xs
xsm
sm
md
lg

“หมออุดม” เชื่อไทยเจอ “โควิด” ระลอก 2 ชี้การ์ดไม่ตกช่วยสกัดระบาดหนัก ห่วงเชื้อทำลายภูมิคุ้มกัน ต้องเผื่อใจหากวัคซีนไม่สำเร็จ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“หมออุดม เชื่อไทยหนีไม่พ้น โควิด ระบาดระลอก 2 แต่ขอให้ช่วยลดความรุนแรงให้ทางการแพทย์รับมือได้ ผ่านใส่หน้ากาก ล้างมือ เว้นระยะห่าง เผย ศักยภาพรับผู้ป่วยใหม่ได้วันละ 30-50 คน ห่วงแรงงานใต้ดินเป็นแสน พยายามกลับเข้ามา ยิ่งต้องเข้มวิถีใหม่ไม่ต่ำกว่า 1 ปี ชี้ เชื้อโควิดทำลายภูมิคุ้มกัน ต้องเผื่อใจหากวัคซีนไม่สำเร็จ

วันนี้ (2 ก.ค.) นพ.อุดม คชินทร ที่ปรึกษามูลนิธิธรรมาภิบาลทางการแพทย์ กล่าวถึงสถานการณ์โควิด-19 ความสำคัญของการดูแลสุขภาพตนเอง ในงานแถลงข่าวความ่รวมมือจัดทำโครงการ “เด็กไทย สู้ภัยโควิด Thai Kids Fight COVID (TKFC) ว่า การที่ประเทศไทยไม่มีรายงานผู้ป่วยโรคโควิด-19 ภายในประเทศ หรือเป็น 0 ต่อเนื่องมา 1 เดือนกว่าๆ ไม่ได้แปลว่าประเทศไทยไม่มีเชื้อโควิด-19 อีกแล้ว เพราะอาจจะมีคนไข้ที่ไม่มีอาการ หรืออาการน้อยเหมือนไข้หวัดแล้วหายเอง แต่ยังแพร่เชื้อได้ ที่สำคัญ ในระดับโลกแนวโน้มก็ยังเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม เพื่อรักษาสมดุลสุขภาพ เศรษฐกิจ และสังคม อย่างไรก็ต้องเปิดประเทศ มีการค้าขายและฟื้นฟูเศรษฐกิจ แม้เราจะมีมาตรการป้องกันเข้มข้น แต่เชื่อว่าจะมีหลุดบ้างแน่นอน

“การเดินทางโดยเครื่องบินเราไม่กลัว เพราะล็อกตัวได้ตั้งแต่แรก ที่น่ากลัวคือ การเข้ามาทางบกจากประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งพม่า ลาว กัมพูชา หรือมาเลเซีย การมาตามด่านเราตะครุบได้ แต่แรงงานใต้ดินที่พยายามกลับเข้ามานั้นมีเป็นแสนๆ ราย ที่อาจจะเข้ามาทางอื่นนอกจากด่าน ซึ่งประเทศเพื่อนบ้านที่รายงานผู้ป่วยก็เชื่อว่ายังต่ำกว่าความเป็นจริง ดังนั้น เราจึงยังต้องปฏิบัติตัวตามมาตรการสาธารณสุขอย่างเข้มข้น เพราะเรามีบทเรียนมาแล้วว่า การระบาดของไข้หวัดใหญ่สเปนเมื่อปี 1918 ระลอก 2 นั้นแรงกว่าระลอกแรกมาก ช่วงแรกคนเสียชีวิต 5 ล้านกว่าคน แต่พอผ่อนคลายระลอก 2 เสียชีวิตถึง 40 ล้านกว่าคน” นพ.อุดมกล่าว


นพ.อุดม กล่าวว่า ตนเชื่อว่าไม่มีทางที่จะทำให้ผู้ติดเชื้อในประเทศเป็น 0 ไปได้ตลอด อาจจะต้องมีการติดบ้าง แต่จะต้องรักษามาตรการสาธารณสุข อยู่ห่างกัน ใส่หน้ากาก ล้างมือ เพื่อช่วยกันไม่ให้เกิดการระบาดเป็นระลอกใหญ่ หากมีการติดเชื้อก็ให้เรารับมือไหว โดยทรัพยากรที่เรามีทั้งบุคลากรทางการแพทย์ เตียง เครื่องมือต่างๆ เรารับผู้ติดเชื้อรายใหม่ได้ประมาณ 30-50 คนต่อวัน หากมาเป็นร้อยก็คงรับไม่ไหว และอาจเกิดการเสียชีวิตเหมือนในต่างประเทศ ซึ่งการคงมาตรการเหล่านี้ไว้ต้องทำให้เป็นชีวิตวิถีใหม่ไปอีกสักระยะอย่างน้อย 1 ปี ถึง 1 ปีครึ่ง จนกว่าจะมียารักษาที่แท้จริง ซึ่งยาฟาวิพิราเวียร์ที่ใช้อยู่ก็ยังไม่ใช่ หรือมีวัคซีนใช้ ซึ่งจากข่าวก็ยังไม่ใช่จะใช้ได้วันพรุ่งนี้ อย่างน้อยก็ไม่ต่ำกว่า 1 ปี แม่จะพยายามลัดกระบวนการให้เร็วขึ้น แต่สุดท้ายก็ต้องดูว่าวัคซีนจะสำเร็จหรือไม่ และอาจต้องเผื่อใจไว้หากไม่สำเร็จด้วย

“การที่วัคซีนอาจจะไม่สำเร็จ เพราะเชื้อตัวนี้ไม่เหมือนเชื้อตัวอื่น เพราะเชื้อนี้ทำลายระบบภูมิคุ้มกัน อย่างคนนิวยอร์กที่ติดเชื้อกันครึ่งล้าน คิดว่าภูมิคุ้มกันน่าจะเยอะ เมื่อเข้าไปเจาะตรวจดูภูมิคุ้มกันพบเพียง 21% ขณะที่สวีเดน ปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ เพื่อหวังว่าจะมีภูมิคุ้มกัน จากการเจาะตรวจและรายงานสัปดาห์ก่อนก็มีเพียง 7% แต่เราต้องการภูมิคุ้มกันหมู่ถึง 70% แต่จากการลองเจาะเลือดแพทย์ พยาบาล ที่ดูแลผู้ป่วยที่ รพ.รามาธิบดี 800 คน พบเพียง 22 คน หรือประมาณ 3% ถือว่าน่ากังวลใจ เพราะเชื้อทำลายระบบภูมิต้านทาน วัคซีนอาจจะไม่ได้ผล ซึ่งแม้จะกระตุ้นภูมิคุ้มกันขึ้นในหนูและลิง แต่ในคนอาจไม่ขึ้นก็ได้ เราหนีไม่พ้นก็ต้องช่วยกันปฏิบัติอย่างเข้มข้น” นพ.อุดมกล่าว

นพ.อุดม กล่าวว่า ขณะนี้ผ่อนปรนระยะ 5 มีการเปิดโรงเรียนทั่วประเทศ 3.5 หมื่นกว่าโรง เด็กเกือบ 5 แสนคน การป้องกันโรคนี้เด็กก็ต้องร่วมมือช่วยกันปฏิบัติ แต่เด็กก็เป็นวัยที่ยังจับกลุ่มกัน และบางคนก็ไม่สะดวกสวมหน้ากาก ตรงนี้ต้องช่วยกันรักษาระยะห่างให้ได้ 1.5-2 เมตร เพราะข้อมูลพบว่าละอองน้ำลายสามารถกระเด็นได้ไกล 1.86 เมตร ถ้าไอกระเด็นได้ไกล 15-18 เมตร และถ้าวิ่งแล้วไอกระเด็นไกล 20 เมตร และสวมหน้ากาก ซึ่งจะเห็นว่าประเทศที่ไม่สวมหน้ากากมีการติดเชื้อต่างจากประเทศที่สวมหน้ากากมหาศาล อย่างไรก็ตาม แม้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จะเตรียมหน้ากากสำหรับเด็กไว้ แต่อาจไม่ทั่วถึง ซึ่งหน้ากากสำหรับเด็กจะแตกต่างจากผู้ใหญ่ โดยเฉพาะเด็ก 6-12 ขวบหรือ ป.1-6 ต้องการหน้ากากสำหรับเด็กที่เข้ากับหน้าและต้องกระชับ จึงนำมาสู่โครงการ TKFC


พล.อ.ต.นพ.อิทธพร คณะเจริญ เลขาธิการมูลนิธิธรรมาภิบาลทางการแพทย์ และ ผอ.หลักสูตรประกาศนียบัตรธรรมาภิบาลทางการแพทย์สำหรับผู้บริหารระดับสูง (ปธพ.) รุ่นที่ 1-8 กล่าวว่า เด็กเปิดเทอมถือเป็นกลุ่มเสี่ยงใหม่ เราช่วยลดโควิดลงมาได้ เพราะทุกคนช่วยกันสู้ แต่ช่วงเปิดเทอมนี้จะเป็นช่วงที่เด็กต้องลงมาสู้กับโรคนี้ และต้องชนะโควิดให้ได้ สำหรับหน้ากากสำหรับเด็กต้องกระชับใบหน้า ปรับจูนให้เข้ากับแต่ละวัยได้ เขียนชื่อเพื่อกันสลับกับเพื่อนได้ มีสายคล้องเพื่อยึดโยงให้ใช้ได้ทั้งวัน โครงการนี้จึงร่วมกับภาคเอกชน คือ GQ NARAYA และ SABINA ร่วมสนับสนุนผลิตหน้ากากราคาพิเศษและบริจาคหน้ากาก 1 ชิ้น เมื่อมีผู้ซื้อหน้ากาก 1 ชิ้น โดยจะมีการบริจาคไม่น้อยกว่า 2.5 หมื่นชิ้นในแต่ละบริษัท ในช่วง ก.ค. - 15 ส.ค. 2563 สำหรับโรงเรียนเป้าหมายแรก คือ โรงเรียนในโครงการพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดารในพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา โดยผ่านโรงพยาบาลในพื้นที่เพื่อให้ความรู้ควบคู่ไปด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น