กทม.เดินหน้าพัฒนาสังคมหลายโครงการ ชาวกรุง “กลุ่มเปราะบาง” รับเยียวยาโควิด-19 แล้ว 9.4 แสนคน
รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เผย กทม.เดินหน้าพัฒนาสังคมหลายโครงการ ระบุ “กลุ่มเปราะบาง” ในกรุงเทพฯ รับเงินเยียวยาโควิด-19 แล้ว 948,054 คน ย้ำ ผู้มีสิทธิ์ที่ยังไม่ได้รับเงินช่วยเหลือเยียวยา สามารถติดต่อได้ที่ สำนักงานปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
วันนี้ (10 ส.ค.) เมื่อเวลา 09.30 น. นายสกลธี ภัททิยกุล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมระหว่างผู้บริหารสำนักพัฒนาสังคม กับหัวหน้าฝ่ายพัฒนาชุมชนและสวัสดิการสังคม 50 สำนักงานเขต ครั้งที่ 2/2563 เพื่อติดตามผลการปฏิบัติงานในระยะที่ผ่านมา โดยมี นางศิลปสวย ระวีแสงสูรย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร นายเฉลิมพล โชตินุชิต ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาสังคม ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่สำนักพัฒนาสังคม หัวหน้าฝ่ายพัฒนาชุมชนและสวัสดิการสังคม 50 สำนักงานเขต และผู้เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม ณ ห้องประชุม ชั้น 8 อาคารธานีนพรัตน์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 (ดินแดง)
รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แจ้งต่อที่ประชุมว่า สัปดาห์ที่ผ่านมาได้มีการประชุมเกี่ยวกับการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของผู้พิการ ในวันนี้จึงกำชับให้ฝ่ายพัฒนาชุมชนฯ ทั้ง 50 เขต สำรวจผู้พิการในพื้นที่ เพื่อไม่ให้เกิดการตกหล่นในการได้รับสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ และตามมติคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับการจ้างงานผู้พิการในหน่วยงานของรัฐ จึงได้กำชับให้ฝ่ายพัฒนาชุมชนฯ ทั้ง 50 เขต ผลักดันโครงการเพื่อจ้างงานผู้พิการให้ครบทุกเขต เพื่อให้ผู้พิการในสังคมรู้สึกภูมิใจ และไม่รู้สึกว่าตนเองถูกทอดทิ้ง
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้รายงานผลการดำเนินการโครงการต่าง ๆ ของสำนักพัฒนาสังคม เช่น โปรแกรมบันทึกระบบข้อมูลชุมชน กรุงเทพมหานคร (แบบออนไลน์) ซึ่งจัดทำขึ้นเพื่อให้สำนักงานเขตกรอกข้อมูลชุมชนในพื้นที่เขต ประกอบด้วย 1. ข้อมูลทั่วไปของชุมชน เช่น ชื่อชุมชน แขวง เขต รหัสชุมชน วันจัดตั้งชุมชน อาณาเขตที่ตั้ง แผนที่ แผนผัง และคณะกรรมการชุมชน เป็นต้น 2. ข้อมูลด้านสถิติของชุมชน เช่น จำนวนประชากร จำนวนหลังคาเรือน ระดับการศึกษา การประกอบอาชีพ รายได้ สาธารณูปโภค สาธารณูปการ เป็นต้น 3. ข้อมูลการส่งเสริมและพัฒนาชุมชน เช่น แผนพัฒนาชุมชน เป็นต้น โดยข้อมูลชุมชนในโปรแกรมดังกล่าว จะใช้เป็นฐานข้อมูลสำหรับผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ผู้บริหารสำนักพัฒนาสังคม และผู้บริหารสำนักงานเขต เพื่อให้การดำเนินงานด้านการพัฒนาชุมชนเป็นไปอย่างเหมาะสม มีประสิทธิภาพ เกิดประสิทธิผล รวดเร็ว และทั่วถึงทุกพื้นที่ โดยให้สำนักงานเขตเข้าใช้โปรแกรมในการบันทึกข้อมูลชุมชน ทั้งชุมชนที่จดทะเบียนกับกรุงเทพมหานคร และชุมชนที่ไม่ได้จดทะเบียนกับกรุงเทพมหานคร ทั้งนี้ ให้บันทึกข้อมูลชุมชนฯ (แบบออนไลน์) ได้ตั้งแต่วันที่ 10 ส.ค. - 30 ก.ย. 63 ซึ่งสำนักงานเขตสามารถใช้ข้อมูลในโปรแกรมบันทึกระบบข้อมูลชุมชนฯ ดังกล่าว เพื่อจัดทำประกาศสำนักงานเขต เรื่อง รับรองจำนวนบ้านในชุมชนให้ถูกต้องและเป็นปัจจุบัน อย่างไรก็ดี ปลัดกรุงเทพมหานครได้แนะนำให้มีการบันทึกข้อมูลประชากร คนยากไร้ คนพิการ คนตกงาน ฯลฯ และประสานกับสำนักยุทธศาสตร์และประเมินผลในการรวบรวมข้อมูลไว้ในฐานข้อมูล Data Center ของกรุงเทพมหานคร ให้เป็นปัจจุบัน เพื่อสะดวกต่อการนำข้อมูลมาใช้ในการพัฒนาชุมชนด้วย
ด้านการดำเนินโครงการเพื่อช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชยให้แก่ประชาชนซึ่งได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งกรุงเทพมหานครได้ส่งข้อมูลผู้มีสิทธิ์ได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เบี้ยความพิการ ที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรุงเทพมหานครผ่านระบบบูรณาการฐานข้อมูลสวัสดิการสังคม (e-Social Welfare) ให้กรมบัญชีกลาง เรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 10 ก.ค. 63 โดยโครงการดังกล่าวเป็นการให้ความช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมายที่เป็นกลุ่มเปราะบาง 3 กลุ่ม ได้แก่ 1.เด็กที่ได้รับเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด 2.ผู้สูงอายุที่ได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ และ 3.คนพิการที่มีบัตรประจำตัวคนพิการ ทั้งกรณีที่ได้รับเบี้ยความพิการและไม่ได้รับเบี้ยความพิการ โดยผู้มีสิทธิ์ต้องเป็นผู้ที่มีชีวิตอยู่ ณ วันที่ 31 พ.ค. 63 และจะได้รับเงินจำนวน 3,000 บาท โดยจะจ่ายเงินครั้งเดียว ซึ่งกรมบัญชีกลางได้โอนเงินช่วยเหลือเยียวยาเข้าบัญชีธนาคารของผู้มีสิทธิ์แล้วเสร็จเมื่อวันที่ 20 ก.ค. 63 มีผู้มีสิทธิ์ดังนี้ เด็กที่ได้รับเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดในกรุงเทพมหานคร จำนวน 30,338 ราย ผู้สูงอายุที่ได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในกรุงเทพมหานคร จำนวน 830,419 ราย และคนพิการที่ได้รับเบี้ยความพิการในกรุงเทพมหานคร จำนวน 87,297 ราย ทั้งนี้ กรณีผู้มีสิทธิ์ที่ยังไม่ได้รับเงินช่วยเหลือเยียวยา สามารถติดต่อได้ที่ สำนักงานปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โทร. 0 2659 6477 หรือ 1300
สำหรับโครงการตลาดวิสาหกิจชุมชนและเครือข่ายผู้ประกอบการ ซึ่งสำนักพัฒนาสังคม โดยสำนักงานการพัฒนาชุมชน จะจัดโครงการตลาดวิสาหกิจชุมชนและเครือข่ายผู้ประกอบการ เพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์วิสาหกิจชุมชนและเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนของกรุงเทพมหานครให้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในหมู่ผู้บริโภค และมีสถานที่แสดงสินค้า เพื่อให้ผู้บริโภคได้มีโอกาสซื้อสินค้า ผลิตภัณฑ์วิสาหกิจชุมชน และเครือข่ายผู้ประกอบการของกรุงเทพมหานครที่มีคุณภาพได้โดยตรง เพื่อส่งเสริมให้เกิดการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้แก่ประชาชนในชุมชนต่างๆ อันนำไปสู่การพัฒนากรุงเทพมหานครอย่างยั่งยืน โดยมีกลุ่มเป้าหมายได้แก่ วิสาหกิจชุมชนและเครือข่ายวิสาหกิจชุมชน ของดี ของอร่อย ทั้ง 50 เขต ซึ่งเดิมกำหนดจัดงานประมาณต้นเดือน ก.ย. 63 แต่เนื่องด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) จึงมีการเลื่อนการจัดโครงการออกไปก่อน โดยให้สำนักงานเขตจัดเตรียมกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ของดี ของอร่อย ร้านค้า และเครือข่ายต่างๆ เพื่อเข้าร่วมงานดังกล่าว ทั้งนี้ ปลัดกรุงเทพมหานครแนะนำให้มีการเพิ่ม "นครภัณฑ์" ซึ่งเป็นสถานที่สำหรับกระจายสินค้าและจำหน่ายสินค้าจากวิสาหกิจชุมชนและเครือข่ายผู้ประกอบการในกรุงเทพมหานคร ให้ครอบคลุมทั้ง 6 กลุ่มเขต
จากนั้น รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย ปลัดกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมอาคารนครภัณฑ์ เขตดินแดง โดยมี คณะผู้บริหารสำนักพัฒนาสังคม โรงเรียนฝึกอาชีพกรุงเทพมหานคร และผู้เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และรายงานผลประกอบการ โอกาสนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ให้คำแนะนำว่า สำหรับสินค้าที่จัดทำโดยนักเรียนโรงเรียนฝึกอาชีพกรุงเทพมหานครนั้น ควรมีการพัฒนารูปแบบสินค้า และบรรจุภัณฑ์ของสินค้า (Packaging) ให้มีความทันสมัย โดดเด่น และดึงดูดใจผู้บริโภค เพื่อกระตุ้นยอดขายให้มากขึ้น โดยให้สำนักพัฒนาสังคมจัดการฝึกอบรมและเชิญวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิมาอบรมการออกแบบสินค้าและบรรจุภัณฑ์ของสินค้าให้แก่นักเรียนโรงเรียนฝึกอาชีพกรุงเทพมหานครต่อไป