xs
xsm
sm
md
lg

“แม่...ภาวะที่แบกรับ ซ้ำยังถูกทำร้าย”

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้มีการจัดงานเสวนา ว่าด้วยเรื่อง ‘แม่...ภาระที่แบกรับซ้ำยังถูกทำร้าย’ เพื่อทำการแบ่งปันประสบการณ์จากปัญหาครอบครัวในกรณีการใช้ความรุนแรง อีกทั้งเพื่อร่วมกันรณรงค์ยุติปัญหาความรุนแรงภายในครอบครัว เนื่องในวันแม่แห่งชาติ ณ เดอะฮอลล์ บางกอก วิภาวดี 64 กรุงเทพฯ


สำหรับกรณีตัวอย่างของปัญหาดังกล่าวนั้น เริ่มต้นด้วย  น.ส. เอ (นามสมมุติ) พนักงานเย็บผ้าโรงงานแห่งหนึ่ง ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรง  ได้กล่าวว่า  “เราอยู่กินกับสามีมา16 ปีแล้ว ในช่วงแรกๆ เขาก็เป็นคนดีมากเลยนะคะ  แต่พอไปอยู่บ้านนอกกับครอบครัวของเขา เขาก็เริ่มมีอาการติดเหล้า  อันเนื่องมาจากครอบครัวของเขา จนกระทั่งเราเริ่มมีลูก เลยตัดสินใจเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ ช่วงแรกๆ ที่ติดสิ่งที่ว่านี้  เริ่มด้วยพูดจาด่าทอก่อน ตอนที่เข้ามาอยู่ที่กรุงเทพฯด้วยกัน เขาก็มาทำงานด้วยกัน  แต่เวลาที่เขามีอาการเมา ก็จะถูกให้ออกจากงาน จนเขาไม่ได้ทำงานอีกเลย  ซึ่งเวลาที่เขาเมานั้น ก็จะมีการทำร้ายร่างกายมาตลอด จนพอเรามีลูกคนที่ 2  เขาก็เคยบอกว่าจะเลิกเหล้า แต่พอลูกคลอดออกมา ก็ยังกินเหล้าเหมือนเดิม”

“จนกระทั่ง สามีทำร้ายร่างกายถึงขั้นเอาเข็สขัดรัดคอจนเราสลบไปเลย  เพราะว่าเขาเมา และเขาพูดประมาณว่ารำคาญเรา
ซึ่งพอเราประสบเหตุก็ไปแจ้งความกับตำรวจนะ แต่ทางเจ้าหน้าที่เขาไม่รับเรื่อง  เพราะถือว่าเป็นเรื่องของครอบครัว ให้ไปเคลียร์กันเอง ไปโรงพยาบาล  เขาก็ไม่ทำการรักษาให้เราด้วย จนพอกลับมาอยู่ด้วยกัน ถ้าเวลาที่เขาเมาก็จะเจอเหตุการณ์แบบนี้อยู่เสมอ ทุกวันนี้ เวลาที่ทำงานเสร็จนะ  เราแทบไม่อยากที่จะกลับบ้านเลย แต่ก็ต้องกลับเพราะลูก พวกเขาทำให้ไปไหนไม่ได้  ทำให้เรากลับมา เราเคยถามกับลูกว่า ถ้าแม่อยากตายจะทำยังไง เขาก็ตอบกลับมาว่า  ถ้าแม่ตาย หนูก็อยากตายด้วย หนูไม่อยากอยู่กับพ่อ  เคยคิดจะฆ่าตัวตายหลายรอบเหมือนกัน  หรือว่าบางครั้งเราก็อยากจะฆ่าเขาให้ตายเหมือนกัน  แต่ก็คิดถึงลูกเวลาที่จะทำทุกครั้ง”

“ยิ่งพอเป็นช่วงโควิด-19 เป็นช่วงที่ถือว่าหนักสำหรับเราเลย  เพราะว่ารายได้ที่เราเคยได้ก็ลดลง แต่รายจ่ายเรากลับเพิ่มขึ้น
ต้องเจอกับค่าใช้จ่ายต่างๆ ในบางครั้งเราก็ต้องเอาข้าวที่บูดแล้ว  นำมาใส่เกลือและต้มใหม่ และนำมารับประทาน  แต่เขาก็ยังมาทำร้ายเราทั้งทางวาจาและร่างกายเหมือนเดิม  เพราะเขายังมองว่าเป็นความผิดของเราเหมือนเดิม และถ้าวันไหนไม่มีเงิน ลูกจะไม่ได้ไปโรงเรียน แต่เราก็ต้องอยู่เพื่อลูก”


ขณะที่ น.ส. ยุ้ย อดีตศิลปิน และ อาสาสมัครล่าม  อีกหนึ่งผู้ประสบจากปัญหาดังกล่าว ได้ถ่ายทอดถึงประสบการณ์ส่วนตัวที่ว่า“เรามีสามีที่เป็นชาวต่างชาติมา  13-14 ปี เขามีอาชีพแพทย์อาสาสมัคร มีธุรกิจเป็นของตนเอง  แถมเราก็มีความมั่นใจในระดับหนึ่งด้วย  แต่เขาก็มีปัญหาในเรื่องการดื่มแอลกอฮอล์แบบเดียวกับคุณเอ จนกระทั่ง  เราย้ายกลับมาเมืองไทย เมื่อช่วงปี 2018   มาทำงานอาสาสมัครล่าม เราสามารถช่วยเหลือคนอื่นได้ทุกเรื่อง  แต่สุดท้ายก็มาโดนกับตนเองในที่สุด”

“สามีก็อยู่บ้านเลี้ยงลูก แล้วเราก็ออกไปทำงานอาสาสมัครแถวบ้าน พอมาถึงช่วงปลดล็อคดาวน์โควิด-19 ในระยะแรก เขาก็กลับมาซื้อแอลกอฮอล์ ไปสังสรรค์กับเพื่อน หลังจากนั้นก็เริ่มมีปากเสียงกัน จนกระทั่งวันหนึ่ง  เรากำลังนั่งทานข้าวของเราปกติ อยู่ๆ ก็มีสิ่งของบางอย่างลอยเข้ามาที่ศีรษะของเรา  ตอนแรกเราเข้าใจว่าเขาอารมณ์ไม่ดี แต่พอผ่านไปซักพัก
เขาก็บ่นเกี่ยวหับหน้าที่การงานทั้งของเขาและของเรา  จากนั้นเขาก็เอาเราไปกระแทกกับประตูบ้านไม้สักใหญ่ 2 รอบ จนเราร่วงลงไปกับพื้น  เห็นดาวเห็นเดือน และเกือบสลบไป แต่ยังมีอาการมึนอยู่ จนเขาเดินมาดีดหูเรา  แล้วบอกประมาณว่า คงไม่ตายหรอกเนอะ ซึ่งเราได้กลิ่นเหล้าจากตัวเขาแรงมาก แถมในบางครั้ง  เขายังพูดจาทำร้ายจิตใจเหมือนกับเคสคุณเอเลย”

“เราเคยถึงขั้นคุกเข่าขอร้องขณะที่อุ้มลูกอยู่ในอก  แต่เขาก็ยังผลักเราและลูกไปจากบ้านของเราเอง ซึ่งเขาไม่เคยเจออะไรแบบนี้มาก่อน  ถึงขนาดที่ลูกชายถึงขั้นว่าไม่อยากพูดและอยากที่จะฉีกพาสปอร์ตสัญชาติเยอรมันเลย  เพราะเขาคิดว่าคนประเทศนี้เป็นลักษณะนี้ไปแล้ว เพราะเขาเห็นพ่อเขาที่อยู่ตรงหน้า  แถมตอนที่เราโดนกระทำนั้น ตำรวจยังไม่มาช่วยเราเลย เขาบอกเราว่า ยุ้ยไปสงบสติแทน  จนอาสาสมัครเขามาช่วยเราแทน และเราได้ครอบครัวหนึ่งมาช่วยเหลือในที่สุด”

“ถ้าเรารักลูก ต้องทำเพื่อลูก  ก็อย่าให้ลูกต้องซึมซับพฤติกรรมความรุนแรงมากขึ้น เราต้องลุกขึ้นสู้ด้วยปัญญา  ไม่ใช้การใช้กำลัง การที่ผู้หญิงถูกทำร้ายร่างกายไม่ใช่เรื่องเล็ก   ฉะนั้น  เราต้องให้กระบวนการทางกฎหมายเข้ามาคุ้มครองในกรณ๊ดังกล่าวนี้”


ขณะที่ นางสาวรุ่งอรุณ     ลิ้มฬหะภัณ  รักษาการ ผอ.สำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สสส. ได้กล่าวว่า   เครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นปัจจัยของปัญหาสำคัญ ได้แก่ ด้านสุขภาพ  เพราะมีการทำลายระบบภูมิคุ้มกัน และเพิ่มความเสี่ยงติดเชื้อในปอด   เสี่ยงติดโควิดถึง 2.9 เท่า ด้านที่สอง คือ อุบัติเหตุทางถนน เนื่องจากกว่าร้อยละ 20 ของอุบัติเหตุทางถนน เกิดจากการ “ดื่มแล้วขับ” และจะเพิ่มสูงถึงร้อยละ 40 ในช่วงเทศกาล ด้านที่ 3 คือ ด้านเศรษฐกิจ ก่อให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจ 90,000 ล้านต่อปี และด้านสุดท้าย  คือความรุนแรงในครอบครัว ที่มีทั้งผู้หญิงและเด็กที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงในครอบครัว

“เนื่องในโอกาสวันแม่แห่งชาติ สสส.จึงได้ร่วมกับทางมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ทำการรณรงค์สร้างจิตสำนึก  ตระหนักรู้ถึงปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ซึ่งสาเหตุมาจากหลายปัจจัย  และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มักจะเป็นปัจจัยร่วมของปัญหา โดยจากสถิติที่มูลนิธิหญิงชายก้าวไกลสำรวจ  ชี้ชัดว่า ครึ่งปีนี้ ผู้หญิงถูกกระทำความรุนแรงเพิ่มขึ้น มีปัญหาเรื่องเพศที่เกิดขึ้น  และมีการใช้ความรุนแรงในครอบครัว โดยเฉพาะช่วงวิกฤตโควิด–19  ผู้หญิงได้รับผลกระทบอย่างมาก ทั้งเรื่องงานที่ถูกเลิกจ้าง การถูกลดชั่วโมง แถมยังถูกกระทำความรุนแรง  โดยมีปัจจัยกระตุ้นจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ดังนั้นการเสวนาในครั้งนี้ จึงเป็นการสะท้อนให้สังคมได้รู้และเข้าใจถึงปัญญาความรุนแรงในครอบครัว  เพื่อที่จะมาช่วยกันแก้ไขให้ผู้หญิงปลอดภัยจากความรุนแรงและพิษภัยจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ร่วมกันค่ะ”


ด้าน นางสาวจรีย์    ศรีสวัสดิ์   หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมภาคีเครือข่าย มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวว่า “จากสถิติความรุนแรงในช่วงครึ่งปีนี้   พบว่า‘เครื่องดื่มแอลกอฮอล์’   เป็นปัจจัยหลักที่นำไปสู่ความรุนแรงในครอบครัว และนำพามาสู่ปัญหาต่าง ๆ  ทั้งความหึงหวง ความระแวงที่ว่าจะนอกใจ ปัญหาเรื่องทรัพย์สิน ปัญหาธุรกิจ  ความเครียด หรือ อาการป่วย จนทำให้ผู้หญิงต้องกลายเป็นที่รองรับระบายปัญหาที่ว่านี้  และถูกกระทำทั้งทางร่างกายและจิตใจ แถมยังต้องมาแบกรับปัญหาที่ตนเองไม่ได้ก่อ  จนสร้างความกดดันให้กับตนเองในที่สุด”

“อีกประเด็นหนึ่ง  ที่เราพบเห็นจากข่าวที่เกิดขึ้นจากปีก่อนๆ ที่ผ่านมา  คือตัวเลขของข่าวจากความรุนแรงทางเพศที่เกิดขึ้นจากคนในครอบครัว พบว่า  ผู้กระทำที่อยู่ในอันดับแรก คือ มาจากเครือญาติ ส่วนอันดับที่รองลงมา คือ  พ่อกระทำต่อลูก และ พ่อเลี้ยงกระทำต่อลูกเลี้ยงตามลำดับ   ซึ่งถือว่าเป็นสถานการณ์ที่น่าตกใจ มันไม่ใช่เป็นเรื่องปกติ”

“จากภาพรวมที่เผยมา มันทำให้เห็นว่า  ข้อสังเกตที่เห็นคือ มันมีปัจจัยจากการกระตุ้น มีทั้งการดื่มและการใช้สารเสพติด  ขณะเดียวกัน จากสถิติความรุนแรงที่เกิดขึ้น  มันก็สะท้อนถึงความเป็นแม่และภรรยาที่ถูกทำร้าย โดยเฉพาะกรณีข่มขืน ถ้าลูกถูกกระทำ  เราก็ต้องแบกรับความรู้สึกทุกข์ไปกับลูก มันเหมือนกับความรู้สึกที่ถาโถมเข้ามา  อีกทั้งยังไปเชื่อมโยงกับกรณีการที่ผู้ชายเป็นใหญ่ไปด้วย   ซึ่งในบางกรณีมันก็ได้รับการเปลี่ยนแปลงไปแล้ว   แต่มันก็ยังมีกลุ่มใหญ่ในเชิงความสัมพันธ์อำนาจที่ไม่เท่าเทียมกันระหว่างทั้งเพศชายและเพศหญิงอยู่ดี”


กำลังโหลดความคิดเห็น