กระทรวงสาธารณสุข สนับสนุนเซิร์ฟเวอร์ ซอฟต์แวร์ที่จำเป็น ให้โรงพยาบาลสระบุรี ได้สร้างระบบสำหรับบริการประชาชนโดยเร็ว ร่วมกับการใช้ระบบ manual ให้บริการผู้ป่วยตามปกติ ให้หน่วยงานบริหารจัดการความเสี่ยงด้านไซเบอร์ ผู้รับบริการขอให้นำบัตรแสดงสิทธิการรักษา บัตรประจำตัวประชาชน พร้อมยาเดิมมาด้วย เพื่อความสะดวกในการรับบริการ
วันนี้ (9 ก.ย.) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 4 พร้อมด้วย นพ.อนันต์ กนกศิลป์ ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีโรงพยาบาลสระบุรี ถูกโจมตีทางไซเบอร์ เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2563 โดยไวรัส (Ransomware) โจมตีในหลายระบบ รวมถึงฐานข้อมูลระบบบริการผู้ป่วย ทำให้ไม่สามารถสืบค้นข้อมูลประวัติเก่าหรือให้บริการออนไลน์ได้
นพ.สุระ กล่าวว่า รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และปลัดกระทรวงสาธารณสุข มีความเป็นห่วงต่อการให้บริการประชาชนต้องใช้เวลามากกว่าเดิม ได้สั่งการให้ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข สนับสนุนอุปกรณ์เบื้องต้น เช่น เซิร์ฟเวอร์ ซอฟต์แวร์ที่จำเป็น เพื่อให้โรงพยาบาลสระบุรีได้สร้างระบบสำหรับให้บริการประชาชนโดยเร็ว ร่วมกับการใช้ระบบ manual ให้บริการผู้ป่วยตามปกติ โดยไวรัสเรียกค่าไถ่ที่โจมตีระบบเป็นการเข้ารหัสล็อกไว้ทำให้โรงพยาบาลไม่สามารถเข้าไปใช้ข้อมูลในระบบคอมพิวเตอร์ได้ จึงขอให้ประชาชนมั่นใจว่าข้อมูลส่วนบุคคลด้านสุขภาพจะไม่ถูกดึงออกไปจากระบบสู่ภายนอก แต่อาจเกิดความล่าช้าในการรับบริการ เนื่องจากไม่สามารถเปิดระบบเชื่อมโยงคอมพิวเตอร์ภายในโรงพยาบาล เพราะอาจทำให้ไวรัสระบาดไปสู่ฐานข้อมูลอื่นที่ยังไม่ถูกโจมตีได้ขณะนี้ได้ประสานผู้เชี่ยวชาญจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว และมอบให้ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ได้เร่งให้ความรู้ วิธีการและการป้องกันให้กับหน่วยงานและโรงพยาบาลในสังกัดทุกแห่ง
“ประชาชนที่ไปรับบริการที่โรงพยาบาลสระบุรี ขอให้นำบัตรแสดงสิทธิการรักษา สำเนาใบส่งตัว บัตรประจำตัวประชาชน บัตรแพ้ยา และใบรายการยาครั้งสุดท้ายพร้อมยาเดิมมาด้วย เพื่อความสะดวกในการรับบริการ และขอให้ทุกหน่วยงานและโรงพยาบาล เข้มนโยบายการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านไซเบอร์ เนื่องจากมีโอกาสถูกโจมตีทางไซเบอร์ได้ตลอดเวลาจะต้องมีการสำรองข้อมูลไว้เพื่อให้เรียกคืนข้อมูลกลับมาได้” นายแพทย์ สุระ กล่าว
นพ.อนันต์ กนกศิลป์ ผอ.ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศฯ กล่าวว่า ได้ประสานไปยังศูนย์ประสานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยระบบคอมพิวเตอร์ประเทศไทย (ไทยเซิร์ต : ThaiCERT) ทันทีที่ได้รับแจ้งจากโรงพยาบาลสระบุรี เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2563และได้สนับสนุนอุปกรณ์สำหรับจัดทำระบบข้อมูล แนะนำให้เพิ่มการบริหารจัดการภายในสร้างความตระหนักแก่ผู้ใช้งานในการป้องกันไวรัสโดยเฉพาะช่องโหว่ที่ทำให้ระบบถูกโจมตีจากภายใน ได้แก่ การนำเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนตัวมาเชื่อมกับระบบของโรงพยาบาล การใช้แฮนดีไดรฟ์ อีเมล์ หรือการหาลิงก์จากภายนอกมาใช้ ส่วนการการโจมตีจากภายนอก โรงพยาบาลทุกแห่งมีระบบ Fire Wall ป้องกันอยู่แล้ว
สำหรับการดำเนินการกับผู้โจมตีนั้นได้แจ้งความไว้เป็นหลักฐานแล้วโดยกระทรวงสาธารณสุข จะจัดตั้งการดูแลเฉพาะในส่วนของด้านสุขภาพ หรือ เฮลธ์เซิร์ต เพิ่มจากไทยเซิร์ต และขณะนี้ได้ออกแบบระบบระบบฐานข้อมูลกลางด้านสุขภาพ มีข้อมูลสุขภาพที่สำคัญ เช่น โรคประจำตัว การแพ้ยา ยาประจำที่ใช้ การรับวัคซีน เป็นต้น โรงพยาบาลสามารถเข้าถึงข้อมูลได้