xs
xsm
sm
md
lg

ลิลลี่ ได้หมดถ้าสดชื่น แนะกระท่อมไทยมีดี ถ้าใช้อย่างถูกวิธี จากยาเสพติดสู่ พืชยา รักษาโรค

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“พืชกระท่อม” ชื่อวิทยาศาสตร์ Mitragyna Speciosa Korth เป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 เช่นเดียวกับกัญชา พืชฝิ่น
แม้ว่ากฎหมายจะมีการผ่อนปรนให้สามารถนำพืชกระท่อมมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์หรือการศึกษาวิจัยได้ แต่กฎหมายก็ยังมีข้อจำกัดบางประการในนำพืชกระท่อมมาใช้ประโยชน์ให้สอดคล้องกับบริบทและสภาพแวดล้อมของสังคมไทย ที่พบว่ามีการใช้พืชกระท่อมในรูปแบบวิถีชาวบ้าน เช่น การเคี้ยวใบกระท่อมสด หรือการนำมาชงชาหรือต้มน้ำดื่มสำหรับตนเอง ในกลุ่มชาวไร่ ชาวสวน กลุ่มผู้ใช้แรงงาน โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ นอกจากนี้การควบคุมพืชกระท่อมแบบยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ยังส่งผลกระทบต่อการนำพืชกระท่อมมาใช้ประโยชน์ในทางเศรษฐกิจ เนื่องจากกฎหมายกำหนดกรอบวัตถุประสงค์ในการใช้ประโยชน์จากยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ไว้แต่เพียงการใช้ในทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์เท่านั้น นอกจากนี้กฎหมายยังกำหนดคุณสมบัติของบุคคลที่จะขออนุญาตไว้เป็นการเฉพาะ ทำให้ไม่สามารถส่งเสริมและพัฒนาการใช้ประโยชน์จากพืชกระท่อมในเชิงพาณิชยกรรม อุตสาหกรรม เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศได้ดีเท่าที่ควร

ปัจจุบันตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 กำหนดการกระทำความผิดและบทลงโทษเกี่ยวกับพืชกระท่อม ดังนี้
(1) ห้ามมิให้ผู้ใดผลิต จำหน่าย นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 4 หรือในประเภท 5 เว้นแต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขจะได้อนุญาต โดยการเสนอแนะของคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษเป็นราย ๆ ไป ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง
(2)ห้ามมิให้ผู้ใดเสพยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 หรือในประเภท 5

ข้อหาและโทษทางอาญาในความผิดเกี่ยวกับพืชกระท่อม ได้แก่
(1)ผลิต นำเข้า หรือส่งออก มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี และปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา 75 วรรค 2)
(2)จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย
-จำนวนไม่ถึง 10 กิโลกรัม มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา 76/1 วรรค 3)
-จำนวนตั้งแต่ 10กิโลกรัมขึ้นไป ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี และปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา 76/1 วรรค 4)
(3)ครอบครอง มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา 76 วรรค 2)
(4)เสพ มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 2,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา 92 วรรค 2)

อย่างไรก็ตาม เนื่องจาก สำนักงาน ป.ป.ส. และกระทรวงยุติธรรม เห็นประโยชน์จากพืชกระท่อมเตรียมกำหนดพื้นที่ประกาศอนุญาตให้ครอบครองและเสพพืชกระท่อมได้โดยไม่เป็นความผิด ตามมาตรา 58/2 แห่ง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 เป็นพื้นที่นำร่องจำนวน 135 หมู่บ้าน/ชุมชน เพื่อเป็นพื้นที่ต้นแบบในการศึกษาการควบคุมดูแลการใช้พืชกระท่อมโดยประชาชนในหมู่บ้าน/ชุมชน

นอกจากนี้สำนักงาน ป.ป.ส. ยังเปิดให้ประชาชนร่วมแสดงความคิดเห็นเพื่อกำหนดมาตรการควบคุมพืชกระท่อมที่เหมาะสมกับประเทศไทย)
ในระหว่างวันที่ 10 - 24 กรกฎาคม 2563
สามารถร่วมแสดงความคิดเห็นได้ผ่านลิงค์ด้านล่างนี้
https://www.oncb.go.th/Pages/10_07_2020_kratom63.aspx



กำลังโหลดความคิดเห็น