จุฬาฯ ย้ำ 2 สัปดาห์ลุ้นผลวัคซีนโควิดในลิง หากฉลุยวิจัยในคนต่อ ต.ค.นี้ เผยทดลองในคนระยะ 3 อาจทำเพิ่มใน 6 ประเทศ หลังไทยสถานการณ์โรคดีขึ้น แต่หากต่างประเทศเสร็จก่อน อาจไม่ต้องทำวิจัยระยะ 3 ขอ อย.ผลิตวัคซีนใช้เองเร็วสุดกลางปี 64
วันนี้ (24 มิ.ย.) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ประชุมหารือร่วมกับ นพ.นคร เปรมศรี ผอ.สถาบันวัคซีนแห่งชาติ ศ.นพ.สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยวัคซีน COVID-19 คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ เกี่ยวกับความคืบหน้ากาการพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ชนิด mRNA
นายอนุทิน ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุม ว่า มีการหารือกันถึง พ.ร.ก.เงินกู้ ในส่วนของวงเงิน 4.5 หมื่นล้านบาท ที่ สธ.ได้รับจัดสรรมา โดยเราได้จัดสรรให้สถาบันวัคซีนแห่งชาติ 3 พันล้านบาท เพื่อสนับสนุนและไปร่วมค้นคว้าวิจัยวัคซีนโควิด ซึ่งเป็นเรื่องเดียวที่จะปิดลูปการบริการทางการแพทย์เกี่ยวกับโควิดครบวงจรของไทย เพราะด้านอื่นเรามีความพร้อมทั้งหมดแล้ว จากรับฟังความคืบหน้าถือว่าเป็นข่าวดีขึ้นเรื่อยๆ เพราะฉีดทดลองในหนูผลลัพธ์ก็เป็นบวกมากๆ ขณะนี้ก็กำลังทดลองในลิงสองครั้ง ถ้าผลเป็นที่พอใจของผู้วิจัย ก็จะศึกษาในคนลำดับต่อไป ซึ่งก่อนจะถึงในคน การต้องผ่านกระบวนการกฎหมายของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) นั้น ขออย่ากังวล เราจะอำนวยความสะดวกเต็มที่ ทั้งนี้ ถ้าผลิตวัคซีนได้ ประเทศไทยจะกลับคืนสู่ประเทศที่มั่นคงในทุกมิติได้รวดเร็ว
ศ.นพ.เกียรติ กล่าวว่า การทดลองในหนู ผลของการฉีดในเข็มสอง ภูมิคุ้มกันขึ้นสูงมาก แม้จะเจือจางลง 2 หมื่นเท่าก็ยังยับยั้งเชื้อได้ ส่วนวันที่ 22 มิ.ย.ที่ผ่านมาได้ฉีดเข็มสองในลิง ซึ่งเป้าหมายหลักคือ 2 สัปดาห์ หลังฉีดเข็ม 2 ในลิงผลเป็นอย่างไร หากขึ้นสูงจนน่าพอใจ โรงงานผลิตที่จองไว้ก็จะเริ่มผลิต 1 หมื่นโดส ถ้าเป็นไปตามแผนจะเริ่มในอาสาสมัครคนไทย ซึ่งก็ทยอยแสดงความจำนงมา แต่เรายังไม่ผ่านคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในคน จึงยังเปิดรับสมัครไม่ได้ แต่คาดว่าหากผลออกมาดี ต.ค.นี้ก็จะเริ่มวิจัยในคนได้ และเตรียมโรงงานประเทศไทยที่จะผลิตเองในปี 2564
เมื่อถามถึงการศึกษาในคนในระยะ 3 ต้องศึกษาในพื้นที่ที่มีการระบาด แต่สถานการณ์ในประเทศไทยมีการติดเชื้อน้อย จะทำอย่างไร ศ.นพ.เกียรติ กล่าวว่า จากการหารือร่วมกับ สธ. สถาบันวัคซีนฯ และรวมกับประเทศเพื่อนบ้านบางส่วน และแหล่งทุนขนาดใหญ่ของต่างประเทศ เพราะเผื่อเราต้องข้ามประเทศด้วย ก็หวังว่า ประเทศไทยจะไม่มีเวฟสอง ถ้ามีก็อาจทำในประเทศ แต่เราไม่อยากให้มี ทั้งนี้ เราตามหลังต่างประเทศ 6 เดือน ซึ่งต่างประเทศวัคซีนตัวแรกจะเข้าระยะ 3 ประมาณ ก.ค. ถ้าไปทำวิจัยในพื้นที่ระบาดเยอะและสิ้นปีนี้ได้ผลเลย วัคซีนตัวแรกที่จะเข้าวิน ถ้าเป็นเทคโนโลยีเดียวกับเรา ก็จะได้ดีใจว่า จะได้รู้ว่าวัคซีนแบบเดียวกับเราภูมิขึ้นขนาดไหนจะป้องกันได้ จะได้หารือ อย.ว่า หลังศึกษาอาสาสมัครระยะสองเป็นพันรายขึ้นไป และภูมิสูงเท่ากับวัคซีนที่ผ่าน เราจะผ่านแบบมีเงื่อนไข หรืออนุมัติให้ใช้แบบมีเงื่อนไขในภาวะฉุกเฉินได้หรือไม่
“ถ้าไม่ต้องทำวิจัยในคนเฟส 3 คิดว่า กลางปีหน้าก็จะผลิตได้ เนื่องจากระยะที่ 1 ถ้าเริ่ม ต.ค.นี้ คิดว่าสิ้นปี 2563 ก็เสร็จเพราะระยะปลอดภัย 3 เดือนก็รู้ผล และเริ่มระยะที่ 2 เลย ใช้เวลา 4 เดือน ถ้าไม่ต้องทำระยะที่ 3 ตอนนั้นโรงงานไทยก็พร้อม เพราะใช้เวลาเตรียมโรงงาน 9 เดือน ซึ่งก็มีการเตรียมล่วงหน้าก่อนฉีดในคน และเตรียมขึ้นทะเบียน อย.ว่าพร้อมผลิต เร็วสุดก็กลางปีหน้าที่จะผลิตได้เลย” ศ.นพ.เกียรติ กล่าว
เมื่อถามถึงประเทศเพื่อนบ้านที่มองไว้ ศ.นพ.เกียรติ กล่าวว่า วัคซีนที่เราจะผลิต เนื่องจากเทคโนโลยีบางส่วนถ่ายทอดมาจากต่างประเทศ นอกจากเพื่อคนไทยยังเพื่ออาเซียนและเอเชีย 6 ประเทศที่มองไว้ คือ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ทางนั้นก็เริ่มติดต่อว่า ถ้าเราพร้อมฉีดในคนก็อยากร่วมด้วย และประเทศเพื่อนบ้าน คือ พม่า ลาว กัมพูชา และ ปากีสถาน ที่บริษัทเรารับถ่ายทอดเทคโนโลยีมาอยากให้เราคัฟเวอร์ด้วย
นพ.นคร กล่าวว่า การเจรจาเอ็มโอยูร่วมวิจัยวัคซีนกับต่างประเทศ ได้เอ็มโอยูแล้ว คือ เกาหลีใต้ ส่วนที่ติดต่อประสานกันอยู่ก็มีสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น แต่เอ็มโอยูต้องใช้เวลา