xs
xsm
sm
md
lg

ศบค.แจง “นักการทูตตะวันตก” มาพักคอนโดฯ เหตุใช้ระเบียบเก่า จ่อเพิ่มมาตรการ นัดประชุมทำความเข้าใจ ยันไม่มีอภิสิทธิ์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศบค.เผยส่งนักการทูตตะวันตกเข้าโรงแรมกักตัวแล้ว หลังคอนโดฯ ไม่ให้พัก เผยผ่านตรวจเชื้อที่สนามบินต้นทางและสุวรรณภูมิไม่พบเชื้อ แจงสาเหตุมาที่พักเพราะใช้ระเบียบเดิม ระบุปรับมาตรการให้อยู่สนามบินจนกว่ารู้ผลโควิด กักตัวพื้นที่แยก จ่อหารือเพิ่มมาตรการ พร้อมประชุมทำความเข้าใจคณะทูตทุกประเทศ ยันนักการทูตไม่มีอภิสิทธิ์ ต้องทำตาม กม.ไทย

จากกรณีนักการทูตเอสโตเนียเข้าเมืองไทย โดยจะเข้าพักคอนโดมิเนียมมิลเลนเนียม เรสซิเดนซ์ แอท สุขุมวิท ในซอยสุขุมวิท 20 แต่นิติบุคคลไม่ให้เข้าพักเนื่องจากยังไม่ผ่านการกักตัวโรคโควิด-19 ขณะที่กงสุลใหญ่กิตติมศักดิ์แห่งสาธารณรัฐเอสโตเนียประจำกรุงเทพมหานคร ออกมาระบุว่าเป็นนักการทูตสหภาพยุโรป (European Union : EU) นั้น

วันนี้ (17 ก.ค.) นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า กรณีที่เกิดขึ้นได้มีการประสานกระทรวงการต่างประเทศ ได้แจ้งความเป็นไปในสังคมไทยตอนนี้เรื่องของการเข้าพัก การเข้าประเทศของผู้ที่ทำงานด้านการทูตของต่างประเทศว่าเรามีแนวทางใหม่ โดยช่วงเวลา 23.00 น. นักการทูตดังกล่าวได้ไปพักที่โรงแรมที่เป็นสถานกักตัวทางเลือก โดยต้องจ่ายค่าใช้จ่ายเอง คือ โรงแรมแกรนด์ เซ็นทรัลพอยต์ เทอร์มินอล 21 ซึ่งรัฐได้เชื่อมโยงกับ รพ.เอกชน

นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า จากการประชุมคณะกรรมการเฉพาะกิจแจ้งว่า ได้มีมติให้นักการทูตทั้งหลายที่จะเข้ามายังประเทศไทยจะต้องอยู่ในสถานเฝ้าระวัง (State Quarantine) ทั้งสิ้น อย่างไรก็ตาม คนนี้ยังไม่ติดเชื้อ และตรวจเชื้อมาก่อนก็ไม่มีเชื้อ การตรวจหาโควิด-19 เกิดขึ้นที่สนามบินสุวรรณภูมิด้วย ผลเป็นลบถึงออกมาจากสนามบิน ยังไม่มีอะไรเกิดขึ้น ยังเป็นสถานการณ์ปกติ

นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า คณะกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาการผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการในการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มีกาารหารือหลายประเด็น โดยประเด็นสำคัญ คือ การอนุญาตให้นักการทูตที่เข้ามา เดินทางเข้ามาจากต่างประเทศต้นทางมาสู่ประเทศไทย เดิมเราให้พำนักในสถานที่ของสถานทูตเท่านั้น แต่ตอนนี้เหตุของซูดานก็ต้องเปลี่ยนไป โดยให้เข้า State Quarantine ทั้งสิ้น 14 วัน โดยปลัดกระทรวงการต่างประเทศและคณะจะประชุมชี้แจงกับเจ้าหน้าที่และเอกอัครราชทูตต่างๆ ให้รับทราบและเห็นถึงแนวทางของประเทศไทยต่อเรื่องนี้

นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า ขณะเดียวกัน มีการพิจารณาเรื่องการอนุญาตให้ชาวต่างชาติเข้ามาจัดแสดงสินค้าในราชอาณาจักร การอนุญาตให้ชาวต่างชาติเข้ามาถ่ายทำภาพยนตร์ในราชอาณาจักร การอนุญาตให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร อนุญาตให้นักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีอีลิทการ์ดเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร ซึ่งเดิมไม่ให้เข้าเลย เราก็จะมีมาตรการให้พวกเขา และมาตรการหลักเกณฑ์วิธีการผ่อนผันให้นักเรียนรหัส G เข้ามาในราชอาณาจักร คือ เด็กต่างชาติที่เข้ามาเรียนในประเทศไทย รวมถึงกรณีการนำแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติเข้ามาในราชอาณาจักร หากมีข้อมูลเพิ่มเติมหลังการประชุมจะมานำเสนอต่อไป


นายเชิดเกียรติ อัตถากร อธิบดีกรมสารนิเทศ และโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า กรณีการกลับมาของนักการทูตตะวันตกนั้น ลำดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น คือ นักการทูตตะวันตกท่านนี้เดิมประจำอยู่ประเทศไทย แต่เดินทางกลับมาปฏิบัติหน้าที่หลังได้ลาไปยุโรป โดยเดินทางออกจากนครแฟรงก์เฟิร์ต ประเทศเยอรมนี เมื่อวันที่ 15 ก.ค. เวลา 22.00 น. ถึงประเทศไทยวันที่ 16 ก.ค. สนามบินสุวรรณภูมิ เวลา 14.00 น. ก่อนขึ้นเครื่องมีการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ผลเป็นลบ เมื่อถึงสุวรรณภูมิมีเจ้าหน้าที่หน่วยงานต้นสังกัดมารับและดำเนินการตามมาตรการสาธารณสุขของไทย โดยตรวจโควิดอีกครั้งหนึ่ง ระหว่างที่อยู่สนามบินก็ได้รอจนกระทั่งผลยืนยันว่าเป็นลบ ถือเป็นครั้งที่ 2 ว่าไม่มีเชื้อโควิด เมื่อทราบผลจึงเดินทางไปที่พัก ซึ่งเป็นที่กำหนดว่าเป็นที่กักตัว 14 วัน ตามที่หน่วยงานต้นสังกัดกำหนด ตามข้อกำหนดของ ศบค.

นายเชิดเกียรติกล่าวว่า ระหว่างออกเดินทางจากสนามบินไปที่พัก มีการจัดรถเป็นกรณีพิเศษ คือ มีฉากกั้นระหว่างผู้ขับและนักการทูต คือ ท่านนั่งคนเดียว ขณะที่เจ้าหน้าที่สำนักงานได้ใช้รถของสำนักงานตามไป จะเห็นถึงความรัดกุม ความพยายามตามมาตรการ แต่เมื่อไปถึงที่พัก ได้รับการแจ้งจากนิติบุคคลว่า คณะกรรมการนิติบุคคลมีมติให้นักการทูตดังกล่าวไม่ให้เข้าพัก หลังจากนั้นสำนักงานจึงได้ประสานงานมายังกระทรวงการต่างประเทศ จึงได้ดำเนินการหารือจึงได้ข้อยุติว่า นักการทูตผู้นี้จะเดินทางไปพักที่โรงแรมซึ่งเป็นสถานที่กักกันที่รัฐกำหนด (ASQ) จากนี้อยู่ภายใต้การดูแลของสาธารณสุข

ถามว่าจะมีเคสอื่นอีกหรือไม่ กรณีนักการทูตกลุ่มต่างๆ เข้ามาได้อย่างไร นายเชิดเกียรติกล่าวว่า นักการทูตที่เข้ามาเข้ามาปฏิบัติภารกิจส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คงมีมาเป็นระยะ แต่ไม่ได้จำนวนมาก การเข้ามาต้องเข้ามาภายใต้กรอบกฎระเบียบที่วางไว้ ที่วางนั้นเป็นตามมาตรการ ศบค. หลายคนพูดว่าการเข้ามาเป็นวีไอพี หรือเอกสิทธิ์ความคุ้มกัน ยืนยันว่าไม่ใช่วีไอพี แต่นักการทูตมีการคุ้มครองตามอนุสัญญาเวียนนา เรื่องเอกสิทธิ์เป็นการคุ้มครองเพื่อให้ปฏิบัติหน้าที่ในประเทศของเราโดยมีประสิทธิภาพ ในฐานะตัวแทนทูต ผู้แทนของรัฐ แต่ภายใต้อนุสัญญานักการทูตต้องปฏิบัติตามระเบียบกฎหมายประเทศด้วย ต้องปฏิบัติตามมาตรการที่ ศบค.ออกมา ดังนั้น ตรงนี้อยู่ที่การเพิ่มมาตรการของเราที่จะเข้มงวดมากขึ้นในการดำเนินการกับนักการทูต ซึ่งมีการพิจารณาในหลายครั้งแล้ว จะได้มีการพิจารณาในกรอบคณะกรรมการเฉพาะกิจฯ ซึ่งจะทบทวนมาตรการต่างๆ ให้เข้มงวดมากขึ้น

“ส่วนที่ว่าทำไมเข้มงวดแล้วถึงไปที่พัก ช่วงนี้เป็นช่วงเปลี่ยนผ่านของระเบียบ ตอนนี้ใช้ตามระเบียบเดิม คือ ใช้ที่พักเป็นที่กักกันตัว 14 วัน ภายใต้การดูแลของหน่วยงานต้นสังกัด แต่จากกรณีซูดาน เราปรับมาตรการเข้มข้นมากขึ้น ได้มีการเวียนคณะทูตทราบว่าขอเพิ่มมาตรการต่างๆ เช่น สนามบินเมื่อตรวจที่สนามบินแล้ว ขอให้รอจนทราบผลที่ชัดเจนว่าผลตรวจเป็นลบถึงออกจากสนามบินได้ พยายามโน้มน้าวกักตัวในพื้นที่ที่มีส่วนแยก ที่ไม่มีการสัมผัสผู้คนจำนวนมาก แต่อย่างไรก็ตาม ในช่วงเปลี่ยนผ่าน หลังจากประชุมคณะกรรมการฯ ก็คงจะชัดเจนมากขึ้นในเรื่องมาตรการต่อไป” นายเชิดเกียรติกล่าว

นายเชิดเกียรติกล่าวว่า ช่วงรอยต่อมีคณะทูตเข้ามา เพราะกลับมาจากการกลับไปเยี่ยมบ้านเป็นกรณีปกติ มีจำนวนไม่มาก 2-3 วันนี้อาจมีอีก 2-3 คน คือ ไม่ถึง 10 คน โดยหลังจากนี้จะมีมาตรการเข้มข้นมากขึ้นในการขอความร่วมมือ โดยคำนึงถึงความรู้สึกของสังคมไทยที่อยากให้มีความมั่นใจในการอยู่ร่วมกันอย่างปลอดโควิด

ถามว่ามีการซักซ้อมสถานเอกอัครราชทูตประเทศต่างๆ ในไทยอย่างไร นายเชิดเกียรติกล่าวว่า เรามีการสื่อสารเป็นระยะๆ และช่วงบ่ายจะเชิญคณะทูตทั้งหมดในประเทศไทยมาฟังการสรุปเพื่อสร้างความเข้าใจและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับทางคณะทูตด้วย

“พวกเราทุกคนมีเจตนารมณ์ร่วมกันผลักดันให้ภารกิจการควบคุมโรคโควิดให้อยู่ในสภาพที่มีความมั่นใจ กรณีนักการทูตต่างประเทศที่มาปฏิบัติภารกิจในเรื่องความสัมพันธ์ ไม่ได้มีอภิสิทธิ์อันใดเกินจากที่ควรจะเป็น คือ การเข้ามาเกิดความเข้าใจผิดว่าสามารถไปไหนก็ได้ไม่อยู่ภายใต้การควบคุม ซึ่งไม่ใช่ ต้องอยู่ภายใต้การกักตัว 14 วันเช่นกัน แต่วิธีการกักตัวจะเป็นอย่างไร จะเข้มข้นมากขึ้นอย่างไรต้องพิจารณากันต่อไป” นายเชิดเกียรติกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น