คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านวัฒนธรรมฯ เสนอแปลต้นทุนสร้างคุณค่า-มูลค่าเพิ่ม ระบุ แผนบริหารต้องชัดเจนและดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง
เมื่อวันที่ 15 ก.ย. กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) จัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นต่อแผนการปฏิรูปประเทศด้านวัฒนธรรม ของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านวัฒนธรรม กีฬา แรงงาน และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดย นายปัญญา วิจินธนสาร ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ กล่าวว่า วัฒนธรรมมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาประเทศ ตนเห็นว่า ศิลปะร่วมสมัย ศิลปะสมัยใหม่ มีโอกาสที่จะขับเคลื่อนพัฒนาประเทศสู่ระดับสากลได้ โดยการนำทุนทางวัฒนธรรมมาแปลเป็นการสร้างคุณค่า และ มูลค่า ทั้งนี้ จะเห็นได้ชัดเจนจากประเทศที่เจริญแล้ว อย่างอิตาลี ใช้ความเข้มแข็งทางงานศิลปะทุกแขนง เป็นหัวใจในการพัฒนาประเทศ สร้างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ จึงขอเสนอให้มีการปลูกฝังเยาวชนทุกช่วงวัย ได้เรียนรู้ ศิลปะ โดยการบรรจุอยู่ในระบบการศึกษา รวมถึงสนับสนุนนักเรียน นักศึกษา ไปเข้าชมพิพิธภัณฑ์ ในการเรียนรู้ศิลปะในสถานที่จริง และเพื่อให้คนไทยในอนาคตมีพื้นฐานความคิดสร้างสรรค์ และประยุกต์ใช้ให้สร้างความมั่นคงในการพัฒนาประเทศ อย่างไรก็ตาม ในการดำเนินการอาจจะต้องใช้เวลา หลายปีเพื่อไปสู่ความสำเร็จ หากเราไม่เริ่ม ก็จะไม่มีทางเกิดขึ้นได้เลย
อีกสิ่งสำคัญ ที่อยากนำเสนอ คือ ประเทศไทย ต้องทำการชำระประวัติศาสตร์ศิลป์ ทั้งในแง่ วิธีคิด ทัศนคติ ประวัติศาสตร์ ความต่อเนื่อง ให้เท่าทันกับยุคสมัย และบริบทของการเปลี่ยนแปลงของสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง โดยจะต้องปูพื้นฐานการเรียนรู้ให้เด็กและเยาวชน แต่ละระดับ ได้รับรู้อย่างเหมาะสม เข้าถึงได้ง่าย และต้องทำให้ศิลปะทุกแขนงของไทยเผยแพร่ออกสู่นานาชาติ มีการแลกเปลี่ยน มีความคิดสร้างสรรค์สิ่งใหม่ และสร้างความเข้มแข็ง สร้างประโยชน์ในระดับโลก
ด้าน นางปัจฉิมา ธนสันติ ผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ (กวช.) กล่าวว่า ตนเห็นว่า แผนการปฏิรูปประเทศด้านวัฒนธรรม สามารถทำได้จริง โดยเสนอให้มีการวางแผนการบริหารจัดการให้บรรลุผลตามเป้าหมายให้ได้ ทั้งในระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาว เพราะวัฒนธรรมสร้างประโยชน์ให้ประเทศได้มาก เราเห็นคนไทยไปเป็นติ่งชื่นชอบวัฒนธรรม ศิลปิน สถานที่เที่ยว ของญี่ปุ่น เกาหลี แล้ว ด้วยเหตุนี้ เราต้องสร้างให้มีติ่งไทยบ้าง เพื่อทำให้วัฒนธรรมสร้างการขายสินค้า และบริการ ที่ต่อยอดทุนทางวัฒนธรรมสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจในระยะยาวได้ ขณะเดียวกัน ต้องทำให้วัฒนธรรม อยู่ใกล้ตัว และเข้าถึงได้ง่าย ซึ่ง วธ.ควรสร้างคลังข้อมูล ขนาดใหญ่ หรือ บิ๊กดาต้า สนับสนุนองค์ความรู้ทุกรูปแบบ เชื่อมโยงกับการทำงานจากทุกกระทรวงและเครือข่ายวัฒนธรรมด้วย
ด้าน นายนพ ธรรมวานิช นายกสมาคมผู้ประกอบการอนิเมชันและ คอมพิวเตอร์กราฟิกส์ไทย กล่าวว่า แผนปฏิรูปวัฒนธรรมมีความครอบคลุม และมีความเป็นไปได้จริง ขอเสนอให้มีการนำเสนอเนื้อหาต่อสาธารณชนอย่างรอบด้าน 360 องศา อีกทั้งให้สนับสนุนการนำทุนทางวัฒนธรรมส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ โดยเฉพาะด้านอนิเมชัน ซึ่งบุคลากรไทยมีความรู้ความสามารถ และมีฝีมือในระดับแนวหน้า ตนเห็นว่า หัวใจสำคัญที่จะทำให้แผนปฏิรูปสำเร็จ คือ ต้องมีผู้รับผิดชอบโดยตรงในการผลักดันให้วัฒนธรรมมีมูลค่า ต้องมีความร่วมมือระหว่างหน่วยงานราชการ และภาคเอกชน รวมทั้งการขับเคลื่อนแผนต้องมีความต่อเนื่องอย่างน้อย 5 ปี จึงจะเห็นผล