xs
xsm
sm
md
lg

ชุดนักเรียนไม่จำเป็นแล้วหรือ?/ดร.สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



และแล้วประเด็นเรื่องชุดนักเรียนก็ถูกหยิบยกนำมาถกกันอีกครั้ง เมื่อเด็กนักเรียนจำนวนหนึ่งมีความเห็นว่าควรยกเลิกชุดนักเรียน จนเกิดเป็นกระแสติดแฮชแทคในทวิตเตอร์ ด้วยเหตุผลว่าการแต่งกายเป็นสิทธิพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ เป็นเรื่องส่วนบุคคล ไม่ควรมีการบังคับกัน

ส่วนเหตุผลของคนที่คิดว่านักเรียนควรใส่เครื่องแบบ เพราะจะช่วยระบุได้ว่าเป็นนักเรียนระดับชั้นใด โรงเรียนไหน ทั้งยังลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ลดความฟุ่มเฟือยและสิ่งเร้าในทางแฟชั่น รวมไปถึงจะทำให้ผู้เรียนสนใจการเรียนมากกว่ามัวแต่สนใจเรื่องการแต่งกาย

จากกระแสร้อนทั้งสองด้านทำให้เกิดคำถามว่า เครื่องแบบนักเรียนสำหรับเด็กยุคนี้ยังมีความจำเป็นหรือไม่ !

จริงอยู่หลายประเทศทั่วโลกก็มีทั้งประเทศที่นักเรียนสวมเครื่องแบบ และไม่สวมเครื่องแบบ ซึ่งแต่ละประเทศก็มีบริบทและเหตุผลที่แตกต่างกันไป ไม่จำเป็นที่เราต้องเลียนแบบประเทศใดประเทศหนึ่งมิใช่หรือ เราสามารถเลือกในแบบที่เหมาะกับบ้านเราไม่ดีกว่าหรือ

ในบางประเทศเครื่องแบบนักเรียนมีส่วนสำคัญในการศึกษาเบื้องต้น เช่น ประเทศญี่ปุ่น ที่ถือว่าเป็นการสั่งสมเยาวชนให้พร้อมต่อการเป็นส่วนหนึ่งของวินัยในสังคม แต่ก็มีการปรับตัวเหมือนกันจะมีโรงเรียนบางแห่งระดับมัธยมต้นในจังหวัดชิบะ สนับสนุนนักเรียนที่เป็น LGBT ด้วยการอนุญาตให้เด็ก ๆ มีอิสระในการเลือกสวมกระโปรง หรือกางเกงก็ได้ รวมไปถึงการเลือกผูกเนคไท หรือติดริบบิ้นได้

ส่วนประเทศเกาหลีใต้ โรงเรียนในระดับประถมศึกษายกเว้นโรงเรียนเอกชนบางแห่งจะไม่มีเครื่องแบบนักเรียน โดยเครื่องแบบนักเรียนนี้จะเริ่มถูกกำหนดให้ใส่อย่างเคร่งครัดโดยเริ่มตั้งแต่นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นขึ้นไป

ประเทศอินเดีย ถือเป็นสิ่งที่จำเป็นต่อการลดความแตกต่างระหว่างชนชั้นในโรงเรียน และเชื่อว่าเครื่องแบบที่แสดงสถานภาพการเป็นนักเรียนเป็นสิ่งจำเป็นต่อความปลอดภัยของตัวนักเรียนเอง

ในนิวซีแลนด์มีโรงเรียนบางแห่งอนุญาตให้เด็ก ๆ เลือกใส่ยูนิฟอร์มของชายหรือหญิงก็ได้ เพื่อสนับสนุนความหลากหลายทางเพศ และมีเครื่องแบบให้นักเรียนชายและหญิงเลือกสวมใส่หลายประเภท คือกางเกงขาสั้น, กางเกงสามส่วน, กระโปรง, กางเกงขายาว และกางเกงขาบาน

ส่วนประเทศที่ไม่เห็นด้วยกับการใส่ชุดนักเรียนนั้นให้เหตุผลว่า มันเป็นการละเมิดเสรีภาพในการแสดงออกและสิทธิของนักเรียน และการไม่สวมใส่ชุดนักเรียนก็ไม่มีผลต่อคุณภาพการศึกษา เช่น ประเทศฝรั่งเศส เนื่องจากความเชื่อในอิสระเสรีภาพของคนในชาติเหนือสิ่งอื่นใด และยังมีอีกหลายประเทศที่เคยมีการบังคับใช้เครื่องแบบ แต่ยกเลิกการใช้เครื่องแบบไปในภายหลัง

ประเด็นดังกล่าวดิฉันขอไม่พูดถึงเรื่องเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย แต่มีข้อสังเกตที่อยากสะท้อน

ประการแรก – เน้น “เปลือก” มากกว่า “เนื้อหา”


เรายังคงวนเวียนถกประเด็นไปได้ไม่ไกลกว่าเรื่อง “เปลือก” มากกว่าเน้นที่ “เนื้อหา” หรือ “แนวคิด” เรื่องการศึกษามาโดยตลอด เรื่องเครื่องแบบและทรงผมก็ถกมาแล้วหลายครั้ง
ถ้ามีการแก้ปัญหาอย่างจริงจังและชัดเจนด้วยการเอาสารัตถะเรื่องการศึกษาที่ตอบโจทย์สภาพสังคม โลกปัจจุบัน และเหมาะกับเด็กยุคนี้ได้ บางทีการไปโรงเรียนของเด็กนักเรียนก็จะหลุดจากแค่เปลือก แล้วทะลุไปถึงว่าไปโรงเรียนทำไม เรียนเพื่ออะไร และรู้ว่าตัวเองอยากเรียนอะไร

ประการที่สอง – ปัญหาอยู่ตรงไหน ก็แก้ตรงนั้น


เมื่อเราเห็นว่าปัญหาอยู่ตรงไหนก็แก้ให้ถูกที่และเหมาะสม เช่น เครื่องแบบนักเรียนควรคำนึงถึงความเหมาะสมในราคาที่เหมาะสมด้วย เพราะต้องยอมรับว่าเครื่องแบบนักเรียนยุคนี้มีความหลากหลาย ในโรงเรียนเดียวกันก็มีหลายเครื่องแบบ แล้วราคาก็แพงด้วย ยิ่งถ้าโรงเรียนไหนมีระบบประมูลให้ร้านค้ามาผูกขาดชุดเครื่องแบบในโรงเรียน ก็จะยิ่งทำให้ราคาสูงไปด้วย

ฉะนั้น ควรคำนึงถึงความเหมาะสมของเครื่องแบบ และไม่ต้องมากยูนิฟอร์ม เอาเท่าที่จำเป็น อาจจะมีบางวันที่สลับให้ใส่ชุดไปรเวทได้บ้าง โดยให้คำนึงถึงความเรียบง่ายที่ไม่ไปส่งเสริมเรื่องแฟชั่น

ประการที่สาม – เรื่องแฟชั่นเกินจำเป็นยังน่าห่วง


เรื่องการแต่งตัวที่อาจทำให้เด็กแต่งตัวแบบเกินความจำเป็น เพราะในความเป็นจริงสังคมไทยยังเป็นสังคมที่เต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำในแทบจะทุกเรื่อง ประกอบกับยังมีค่านิยมเรื่องการแต่งกายตามกระแส เราปฏิเสธเรื่องนี้ไปไม่ได้เพราะขนาดโรงเรียนปกติที่ใส่เครื่องแบบก็มีการนำอุปกรณ์ประเภทนาฬิกา มือถือ ฯลฯ หรือมีของที่สามารถนำมาประชันกันอยู่แล้ว พ่อแม่ผู้ปกครองก็คงรู้ซึ้งดีเมื่อเวลาลูกมาขอสิ่งของใด ๆ ด้วยเหตุผลว่าก็เพื่อน ๆ มีกันหมดเลย

ผู้ใหญ่อย่างพวกเราก็เคยผ่านการแต่งกายเครื่องแบบนักเรียนมากันแล้ว ด้านหนึ่ง ก็ผ่านความเคร่งกับระเบียบวินัยแบบเข้มงวดมาแล้วเช่นกัน ไม่มีใครชอบ และไม่ต้องการเช่นนั้น จึงเข้าใจดีว่าการแต่งกายแบบอิสระย่อมทำให้เด็ก ๆ ชอบใจเป็นแน่แท้...

แต่อีกด้านหนึ่ง ก็ยังจำความรู้สึกตื่นเต้นของการสวมเครื่องแบบครั้งแรกของสถาบันการศึกษานั้นได้เป็นอย่างดี และเวลาสวมใส่ชุดเครื่องแบบนักเรียนนั้นอยู่ เวลาจะทำสิ่งใดจะมีความระมัดระวังหรือยับยั้งชั่งใจที่จะไม่ทำสิ่งที่ไม่ดีอยู่เสมอ

เป็นเพราะเรากลัวจะทำให้สถาบันการศึกษาของเราเสื่อมเสียหรือเปล่า ?

แล้วทุกครั้งที่สวมใส่เรามีความภาคภูมิใจในสถานศึกษาของเราหรือเปล่า ?

ป่วยการที่เราจะมาถกถึงข้อดีข้อเสียบนความเห็นที่เลือกที่จะเชื่อเสียแล้ว เพราะถ้าเรามองข้อด้อยเราก็จะเห็นแต่ข้อด้อย ถ้าเรามองข้อดีเราก็จะเห็นข้อดี แล้วทำไมเราไม่มองทั้งสองด้านแบบเปิดใจ แล้วย้อนดูว่าเครื่องแบบที่เราสวมใส่นั้นไม่จำเป็นแล้วจริงหรือ !

ถ้าจะให้ดิฉันฟันธง หลังจากชั่งน้ำหนักแล้วก็ต้องบอกว่าข้อดีของเครื่องแบบนักเรียนยังมีอยู่มาก

เพียงแต่เราต้องปรับให้เข้ากับยุคสมัย ไม่จำเป็นต้องแต่งเครื่องแบบทุกวัน สัปดาห์หนึ่งให้แต่งชุดไปรเวทสักวันหนึ่ง ซึ่งหลาย ๆ โรงเรียนก็ทำอยู่แล้ว หรือจะให้แต่งไปรเวทกันสักเดือนหนึ่งเลยก็ได้ แล้วให้นักเรียนมาปรึกษาหารือแสดงความคิดเห็นกันถึงข้อดีข้อเสียระหว่างชุดนักเรียนกับชุดไปรเวท ถือเป็นการศึกษารูปแบบหนึ่งได้

มีวิธีคิดอีกมากมายที่ยืดหยุ่นให้เกิดความพอใจและการเรียนรู้แก่เด็กนักเรียนได้ บางทีเราจะได้แนวทางที่เหมาะสมในอนาคตและเป็นการเฉพาะของแต่ละโรงเรียนหรือแต่ละชั้นเรียน

สิ่งที่ดิฉันอยากให้เน้นมากกว่าเรื่องเครื่องแต่งกาย คือแนวทางหรือนโยบายการเรียนการสอนที่มีคุณภาพ และสามารถทำให้เด็กค้นพบตัวตนว่าอยากเรียนอะไร เรียนอะไรได้ดี ถนัดอะไร และอยากทำอะไร จะไม่ดีกว่าหรือ !
กำลังโหลดความคิดเห็น