วธ.ร่วมกับจังหวัดยโสธร จัดงานสีสันวัฒนธรรม มหกรรมวิถีอีสาน สู่การท่องเที่ยวเพื่อช่วยเหลือศิลปินพื้นบ้านจากวิกฤติโควิด-19 หวังฟื้นฟูเศรษฐกิจสร้างขวัญกำลังใจแก่ประชาชน พร้อมชวนร่วมสืบสานจุดไฟตูมกา ออกพรรษายโสธร แห่งเดียวในไทย
เมื่อวันที่ 30 ก.ย. นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวเปิดงานสีสันวัฒนธรรม มหกรรมวิถีอีสาน สู่การท่องเที่ยวยโสธร ณ ที่ว่าการอำเภอเมืองยโสธร ว่า กระทรวงวัฒนธรรม ร่วมกับ จังหวัดยโสธร จัดงานะวันนี้-2 ตุลาคม เพื่อฟื้นฟูเยียวยา สร้างงาน สร้างรายได้ ให้กับศิลปินพื้นบ้าน ผู้ประกอบการด้านอุตสาหกรรมวัฒนธรรม รวมทั้งสร้างขวัญ กำลังใจแก่ประชาชน ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
ทั้งนี้ ในการเปิดงาน ได้มีการเดินแบบแฟชั่นโชว์ผ้าไทย ผ้าท้องถิ่น ที่นำมาออกแบบให้ทันสมัย และการแสดงฟ้อนรำไฟตูมกาของชาวยโสธรกว่า 300 คน แสดงถึงประเพณีที่งดงาม ซึ่งสร้างความตื่นตาตื่นใจแก่ประชาชนจำนวนมาก
ในการจัดงานครั้งนี้เป็นการสืบสานประเพณีจุดไฟตูมกา เนื่องในวันออกพรรษาของจังหวัดยโสธร ที่มีเอกลักษณ์เป็นประเพณีหนึ่งเดียวของประเทศไทย ภายในงานมีกิจกรรมที่น่าสนใจ อาทิ การแสดงศิลปวัฒนธรรมและดนตรีพื้นบ้านอีสาน กลุ่มศิลปินพื้นบ้านของจังหวัดยโสธร กิจกรรมเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ “สีสันวัฒนธรรม มหกรรมวิถีอีสาน สู่การท่องเที่ยวยโสธร” สีสันวัฒนธรรมการอยู่การกิน สีสันภูมิทัศน์วัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ สัมมนาสินค้าวัฒนธรรมก้าวไกล ด้วยมิติใหม่ตลาดออนไลน์” การจัดแสดงนิทรรศการวิถีชีวิตชุมชนคนยโสธร นิทรรศการวิถีชีวิตชุมชนคนยโสธร การประกวดการแสดงทางด้านศิลปวัฒธรรมท้องถิ่น การจำหน่ายอาหารพื้นเมืองเพื่อสุขภาพ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอาหาร และถ่ายทอดวัฒนธรรมการกินอาหารท้องถิ่นของจังหวัด การจัดแสดงและจำหน่ายสินค้าและผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรม การจัดแสดงแฟชั่นโชว์ผ้าไทยร่วมสมัยร่วมกับนางแบบมืออาชีพ การแสดงแฟชั่นโชว์ ชุด “เด็กยโสร่วมสมัย ฮักผ้าไทย อิสาน รวมถึงการแสดงของสมาคมลิเกแห่งประเทศไทย และการแสดงของศิลปินแห่งชาติ เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ศิลปะการแสดงระหว่างภูมิภาคอีกด้วย
นายสมเพชร สร้อยสระคู รองผู้ว่าราชการจังหวัดยโสธร กล่าวว่า ประเพณีจุดไฟตูมกาออกพรรษา เป็นวัฒนธรรมดั้งเดิมของชุมชนบ้านทุ่งแต้ โดยการนำผล ตูมกา ซึ่งเป็นผลไม้ป่ามีรูปทรงกลมคล้ายผลส้ม ขนาดเท่ากำปั้นหรือโตกว่า ขูดผิวสีเขียวแล้วคว้านเอาเนื้อและเมล็ดข้างในออกให้หมดและใช้มีดแกะเป็นลวดลายตามความต้องการ เจาะรูสำหรับใส่เทียน เมื่อจุดเทียนแสงสว่างจากเปลวเทียนก็จะลอดตามเป็นลวดลายตามรูที่เจาะไว้ ใช้เพื่อถวายเป็นพุทธบูชาในวันออกพรรษา
อย่างไรก็ดี ปัจจุบันชาวบ้านได้ใช้หลอดไฟแทนเทียนเพื่อความสะดวกต่อการใช้งานและสามารถนำผลตูมกาไปห้อยไว้ในสถานที่ต่างๆ ได้สะดวกยิ่งขึ้น โดยชาวบ้านจะร่วมกันกล่าวคำบูชาพระรัตนตรัยและสวดมนต์ไหว้พระพร้อมกัน เป็นเรื่องมหัศจรรย์ทางพุทธศาสนาของจังหวัดยโสธรในวันออกพรรษาที่ไม่มีจังหวัดใดในประเทศไทยเหมือน ทั้งนี้ ภายในงานจะมีการสาธิตการทำไฟตูมกา พร้อมทั้งการจำหน่ายสินค้า OTOP และ cpot ของจังหวัดยโสธร ด้วย