กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข แนะเลี่ยงอาหารค้างคืน หรือต้ม ตุ๋น เป็นเวลานานเกิน 4 ชั่วโมงขึ้นไป มีโอกาสทำให้คุณค่าทางโภชนาการลดลง เก็บไม่ถูกวิธีเสี่ยงบูด หากบริโภคเข้าไปอาจทำให้เสี่ยงอาหารเป็นพิษตามมาได้
วันนี้ (30 ก.ย.) นายแพทย์ ดนัย ธีวันดา รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากกรณีที่มีการนำเสนอข่าวหญิงรายหนึ่ง กินปอเปี๊ยะที่เก็บไว้ในตู้เย็นนานกว่า 3 วัน ก่อนจะเกิดอาการปวดท้องและท้องเสียอย่างรุนแรง สุดท้ายเสียชีวิตในห้องน้ำ สาเหตุคาดว่าเกิดจากอาหารเป็นพิษท้องร่วงอย่างรุนแรง และอาเจียนจนร่างกายขาดน้ำเฉียบพลัน ทำให้ช็อกและเสียชีวิตนั้น ซึ่งปกติประชาชนส่วนใหญ่เมื่อกินอาหารสำเร็จรูป หรืออาหารที่ปรุงประกอบในปริมาณมากไม่หมด ก็นำไปเก็บไว้ในตู้เย็น แล้วนำไปอุ่นรับประทานในมื้อต่อไป โดยอาหารที่มีการอุ่นซ้ำซาก หรือต้มตุ๋นเป็นระยะเวลานานเกิน 4 ชั่วโมงขึ้นไป จะมีโอกาสทำให้คุณค่าด้านโภชนาการลดลง จึงควรเลือกซื้อหรือปรุงอาหารแต่พอกินในแต่ะละมื้อ เพราะอาหารที่ปรุงสุกใหม่ คุณค่าทางโภชนาการจะมีมากกว่าอาหารที่ผ่านการอุ่นหลายๆ ครั้ง และไม่เสี่ยงต่อการบูดเสีย ส่งผลให้เกิดความเสี่ยงอาหารเป็นพิษตามมาด้วย
“สำหรับอาหารประเภทผักสด ผัดผัก ผักลวก นึ่ง ต้ม ถ้าเหลือแล้วนำไปเก็บไว้รับประทานมื้อต่อไปคุณค่าทางโภชนาการของผักก็จะลดลง และรสชาติจะเปลี่ยนไป หากมีการเก็บรักษาไม่ดีพอ อุณหภูมิในการเก็บไม่เหมาะสม จุลินทรีย์ที่ปนเปื้อนในระหว่างเก็บก็จะทำให้ท้องเสีย หรือมีอาการรุนแรงถึงขั้นอาหารเป็นพิษได้ ดังนั้น จึงควรกินผักสดเป็นประจำอย่างน้อยมื้อละ 2 ทัพพี เพราะในผักมีวิตามิน แร่ธาตุ ใยอาหาร รวมทั้งสารต้านอนุมูลอิสระที่ดีต่อร่างกาย นอกจากนี้ การกินอาหารประเภทกะทิค้างคืนที่มีส่วนประกอบเป็นเนื้อสัตว์ หากมีการเก็บรักษาไม่ดีพอหรืออุ่นด้วยความร้อนไม่ทั่วถึง อาจทำให้เน่าเสียได้เช่นเดียวกัน” รองฺอธิบดีกรมอนามัย กล่าว