ศบค. เผย ประเทศไทยพบผู้ป่วยโควิด-19 รายใหม่ 6 ราย เป็นคนไทย 3 ต่างชาติ 3 เดินทางกลับจากประเทศอุซเบกิสถาน 1 ราย ฟิลิปปินส์ 1 ราย เยอรมนี 2 ราย และเอธิโอเปีย 2 ราย ไม่มีรายงานผู้ป่วยรักษาหายเพิ่ม ทำให้ตอนนี้ยอดผู้ป่วยที่กำลังรักษาทั้งหมด 115 ราย
วันนี้ (28 ส.ค.) ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) เปิดเผยสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศวันนี้ ว่า พบผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อรายใหม่ 6 ราย ผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ และเข้า State Quarantine โดยมาจากอุซเบกิสถาน 1 ราย ฟิลิปปินส์ 1 ราย เยอรมัน 2 ราย และเอธิโอเปีย 2 ราย
สำหรับผู้ป่วยยืนยันสะสมล่าสุดอยู่ที่ 3,410 ราย เป็นผู้ป่วยในประเทศ 2,444 ราย และตรวจพบในสถานที่กักกันที่รัฐจัดให้ จำนวน 473 ราย จำนวนผู้ป่วยรักษาหายแล้วรวม 3,237 ราย ส่วนผู้ป่วยที่กำลังรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 115 ราย ขณะที่ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม โดยยอดผู้เสียชีวิตสะสมอยู่ที่ 58 ราย
ประวัติผู้ป่วยใหม่วันนี้ มาจาก อุซเบกิสถาน 1 ราย เป็นชายไทย อายุ 45 ปี อาชีพช่างเชื่อมของบริษัท เดินทางมาถึงไทยเมื่อวันที่ 13 ส.ค. เข้าพัก State Quarantine ในกรุงเทพมหานคร และตรวจหาเชื้อครั้งที่ 2 ในวันที่ 24 ส.ค. ผลตรวจพบเชื้อ ไม่มีอาการ
มาจากฟิลิปปินส์ 1 ราย เป็นหญิงไทย อายุ 36 ปี อาชีพรับจ้าง เดินทางมาถึงไทยเมื่อวันที่ 15 ส.ค. เข้าพัก State Quarantine ในจังหวัดชลบุรี และตรวจหาเชื้อครั้งที่ 2 ในวันที่ 27 ส.ค. ผลตรวจพบเชื้อ ไม่มีอาการ
เยอรมนี 2 ราย เป็นชายสัญชาติอเมริกัน อายุ 62 ปี เป็นบุคคลประเภท (8) ผู้มีใบอนุญาตทำงาน และหญิงแม่บ้านไทย อายุ 44 ปี เดิทางมาถึงไทยวันที่ 22 ส.ค. โดยผู้ป่วยชายเข้าพัก Alternative State Quarantine และผู้ป่วยหญิงเข้าพัก State Quarantine ในจังหวัดสมุทรปราการ และตรวจหาเชื้อครั้งที่ 1 ในวันที่ 26 ส.ค. ผลตรวจพบเชื้อ ไม่มีอาการ
อีก 2 ราย เป็นผู้ป่วยเข้ามารักษาในประเทศ เพศหญิง (ภรรยา) สัญชาติเอธิโอเปีย อายุ 36 ปี และผู้ติดตามเพศชาย (สามี) สัญชาติเอธิโอเปีย อายุ 34 ปี เดินทางมาถึงไทยเมื่อวันที่ 26 ส.ค. เข้าพัก Alternative Hospital Q. ในกรุงเทพมหานคร และตรวจหาเชื้อครั้งที่ 1 ในวันที่ 26 ส.ค. ผลตรวจพบเชื้อ ทั้งหมดไม่มีอาการ
สำหรับชาวต่างชาติที่เข้ามารับการรักษาพยาบาลในประเทศไทยและผู้ติดตาม จะต้องชำระค่าใช้จ่ายเองทั้งหมด
นายแพทย์โสภณ กล่าวว่า สถานการณ์ผู้ติดเชื้อรายใหม่ของประเทศไทย เป็นผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ ซึ่งทุกคนต้องเข้ารับการกักตัวในสถานที่รัฐจัดให้ (State Quarantine) หรือสถานที่กักตัวที่รัฐกำหนด (Alternative State Quarantine) หรือโรงพยาบาลทางเลือก (Alternative Hospital Quarantine) เพื่อเฝ้าระวังอาการเป็นเวลา 14 วัน และตรวจหาเชื้อ เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าปลอดภัยไม่มีการติดเชื้อ ก่อนได้รับอนุญาตให้กลับภูมิลำเนา สำหรับพรมแดนของประเทศไทยที่ติดกับประเทศเมียนมาร์นั้น มีการเฝ้าระวังอย่างเข้มงวด บูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน มีด่านควบคุมโรคระหว่างประเทศที่ด่านพรมแดนหลัก และมีเครือข่ายหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน ท้องถิ่น กำนันผู้ใหญ่บ้าน หน่วยงานด้านความมั่นคง ป้องกันแรงงานต่างด้าวลักลอบเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย หากสงสัยขอให้แจ้งเจ้าหน้าที่เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19
ส่วนการนำแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านมาทำงาน ขอให้คำนึงถึงความปลอดภัยเป็นสำคัญ หากเป็นแรงงานจากพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคโควิด-19 ขอให้ชะลอไว้ก่อน ส่วนประชาชนขอให้หลีกเลี่ยงการเดินทางไปในพื้นที่ที่เสี่ยงต่อการระบาด ยังคงเคร่งครัดในมาตรการป้องกันตนเอง ใส่หน้ากากอนามัย/หน้ากากผ้าทุกครั้งที่ออกจากบ้าน ล้างมือบ่อยๆ เว้นระยะห่าง ลงทะเบียนเข้า-ออกสถานที่ที่ใช้บริการใน แพลตฟอร์มไทยชนะ เพราะหากพบผู้ติดเชื้อจะง่ายต่อการติดตามผู้ที่มีความเสี่ยงเข้าสู่ระบบการเฝ้าระวังควบคุมโรค