ๆ ฝึกฝน ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย 

ในยุคที่สังคมเปราะบาง โลกที่มีการปฏิสัมพันธ์และมีความซับซ้อน ยิ่งต้องอาศัยความร่วมมือและการมีส่วนร่วมกับผู้อื่น เด็กทุกคนจำเป็นต้องเรียนรู้ทักษะการเห็นอกเห็นใจผู้อื่นอย่างมาก เพราะเป็นทักษะพื้นฐานที่จะนำไปสู่ความสำเร็จและการมีส่วนร่วมในโลกทุกวันนี้ที่กำลังเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา

โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่ามกลางความขัดแย้งของสังคมในปัจจุบัน ที่มาถึงจุดที่ผู้คนต่างคิด ต่างเชื่อ ต่างฟัง ต่างเลือกในมุมของตัวเอง และทำท่าไม่มีใครฟังใคร จึงทำให้เกิดคำถามว่าส่วนหนึ่งเพราะเราขาดทักษะ Empathy ใช่หรือไม่ !

แล้วทักษะที่ว่านี้หายไปไหน ! 

ในสถาบันครอบครัว พ่อแม่ยอมรับฟังลูกหรือไม่ แล้วลูกรับฟังพ่อแม่หรือไม่ 

การสื่อสารระหว่างครอบครัวได้ให้คุณค่ากับทุกความเห็น ฟังทุกเสียง และให้คุณค่ากับทุกความคิดของกันและกัน แม้จะมีความคิดเห็นที่แตกต่างหรือไม่ 

และก่อนที่จะมี Empathy คำถามก็คือ คนเป็นพ่อแม่ได้มอบความรักให้ลูกอย่างไร และแบบไหน ?

พ่อแม่ได้แสดงความรักที่เหมาะสม แสดงให้ลูกได้รับรู้ว่าพวกเขาสำคัญ และสนับสนุนให้เขาได้แสดงความสามารถ ได้เรียนรู้โลก ได้ฝึกการใช้ชีวิต และปลูกฝังให้เขารู้จักให้เกียรติคนอื่นหรือเปล่า เพราะเมื่อพวกเขาได้รับความรักจากพ่อแม่อย่างเหมาะสม เขาจะรักตัวเอง เห็นคุณค่าในตัวเอง และเมื่อเขารักตัวเองเป็น สิ่งที่ตามมาจะทำให้ลูกรู้จัก "การให้" และส่งต่อความรักให้คนอื่นเป็น เขาจะคิดถึงคนรอบข้าง ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการทำให้เด็กมี Empathy เพราะการคิดถึงคนอื่นจะทำให้เกิดการ “เอาใจเขามาใส่ใจเรา” 

ที่สำคัญ การสอนเรื่องการเอาใจเขามาใส่ใจเราที่ดีที่สุด คือการทำตัวเป็นแบบอย่างที่ดี เมื่อลูกเห็นพ่อแม่แสดง Empathy เด็กๆ จะซึมซับสิ่งเหล่านั้นของพ่อแม่ และเรียนรู้ที่จะทำตาม 

โปรดอย่าละเลยความรู้สึกของลูก เด็กมีแนวโน้มที่จะเห็นอกเห็นใจผู้อื่นเมื่อคนในครอบครัวไม่ละเลยความรู้สึกของพวกเขา อย่าปล่อยให้ลูกรู้สึกว่าเขาโดดเดี่ยว ลูกต้องรู้สึกว่ามีคนรับฟังและพร้อมช่วยเหลือเขาทุกเมื่อ เมื่อลูกรู้สึกปลอดภัยขณะอยู่กับพ่อแม่ พวกเขามีแนวโน้มที่จะแสดงความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นมากขึ้น 

ทั้งหมดนี้ล้วนแล้วเกิดจากการเลี้ยงลูกของคนเป็นพ่อแม่ !

Daniel Goleman ผู้แต่งหนังสือ Emotional Intelligence กล่าวว่า Empathy คือ ความสามารถที่จะเข้าใจอารมณ์ของผู้อื่น และเป็นผู้มีความสามารถด้านการควบคุมตนเองได้ มีสติ รู้จักควบคุมตนเอง เข้าใจสังคม และรู้จักจัดความสัมพันธ์ที่เหมาะสม ซึ่งสามารถพัฒนาได้

การมีสติรู้ตัว หมายถึง การเข้าใจอารมณ์ของตนเอง และรู้ถึงผลกระทบของการแสดงอารมณ์ รู้จักประเมินตนเอง ความแข็งแกร่ง และข้อจำกัดของตนเอง และมีความมั่นใจในตนเอง ก็จะนำไปสู่การพัฒนาเป็น “ปัญญาทางอารมณ์” ได้

อย่างไรก็ตาม ก็ต้องยอมรับว่าค่านิยมของพ่อแม่ยุคนี้มีลูกจำนวนน้อยลง หรือมีลูกคนเดียว ทำให้วิธีเลี้ยงลูกยุคนี้มักมีลูกเป็นศูนย์กลางของบ้าน ซึ่งเป็นอุปสรรคใหญ่ของการมี Empathy

พ่อแม่จำนวนไม่น้อยที่มีแนวโน้มในการเลี้ยงดูลูกแบบเอาอกเอาใจลูก ถ้าเปรียบเทียบกับการเลี้ยงดูของชาวจีนก็ประมาณว่าจักรพรรดิน้อย ที่พ่อแม่คอยพะเน้าพะนอ อยากได้อะไรก็ได้ จะให้ลูกเป็นผู้กำหนดตั้งแต่เล็ก เพราะรักลูกมากอยากตามใจลูก โดยหารู้ไม่ว่าสิ่งเหล่านี้กำลังหล่อหลอมให้ลูกกลายเป็นเด็กที่เอาแต่ใจตัวเอง และมองตัวเองสำคัญที่สุด ไม่สนใจความรู้สึกของผู้อื่นจนติดเป็นนิสัยกระทั่งโต 
 
สืบเนื่องมาจากการเป็นศูนย์กลางของบ้าน เพราะฉะนั้นเมื่อผู้ใหญ่ในบ้านไม่เคยขัดใจ และตามใจมาโดยตลอด มักตอบสนองในทุกเรื่อง แม้บางเรื่องเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม เช่น การที่ลูกอยากได้สิ่งใด พ่อแม่ก็จะพยายามทุกวิถีทางให้ลูกได้สิ่งนั้นโดยไม่สนใจวิธีการ

รวมไปถึงการจัดการชีวิตของลูกไปซะทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กหรือเรื่องใหญ่ก็ตาม ประมาณพ่อแม่จัดให้ และแก้ปัญหาให้ลูกทุกเรื่อง 
 
ฉะนั้น ถ้าทักษะ Empathy ที่หายไปของเด็กไทย จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าเกิดจากน้ำมือของผู้ที่เป็นพ่อแม่ที่ขาด Empathy ในการเลี้ยงลูกเช่นกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น