xs
xsm
sm
md
lg

ม.รังสิต จับมือ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ร่วมกันพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



มหาวิทยาลัยรังสิต ร่วมกับ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ประกาศเจตนารมณ์ร่วมกัน มุ่งพัฒนาศักยภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา

ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า การที่มหาวิทยาลัยรังสิตได้แสดงเจตนารมณ์ในการสนับสนุนให้มีการพัฒนาครูและบุคลากรในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในครั้งนี้ เกิดขึ้นจากการปรึกษาหารือร่วมกันกับท่านอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ทำให้ทราบถึงภาระหน้าที่ในการรับผิดชอบที่มีอยู่หลายประการ แต่ประการที่เป็นภารกิจยิ่งใหญ่ และถือว่าสำคัญที่สุดในการสร้างชาติ และสร้างความเข้มแข็งให้กับอนาคตของประเทศชาตินั่น คือ “การศึกษา” และการศึกษานี้ก็เป็นภารกิจหลักของกระทรวงศึกษาธิการอยู่แล้ว ดังนั้น เราจึงมองไปถึงอนาคตของประเทศไทยในการสร้างความเจริญก้าวหน้าให้เกิดขึ้นในอนาคตนั้น หัวใจสำคัญคือการศึกษา และการศึกษานั้นไม่มีอะไรสำคัญเทียบเท่ากับ “ครู” และครูก็ไม่ได้มีหน้าที่แค่สอนหนังสือ แต่ครูจะต้องมีหน้าที่สร้างแรงบันดาลใจสร้างชีวิต สร้างอนาคต สร้างจิตวิญญาณให้กับอนาคตของชาติ และประเทศชาติจะไปในทิศทางไหนอยู่ในกำมือของครูทั้งสิ้น อย่างที่เรารู้กัน การจะเป็นครูอย่างเดียวกับที่เคยเป็นมาในศตวรรษที่ 20 มันคงเป็นไปไม่ได้แล้ว แต่การจะเป็นครูในศตวรรษที่ 21 และ 22 นั้นจะต้องเป็นครูที่แท้จริง มีความรู้ความสามารถที่รอบด้าน ดังนั้นจึงเป็นที่มาของการช่วยเหลือในครั้งนี้ เรามุ่งที่จะพัฒนาศักยภาพของครู บุคลากรต่างๆ ทางการศึกษาให้ทักษะความสามารถที่เพียงพอ เพื่ออนาคตของประเทศชาติ


ด้าน ว่าที่ร้อยเอก วิสาร ปัญญชุณห์ ที่ปรึกษาด้านระบบบริหารจัดการศึกษา สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า จากการที่กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นกับมหาวิทยาลัยรังสิต ได้มีเจตนารมณ์ร่วมกันในครั้งนี้ ต้องขอขอบคุณที่ได้กรุณาเล็งเห็นถึงความสำคัญในการพัฒนาศักยภาพของครูเอกชนกับครู กศน. ที่อยู่ในบริเวณพื้นที่ใกล้เคียงด้วย ในการพัฒนาครูนั้น กระทรวงศึกษาธิการโดยเฉพาะสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ได้มีการคัดกรองมาแล้วชั้นหนึ่ง ก็คือ ในเรื่องของใบประกอบวิชาชีพครู ในข้าราชการครูจะต้องถูกบังคับโดยหลักเกณฑ์ให้พัฒนาตนเอง เพื่อที่จะเข้าสู่วิทยฐานะที่สูงขึ้น แต่สำหรับครูเอกชนขณะนี้ทั่วประเทศไม่ใช่ข้าราชการ แต่กลับมีความกระตือรือร้นจะพัฒนาตนเองเพื่อที่จะมาพัฒนาลูกศิษย์ของตนเอง เช่นเดียวกับ กศน. ที่มีข้าราชการครูอยู่อย่างน้อย 2-3 คน นอกนั้นเป็นพนักงานราชการ เป็นครูอาสาที่มาด้วยจิตวิญญาณของครูที่แท้จริง ต้องขอกราบขอบพระคุณทั้ง 2 หน่วยงาน ได้เห็นถึงความสำคัญอย่างสูงยิ่งในการที่จะพัฒนาครูที่ไม่ใช่ข้าราชการ ซึ่งครูถือเป็นปัจจัยสำคัญที่จะสามารถพัฒนาทักษะ ความรู้ ความสามารถให้กับเด็กนักเรียนได้ ดังนั้น ในนามของสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ โดยท่านปลัดกระทรวง ท่าน ประเสริฐ บุญเรือง จึงฝากมากราบขอบพระคุณ และท่านก็ดีใจแทนคุณครูเอกชนทุกท่าน โดยให้การสนับสนุนทั้งในด้านศักยภาพของบุคลากรสำนักงานปลัดกระทรวง ซึ่งขณะนี้มีศึกษานิเทศก์อยู่ในสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด ที่มีศักยภาพเพียงพอที่จะมาร่วมบูรณาร่วมกันกับทางมหาวิทยาลัยรังสิต และกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นได้ร่วมมือกัน ที่จะพัฒนาศักยภาพครู ทั้งนี้ ก็เพื่อพัฒนาขีดความสามารถของนักเรียนให้มากขึ้น


นายบริสุทธิ์ มีบัณฑิต ผู้อำนวยการกองการศึกษาเทศบาลเมืองท่าโขลง จังหวัดปทุมธานี ผู้แทนอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กล่าวว่า ในนามของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ต้องขอขอบพระคุณที่ทางมหาวิทยาลัยรังสิตที่ได้ให้โอกาสในสถาบันการศึกษาสังกัดกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ได้มาร่วมกันคิด ร่วมกันศึกษาแนวทางที่จะพัฒนาการศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรงเรียนในสังกัดกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กลุ่มเป้าหมายคือนักเรียนที่เราไม่สามารถจะคัดเลือกได้เลย เป็นหน้าที่ของท้องถิ่นที่จะต้องรับผิดชอบพี่น้องประชาชน ซึ่งเราอยู่ใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุด ดังนั้น การดูแลประชาชนถือเป็นหน้าที่หลักของเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การสนับสนุนและส่งเสริมการศึกษาให้มีการพัฒนา เพราะฉะนั้นในวันนี้ถือเป็นโอกาสที่ดีอย่างยิ่ง ที่พวกเราองค์กรปกครองท้องได้รับโอกาสจากทางมหาวิทยาลัยรังสิต ในการส่งเสริมร่วมกันพัฒนาศักยภาพบุคลากรทางการศึกษา ซึ่งผมประทับใจในอุดมการณ์ของ ท่านอธิการบดี ท่าน ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ ท่านกล่าวว่า “โลกโซเชียลอย่างไรก็ตาม ไม่สามารถสู้ครูที่ให้ความรู้กับนักเรียนได้” และผมเชื่อมั่นในอุดมการณ์ที่ท่านได้มอบให้กับพวกเราในครั้งนี้ ว่า การพัฒนาศักยภาพของครูนั้น จะเกิดประโยชน์สูงสุดกับนักเรียน และเพื่อผลลัพธ์ที่ดีทางการศึกษาของท้องถิ่น และผมเชื่อเหลือเกินว่าจะได้รับการพัฒนาตามเจตนารมณ์ของโครงการในครั้งนี้เพื่อนำไปสู่การศึกษาในศตวรรษที่ 21 อย่างแท้จริง






กำลังโหลดความคิดเห็น