เปิดประตูสู่ “ที่(น่า)ทำงาน สัมผัสศาสตร์และศิลป์แห่งการสร้างที่ทำงานชั้นยอด สำหรับโลกยุคใหม่ ฟังทัศนะผู้บริหารจากองค์กรในฝันที่หลายๆ คนอยากร่วมงาน ทั้งกูเกิล ดีแทค ตลอดจนศรีจันทร์
สำนักงานสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับสำนักพิมพ์ bookScape จัดกิจกรรมและเวทีเสวนาสาธารณะ “ศาสตร์และศิลป์แห่งการสร้างที่ทำงานชั้นยอด โลกยุคใหม่” ภายใต้โครงการขับเคลื่อนความรู้ด้านการสร้างเสริมสุขภาวะเด็กและครอบครัว และการพัฒนาศักยภาพเยาวชน
ทั้งนี้ ภายในงาน ยังมีนักจิตวิทยาสังคม นักวิชาการ และบรรณาธิการหนังสือ ร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนทัศนะในหัวข้อ “ถอดรหัสสุดยอดที่ทำงาน” กับองค์กรชั้นนำ ไม่ว่าจะเป็น บริษัท กูเกิล (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค และบริษัท ศรีจันทร์สหโอสถ จำกัด องค์กรในฝันที่ทุกคนอยากร่วมงาน พร้อมตอบคำถามท้าทายเกี่ยวกับ งาน-ชีวิต-ออฟฟิศ-ครอบครัว แบบฉบับบริษัทยุคใหม่ซึ่งใส่ใจคุณภาพชีวิตพนักงาน
เนื่องจากคนวัยแรงงาน ซึ่งเป็นกำลังหลักของทั้งครอบครัว และสังคมชุมชน ใช้เวลาส่วนใหญ่ของวันอยู่ในที่ทำงาน “ณัฐยา บุญภักดี” ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส. ให้ข้อมูลว่า ตลอดระยะเวลากว่า 10 ปีที่ผ่านมา สสส.ได้ทำสิ่งที่เรียกว่า Happy workplace หรือ “องค์กรแห่งความสุข” มาอย่างต่อเนื่อง โดยที่ Happy workplace นั้นจะครอบคลุมมิติความสุขทั้ง 8 ด้าน เช่น Happy Family (ครอบครัวมีสุข), Happy Soul (จิตวิญญาณ, สุขภาวะทางปัญญา), Happy Mind (จิตใจมีความสุข), Happy Body (สุขภาพดี) ไปจนถึง Happy Money เพราะเงินหรือรายได้ก็คือหนึ่งปัจจัยที่จำเป็นต่อการดำเนินชีวิต
“ในองค์กรขนาดใหญ่ของ สสส. หรือ อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ ภายในอาคารจะมีหลายแผนก จะเห็นบรรยากาศต่างๆ ที่เอื้อต่อทุกๆ สิ่ง มีพื้นที่การทำงานที่หลากหลาย และมีห้องออกกำลังกาย มีการสร้างศูนย์เด็กแบบเนิร์สเซอรี่ และแบบเด็กโต สามารถนั่งเล่น นั่งทำการบ้านได้ ปิดเทอมก็จะมีกิจกรรมต่างๆ เป็นความตั้งใจที่ สสส. จะทำให้เป็นคอนเซปต์ของพื้นที่ที่คนทำงานมาใช้ชีวิตร่วมกัน มีมุมที่เป็นโต๊ะนั่งเล่น แต่ถ้าพนักงานที่ต้องการสมาธิในเวลาการทำงาน ก็จะมีห้องสมุดให้เข้าไปนั่งทำงานได้ แล้วจะเห็นได้ว่าสถานที่ขององค์กรจะมีลักษณะเป็นอาคารแบบเปิด อากาศจะโปร่งมาก ใน 80% จะเป็นพื้นที่เปิด และอีก 20% จะเป็นพื้นที่ห้องที่มีการติดแอร์ นอกจากนี้ยังมีเรื่องของการทำกิจกรรมหลากหลายรูปแบบ มีการจัดตั้งชมรมต่างๆ เพื่อช่วยกระชับและสานความสัมพันธ์ภายในองค์กรได้ดียิ่งขึ้น”
ในมุมมองของ “ณัฐยา บุญภักดี” เห็นว่า สถานที่ทำงาน ควรเป็นสถานที่ซึ่งเกื้อกูลความสุข ทั้งทางกายและทางใจ เป็นสถานที่ซึ่งเกื้อกูลสุขภาวะ หรือความเป็นอยู่ที่ดี (Well-Being) ดังนั้น นอกจากการจัดสรรพื้นที่และบรรยากาศให้เหมาะสมแล้ว สสส. เรื่องของกิจกรรมต่างๆ ก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน
“เพราะกิจกรรมทางกาย เช่น การออกกำลังกาย การเดิน พอถึงจุดหนึ่ง สิ่งนี้สามารถช่วยสลายความเครียดได้ ช่วยจัดระเบียบความคิด ช่วยทำให้สมองตื่นตัว หรือเจริญเติบโตได้ดีขึ้น และที่สำคัญ ในเรื่องของกิจกรรมทางกาย ถ้าเราสามารถที่จะออกแบบวิธีการหรือสภาพแวดล้อมในการทำงาน มีสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ที่ช่วยสร้างแรงจูงใจให้คนเคลื่อนไหวกันมากขึ้น ก็จะสามารถช่วยในเรื่องของสุขภาพจิตได้อีกด้วย ไม่ใช่แค่สุขภาพกายเพียงอย่างเดียวเท่านั้น และช่วยในเรื่องความคิดสร้างสรรค์ มีความจำที่ดีมากขึ้น โดยรวมแล้วสรุปได้ว่าเราจะได้ทั้งเรื่องสุขภาพกาย ใจ และสมอง”
และนอกเหนือจากที่กล่าวมา อีกสิ่งหนึ่งซึ่ง สสส. ได้ริเริ่มดำเนินการมา ก็คือ การคำนึงถึงเรื่องสถานที่ทำงานที่เป็นมิตรกับครอบครัว หรือ Family Friendly Workplace ซึ่งจากข้อมูลการศึกษาวิจัยของ OECD (องค์กรเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ) หรือองค์กรระหว่างประเทศ เช่น Unicef ที่พบว่า บทบาทของที่ทำงาน การวางเงื่อนไขให้กับคนทำงานที่จะสามารถบูรณาการชีวิตทั้งในเรื่องงาน เรื่องส่วนตัว เรื่องครอบครัวได้ ไม่ได้ส่งผลดีแค่เฉพาะต่อตัวเราเองหรือช่วยผลักดันให้ผลประกอบการดีขึ้น แต่ยังส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของคนในครอบครัวได้จริงๆ
“เนื่องจากคนวัยแรงงานจะถูกบีบอัดด้วยภาระของทางครอบครัว ทั้งการดูแลเด็ก, ผู้สูงอายุ และความรับผิดชอบเรื่องงาน ซึ่งทาง สสส. มองเห็นว่า Work Life Balance อย่างเดียวอาจจะไม่ใช่ เพราะ Work Life Integration ก็สำคัญ นั่นจึงนำมาสู่เรื่องของ Family Friendly Workplace คือ สถานที่ทำงานที่เป็นมิตรกับครอบครัว ด้วยแนวคิดว่า การทำงาน บทบาทของที่ทำงาน ที่จะมีส่วนเอื้อหรือสร้างเงื่อนไขให้คนวัยแรงงานได้ดูแลครอบครัวที่มีคนหลายวัยได้ดีอย่างไร รวมถึงส่งผลต่อสถาบันครอบครัวซึ่งเป็นยูนิตที่พื้นฐานต่อสังคมได้อย่างไร
“ในเครือข่ายองค์กรเป็นมิตรกับครอบครัว ซึ่งเป็นสมาชิกของเราทั้ง 17 องค์กร ต่างมองเห็นความสำคัญในเรื่องนี้ (Family Friendly Workplace) และค่อนข้างมั่นใจว่าทั่วประเทศไทยมีหลายหน่วยงานทำแบบนี้อยู่ โดยเหตุผลที่ผู้บริหาร หรือหน่วยงานเหล่านี้จัดให้มีนโยบายที่องค์กรเป็นมิตรกับครอบครัวของพนักงาน เรื่องสำคัญเลยก็คือต้องการรักษาพนักงานเอาไว้ และดึงดูดคนรุ่นใหม่เข้ามาทำงานมากขึ้น เมื่อไม่นานนี้ทั้ง 17 องค์กร ทาง สสส. ได้เดินทางไปเยี่ยมชมองค์กรแห่งหนึ่ง พบว่า มีทั้งศูนย์เด็กเล็กที่มีการให้โรงพยาบาลส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาดูแลเด็กเล็กให้, มีห้องนวดแผนไทยที่พนักงานสามารถไปใช้บริการได้, มีห้องออกกำลังกายที่สามารถไปเล่นตอนไหนก็ได้ และมีรถรับส่งลูกพนักงานจากโรงเรียนมาที่ทำงาน”
ทั้งหมดที่ “ณัฐยา บุญภักดี”กล่าวมานั้น เสมือนเป็นจิ๊กซอว์ต่อเติมเสริมให้ สสส. และองค์กรซึ่งเป็นสมาชิก สามารถสร้าง The Best Place to Work หรือ “ที่(น่า)ทำงาน” ขึ้นมา เป็น Happy Workplace สำหรับพนักงาน ซึ่งนั่นก็คล้ายๆ กับ Workplace อีกแห่ง ออฟฟิศของกูเกิล (Google)
จิระวัฒน์ ภูมิศรีแก้ว ผู้จัดการฝ่ายนโยบายและความสัมพันธ์ภาครัฐ บริษัท กูเกิล (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า เวลาที่คนพูดถึงที่ทำงานของกูเกิลแล้ว ก็จะนึกถึงสถานที่ซึ่งสะดวกสบาย การออกแบบสีสันต่างๆ คือ มิติหนึ่งซึ่งทำให้เราอยู่ออฟฟิศแล้วรู้สึกมีความสบาย อยากให้รู้สึกว่าที่ทำงานเป็นเหมือนบ้าน การเป็นตัวของตัวเอง การแสดงความความคิดของตัวเราเอง
“ในด้านการจัดสรรพื้นที่ในออฟฟิศ เรามีตั้งแต่ข้อที่ว่า Convenience not just Comfort คือ ออฟฟิศที่มีความสบาย ในแง่ความสุขของคนในออฟฟิศ และอีกสิ่งที่สำคัญไม่น้อยกว่าความสบาย ก็คือ ความสะดวก เช่น สะดวกในเรื่องของอุปกรณ์ที่จำเป็นต่อการทำงาน หรืออาจจะเป็นสิ่งที่จับต้องไม่ได้ อย่างการออกแบบการทำงานที่ง่ายๆ ก็สามารถทำให้เรามีความสุขในออฟฟิศเพิ่มมากขึ้น
“อันดับต่อมา คือ Team determines Happiness เป็นเรื่องของทีมในการทำงาน และประสิทธิภาพของทีมที่ 1. คุณจะต้องมีความสบายใจในการที่จะทำงานกับเพื่อนร่วมงาน2. เพื่อนต้องพึ่งพาได้ 3. มีความชัดเจนว่าใครทำอะไร ทำหน้าที่อะไร 4. การทำงานที่มีคุณค่า”
นอกจากนี้ ยังมีด้าน Transparency→Inclusion→Participation หรือความเป็นตัวตนของเราเอง เพราะในบริษัทมีคนทุกประเภท และได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม ไม่ว่าคุณจะมีสีผิวอะไร ศาสนาอะไร หรือเชื้อชาติไหนก็ตาม
“สิ่งต่างๆ เหล่านี้พอได้ถูกนำไปปฏิบัติพร้อมกันทั้งหมด ก็จะกลายเป็นเหมือนระบบนิเวศในออฟฟิศที่เราเข้าไปแล้วรู้สึกว่าเราสบายใจ แล้วเราก็จะได้ทำในสิ่งที่เรารัก สิ่งที่มีคุณค่า และมีความหมาย” จิระวัฒน์ ภูมิศรีแก้ว กล่าวสรุป
และแน่นอนว่า เมื่อเอ่ยถึง The Best Place to Work เป็นไปไม่ได้ที่จะไม่เอ่ยออฟฟิศของ “ดีแทค” เพราะนับเป็นบริษัทแรกๆ ในเมืองไทยก็ว่าได้ ที่ใส่ใจและสร้างสรรค์ Smart Office ซึ่งทำให้ที่ทำงานกลายเป็นที่ที่น่าทำงาน
นาฏฤดี อาจหาญวงศ์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงานบริหารทรัพยากรบุคคล บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ “ดีแทค” กล่าวว่า สำหรับดีแทค หัวใจสำคัญคือต้องการให้พนักงานทุกคนซึ่งได้มีโอกาสมาร่วมงานกับดีแทค รู้สึก Happy ในเวลาที่อยู่ออฟฟิศ ในเวลาทำงาน หรือแม้กระทั่งนอกเวลางาน ดูแลทั้งพนักงาน และรวมไปถึงบุตรของพนักงาน
“บริษัท ดีแทค ได้มีสิ่งอำนวยความสะดวกทุกอย่าง เพราะว่าพนักงานของเราใช้เวลาอยู่ในออฟฟิศประมาณ 10 ชั่วโมง หรือมากกว่านั้น อาจจะใช้เวลามากกว่าอยู่ที่บ้าน ทางดีแทคจึงมีทุกอย่าง ตั้งแต่ที่ที่ทำงานที่ดี ห้องประชุมที่มีประสิทธิภาพ มียิมที่อยู่ในออฟฟิศอีกด้วย ในเวลาเลิกงาน พนักงานสามารถเข้าไปใช้ได้ มีห้องโยคะ ห้องดนตรี และห้องสำหรับเด็ก เป็นต้น”
ไม่เพียงเท่านั้น สำหรับพนักงานที่เป็นผู้หญิงซึ่งสามารถสร้างครอบครัวมีบุตรคลอดลูก ดีแทคก็ให้สิทธิสามารถลาคลอดได้ 6 เดือน โดยได้รับเงินเดือนครบทุกเดือน
“สิ่งที่ดีแทคให้ความสำคัญ ก็คือ การมีครอบครัวที่มีคุณภาพ พร้อมการทำงานอย่างมีความสุขภายในองค์กร ในเรื่องการเอาใจใส่พนักงาน มีความไว้วางใจ เมื่อพนักงานได้รับการไว้วางใจให้มีอิสระในการทำงาน เขาก็จะมีหน้าที่รับผิดชอบที่ต้องทำตามความไว้ใจและความคาดหวังของบริษัทได้อย่างมีประสิทธิภาพ” นาฏฤดี อาจหาญวงศ์ กล่าวด้วยความรู้สึกเชื่อมั่น
อย่างไรก็ดี นอกเหนือไปจากการจัดสรรพื้นที่และสร้างบรรยากาศ อีกสิ่งหนึ่งซึ่งสำคัญไม่แพ้กันในการที่จะผลักดันให้เกิด The Best Place to Work ที่ทรงประสิทธิภาพ ก็คือเรื่องของ “คน” หรือ “พนักงาน” ซึ่งนั่นก็เป็นสิ่งที่ “ศรีจันทร์สหโอสถ” มุ่งเน้นเป็นลำดับต้นๆ
รวิศ หาญอุตสาหะ CEO บริษัท ศรีจันทร์สหโอสถ จำกัด กล่าวว่า การคัดเลือกคนเข้าทำงาน เป็นสิ่งที่มองข้ามไม่ได้ และบริษัทศรีจันทร์ฯ ก็มีทั้งการทดสอบประสิทธิภาพในการทำงาน ตลอดจนลักษณะนิสัย
“การสื่อสาร ก็เป็นสิ่งสำคัญ คนส่วนใหญ่จะไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องงาน แต่จะมีปัญหาถึงเรื่องคนที่ทำงานด้วย การบริหารจัดการในเรื่องนี้ก็เป็นสิ่งสำคัญมาก นอกจากนั้น ทางบริษัทได้มีนโยบายที่อยากทำ แต่อาจต้องรอการเสนอ คือ การไม่ต้องมีวันลา ความหมายคือ คุณจะไปไหนก็ได้ กี่วันก็ได้ แต่ต้องจัดการงานที่ได้รับมอบหมายให้สำเร็จ โดยไม่ให้มีผลกระทบกับเรื่องงาน และมีเรื่องของการประเมินผลพนักงานภายในบริษัท” รวิศ หาญอุตสาหะ กล่าวอย่างรวบรัดแต่ชัดเจน
สุดท้าย อีกแง่มุมหนึ่งที่น่าสนใจมากๆ ก็คือ ตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่รู้จักกันดีในชื่อ “โควิด-19” ได้มีส่วนผลักดันให้เทรนด์การทำงานแบบหนึ่งเติบโตขึ้นมา นั่นก็คือ Work From Home หรือการทำงานจากที่บ้าน หรือจากที่ใดก็ตามที่พนักงานมีความสะดวก
“การทำงานในปัจจุบัน หรือยุคหลังการระบาดของโควิด-19 คำว่า “ออฟฟิศ” อาจไม่ค่อยมีความความหมาย หรืออาจจะเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม คือ ที่ทำงานไม่จำเป็นต้องเป็นออฟฟิศ ทุกที่สามารถเป็นที่ทำงานได้ ทุกตำแหน่งงานสามารถทำงานที่ใดก็ได้”
รศ.ดร.พิภพ อุดร อาจารย์ประจำคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, อดีตคณบดีคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี และอดีตผู้อำนวยการสถาบันทรัพยากรมนุษย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงการ Work From Home พร้อมทั้งย้ำว่า สำหรับการทำงานแบบใหม่นี้ การวัดผลเป็นสิ่งสำคัญมากกว่าสิ่งใด
“KPI หรือการวัดผลสำเร็จของงานจึงอาจไม่ได้อยู่ที่เวลาเข้า-ออกงานอีกต่อไป แต่จะไปอยู่ที่ความสำเร็จของงานว่า ได้ผลดีตามจุดมุ่งหมายหรือไม่ เสร็จทันเวลาหรือไม่ ใช้งบประมาณตามที่บริษัทกำหนดหรือไม่ สร้างความพอใจอย่างที่ต้องการได้หรือไม่ นี่คือเรื่องใหญ่ที่กำลังเกิดขึ้น ณ ตอนนี้ และจะกลายเป็น New Normal ของการทำงาน”
ไม่ว่าจะอย่างไร สุดท้ายแล้ว ปฏิเสธไม่ได้ว่า Workplace หรือ “ที่ทำงาน” ก็เป็นที่ที่ยังต้องมีอยู่ หรืออาจจะต้องดำรงอยู่ควบคู่ไปกับกระแส “ทำงานได้ทุกที่” และตราบเท่าที่ “ที่ทำงาน” ยังจำเป็น การทำให้ที่ทำงาน เป็น “ที่ที่น่าทำงาน” ก็จึงสำคัญ เพราะเมื่อมี “ที่(น่า)ทำงาน” ก็ย่อมส่งผลต่อไปถึงประสิทธิภาพของงาน ตลอดจนความสุขของพนักงาน เช่นที่ทุกท่านได้กล่าวมา