เมื่อ “การสื่อสาร” กลายเป็นเครื่องมือสำคัญอย่างมากในปัจจุบัน ทั้งเพื่อสร้างความเข้าใจ หรือแม้กระทั่งนำมาซึ่งการแก้ไขปัญหาในหลาย ๆ เรื่อง รวมไปถึงเรื่องของ “สุขภาวะ” นั่นจึงทำให้สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ถือโอกาสจับมือร่วมกับศูนย์สื่อสร้างสรรค์ภาคตะวันออก เพื่อพัฒนาศักยภาพนักสื่อสาร Convergence พร้อมส่งเสริมให้นักศึกษาคณะนิเทศศาสตร์ของมหาวิทยาลัยนำร่องทั้ง 5 แห่ง มีทักษะวิชาชีพนักสื่อสารในยุคหลอมรวมสื่อ สามารถผลิตข้อมูลสร้างเสริมสุขภาวะชุมชนได้อย่างถูกต้องและสร้างสรรค์
ภายในงานมีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) โดยมีบุคคลสำคัญจากหลากหลายหน่วยงาน ทั้งสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), ศูนย์สื่อสร้างสรรค์ภาคตะวันออก, มหาวิทยาลัยบูรพา, มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์, มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี, มหาวิทยาลัยศรีปทุม (วิทยาเขตชลบุรี), มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์, สถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย, คณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน เขตพื้นที่ 6 คณะอนุกรรมการข้อมูลข่าวสารและการสื่อสาร สภาผู้ชมและผู้ฟังรายการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ไทยพีบีเอส) ภูมิภาคกลาง กรมประชาสัมพันธ์ กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น และ มูลนิธิอีสมูลนิธิอีสต์ฟอรั่ม
โดยที่มาของการลงนามในครั้งนี้ ดร.ณัฐพันธุ์ ศุภภา ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาภาคีสัมพันธ์และวิเทศสัมพันธ์ สสส. ได้ให้ความเห็นไว้ว่า โครงการนี้เกิดจากการทำงานร่วมกันผ่านภาคีสื่อสารภาคตะวันออกดีจังมากว่า 4-5 ปีแล้ว โดย สสส. ได้เข้ามาหนุนเสริม รวมถึงขับเคลื่อนโจทย์ เพื่อให้เกิดการหลอมรวมกันในรูปแบบของกิจกรรมอยู่ตลอด ซึ่งนั่นก็ทำให้เล็งเห็นถึงกลไกอีกหนึ่งอย่างที่สำคัญระหว่างการดำเนินงาน นั่นก็คือ “กลไกการสื่อสาร” เมื่อของดีในพื้นที่มีจำนวนมาก แต่จะทำอย่างไรให้ของดีเหล่านี้ถูกสื่อสารออกไปในวงกว้างและเกิดการเชื่อมโยงพลังกัน
“แม้จะมีภาคีเครือข่ายอยู่ในหลาย ๆ พื้นที่ แต่เมื่อลงพื้นจริงไปในระดับตำบล หรืออำเภอ กลับพบว่า มันมีช่องว่างสำคัญอยู่หนึ่งอย่างก็คือ เขาไม่ค่อยรู้จักกัน ต่างคนต่างทำ ทั้งที่จริง ๆ เมื่อเราพูดถึงคำว่า สุขภาวะ นั่นหมายถึงต้องทำประเด็นร่วมกัน เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราคาดหวังก็คือ ทำอย่างไรให้การใช้สื่อสามารถประสานภาคีเครือข่ายให้สามารถทำงานหรือขับเคลื่อนร่วมกันได้ โดยไม่มีปัญหาเรื่องพื้นที่มาเป็นกำแพง"
พร้อมทั้งกล่าวถึงเหตุผลในการใช้กลุ่มเยาวชนนำร่องไว้ว่า เนื่องจากกลุ่มเยาวชนนั้นเป็นกลุ่มหนึ่งที่เปี่ยมไปด้วยพลังความคิดสร้างสรรค์ มีมุมมองรอบตัวที่แตกต่างตามยุคสมัย การ MOU ในครั้งนี้ สสส. จึงได้ร่วมกับศูนย์สื่อสร้างสรรค์ภาคตะวันออก และภาคีเครือข่าย แสดงเจตนารมณ์ในการส่งเสริมศักยภาพนักศึกษามหาวิทยาลัยนำร่องทั้ง 5 แห่ง ให้มีทักษะวิชาชีพนักสื่อสารในยุคหลอมรวมสื่อ อาทิ สนับสนุนการอบรม และผู้เชี่ยวชาญให้คำปรึกษา โดย สสส. จะนำเอาองค์ความรู้เกี่ยวกับสุขภาวะมาร่วมพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอน สนับสนุนนักศึกษา สร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพ (Health Literacy) ให้กับคนในชุมชน สอดคล้องกับภารกิจของ สสส. ที่มุ่งเน้นกลยุทธ์ให้ความรู้ด้านการสร้างเสริมสุขภาพอย่างต่อเนื่องและรอบด้าน
“ปัจจุบันนักศึกษาสามารถใช้เครื่องมือที่ทันสมัยและตรงกับโลกปัจจุบันได้ค่อนข้างเยอะ อย่างไรก็ตาม นักศึกษายังขาดเรื่องของเนื้อหา ซึ่งจำเป็นจะต้องมีสื่อมวลชนที่เป็นสื่ออาชีพจริง ๆ เข้ามาให้คำปรึกษา ให้ข้อแนะนำ เพราะฉะนั้นที่มาของคำว่า Convergence มันคือการรวมสื่อเก่า สื่อใหม่ สื่อภูมิภาค และนักสื่อสารเข้ามาทำงานด้วยกัน ความหมายเลยมีสองชั้น ก็คือ การรวมสื่อ และรวมคนที่ทำสื่อ นั่นจึงเป็นที่มาว่า ทำไมเราถึงให้ความสำคัญกับนักศึกษา”
เช่นเดียวกับนายเรวัต อารีรอบ ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ที่เห็นด้วยกับการให้เยาวชนคนรุ่นใหม่นำร่องโครงการนี้ ซึ่งถือเป็นสิ่งที่ตรงจุด เนื่องจากในเวลานี้ถือได้ว่า เป็นเวลาของคนรุ่นใหม่ แต่ถึงอย่างนั้นก็ได้กล่าวด้วยความเป็นห่วงถึงการรับข้อมูลข่าวสารที่อาจจะเป็นการรับเพียงด้านเดียวเท่านั้น
“ดูได้จากข่าวในปัจจุบันจะเห็นได้ว่า สื่อมีอิทธิพลอย่างสูงสำหรับผู้บริโภค บางครั้งเราเสพข่าวไปด้วยความเผลอเรอ หรือด้วยการส่งต่อกันมา แล้วก็ทำให้สูญเสียในเรื่องของสุขภาพได้เช่นกัน ซึ่งในการลงนามครั้งนี้ได้คนที่มีองค์ความรู้มาตกลงปรึกษาหารือร่วมกัน ผมก็คิดว่า ต่อไปมันจะสามารถพัฒนา และสร้างสรรค์เกี่ยวกับเรื่องของสื่อที่นำไปสู่พี่น้องประชาชนได้ทั่วทุกภาคของประเทศ”
โดยนายเรวัต อารีรอบ กล่าวต่อว่า กระทรวงสาธารณสุขเองก็ได้ให้ความสำคัญกับ “ระบบสื่อสารสุขภาพ” ที่ “เข้าถึงง่าย เข้าใจง่าย นำไปปฏิบัติง่าย ถูกต้อง แม่นยำ และเชื่อถือได้” พร้อมกล่าวถึงการวางพื้นฐานระบบสุขภาพใหม่ ภายใต้จุดเน้นของแผนยุทธศาสตร์กระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. 2560 – 2564 อาทิ การวางระบบการแพทย์ปฐมภูมิที่มีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวเพื่อดูแลผู้ป่วยอย่างบูรณาการ การลดค่าใช้จ่ายของระบบสุขภาพในระยะยาว ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดนี้ต้องอาศัย “การสื่อสาร” อันเป็นเครื่องมือสำคัญที่เชื่อมโยงความเข้าใจจากหลากหลายมิติของสังคม โดยเฉพาะการสื่อสารสร้างความเข้าใจ การขอความร่วมมือจากประชาชนเพื่อบรรลุเป้าหมายต่าง ๆ รวมทั้งเป้าหมายส่งเสริมสังคมแห่งชีวิตวิถีใหม่ ซึ่งเป็นวิถีที่เราทุกคนควรเรียนรู้ว่า การมีภูมิคุ้มกันร่างกายและจิตใจที่แข็งแรงเป็นสิ่งจำเป็น สามารถใช้ต่อสู้กับโรคระบาด และภัยพิบัติในรูปแบบต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
“โดยผมมองว่า ปัญหาสุขภาวะเร่งด่วนที่ควรได้รับการแก้ไขมากที่สุดคือปัญหาสุขภาพ ดูได้จากปัจจุบันคนเราเป็นทั้งความดัน เบาหวาน ซึ่งโรคเหล่านี้ถึงจะไม่เป็นโรคติดต่อ แต่เกิดขึ้นได้จากการบริโภค กินหวาน กินมัน กินเค็มมากไป นั่นจึงทำให้ผมคิดว่า สุขภาพของคนไทยเราเสื่อมโทรมลงทุกวัน ดังนั้นเราจึงต้องทำการรณรงค์ เอาข้อเท็จจริงออกมาคุยกัน แล้วก็สร้างสรรค์ข่าวที่ดี ๆ ออกไป ซึ่งท้ายที่สุดแล้วเมื่อประชาชนมีสุขภาพร่างกายแข็งแรง การพึ่งพาสถานพยาบาลก็จะลดน้อยลง ซึ่งก็เป็นผลดีกับประชาชนอยู่แล้ว”
ด้านนายประชา เตรัตน์ คณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนการเสริมสร้างความเข้มแข็งและส่งเสริมการมีส่วนร่วมขององค์กรชุมชนจังหวัดชลบุรี กล่าวถึงการร่วมมือในครั้งนี้ว่า การที่ได้ทั้ง 5 สถาบันมาร่วมมือร่วมใจนั้นถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ทั้งนี้ก็เห็นด้วยและพร้อมสนับสนุนโครงการนี้ไปยังภูมิภาคอื่น ๆ ทั่วประเทศ เพื่อร่วมกันสร้างสื่อสร้างสรรค์ที่เป็นประโยชน์สำหรับประชาชน โดยเน้นเรื่องสุขภาวะเป็นหลัก
“จังหวัดชลบุรีถูกตั้งเป้าให้เป็น “เมืองนวัตกรรม เศรษฐกิจชั้นนำของอาเซียน” โดยมีตัวชี้วัดความสำเร็จหลายข้อที่เชื่อมโยงกับระบบการจัดการทางด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และที่สำคัญคือ “สุขภาพ” ซึ่งการพัฒนาที่ดีต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และจะต้องพัฒนาอย่างยั่งยืน”
ส่วนด้านการสื่อสาร นายประชา เตรัตน์ ได้ให้ความเห็นว่า การส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพนักศึกษาให้มีทักษะวิชาชีพนักสื่อสารยุคหลอมรวมสื่อ หรือ “นักสื่อสาร Convergence” นั้น ถือเป็นก้าวสำคัญของการผลิตคนรุ่นใหม่ ที่มีส่วนร่วมในการรับผิดชอบต่อสังคม ด้วยการสร้างสุขภาวะให้เกิดขึ้นในชุมชน ดังนั้น โครงการดังกล่าวจึงถือเป็นความหวังสำคัญของภูมิภาคนี้