xs
xsm
sm
md
lg

ทดสอบวัคซีนโควิด mRNA จุฬาฯ ในลิงได้ผลดี เตรียมกระตุ้นอีกเข็ม 22 มิ.ย. “อนุทิน” อัดงบ 3 พันล. กล้าทดลองฉีดเข็มแรก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



วัคซีนโควิด mRNA จุฬาฯ กระตุ้นภูมิในลิงได้ดี เตรียมฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 วันที่ 22 มิ.ย.นี้ อนุทิน ลั่นกล้าทดลองวัคซีนเป็นคนแรก เหตุมั่นใจหลังไปดูกระบวนการศึกษา แต่ต้องผ่านเกณฑ์อาสาสมัครด้วย อัดงบ 3 พันล.สนับสนุนงานวัคซีน เล็งผลิตถึงขวดวัคซีนด้วย ป้องกันของขาด จุฬาฯ ปัดข่าวหาอาสาสมัครไม่ได้ ชี้ยังไม่เปิดรับ ระบุรับอาสาสมัครต้องผ่าน 5 เงื่อนไขก่อน

วันนี้ (19 มิ.ย.) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนต รีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงความคืบหน้าการวิจัยวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ของประเทศไทยว่า เบื้องต้น นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ รายงานว่า การวิจัยวัคซีนชนิด mRNA ของคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีความคืบหน้าอย่างมาก ทดลองในลิงแล้วได้ผลดี ส่วนวัคซีนชนิด DNA ของบริษัท ไบโอเนท-เอเชีย จำกัด ทดลองในหนูแล้วได้ผลดี เพิ่มภูมิต้านทานได้เช่นกัน จะเดินหน้าทดลองในลิงต่อไปก่อนที่จะทดลองในมนุษย์ แต่กว่าจะถึงขั้นทดลองในมนุษย์ต้องผ่านกระบวนการหลายอย่างเพื่อความปลอดภัย ทั้งนี้ การวิจัยวัคซีนโควิด-19 ของไทยนับว่ามีแนวโน้มในทางที่ดี


นายอนุทินกล่าวว่า สำหรับงบประมาณสนับสนุนเกี่ยวกับวัคซีนโควิดจะมีการจัดสรรจำนวน 3 พันล้านบาท จากงบประมาณเงินกู้โควิดที่ด้านสาธารณสุขได้รับ 4.5 หมื่นล้านบาท ให้กับสถาบันวัคซีนแห่งชาติ เพื่อสนับสนุนการจัดหาวัคซีนสำหรับคนไทย ทั้งการศึกษาวิจัยภายในประเทศ โครงการนำร่อง (pilot project) ทั้งการลงทุนเองหรือการสนับสนุน การปรับปรุงโรงงาน และละเอียดถึงโรงงานผลิตขวดวัคซีน เพราะถ้าอนาคตค้นคว้าวัคซีนสำเร็จในหลายๆ ประเทศก็จะไม่มีขวดวัคซีนมาใช้อีก ซึ่งช่วงที่มีการระบาดระดับโลกก็มีขาดแคลนเวชภัณฑ์มาแล้ว เช่น หน้ากากอนามัย ชุดป้องกัน PPE หรือยา เป็นเหตุผลที่ สธ.ต้องจัดสรรงบประมาณเพื่อให้ไทยยืนบนขาตัวเองได้ หากการผลิตวัคซีนโควิดสำเร็จจริงๆ ไม่ต้องห่วงการสนับสนุนทุกอย่างต้องมุ่งมาอยู่ตรงนี้

เมื่อถามว่าการเสนอตัวทดลองวัคซีนเป็นคนแรก เนื่องจากกลุ่มตัวอย่างทดลองไม่เพียงพอหรือไม่ นายอนุทินกล่าวว่า เป็นการพูดแซวเล่นกันในที่ประชุม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แซวตนว่าวัคซีนที่สำเร็จต้องทดลองในคน รัฐมนตรี สธ.กล้าทดลองหรือไม่ ตนจึงบอกว่ากล้า เพราะว่าเรามีข้อมูล ไปเห็นไปสัมผัส ไปพูดคุย ไปสนับสนุนทุกอย่าง ทำไมจะไม่กล้า ก็พร้อมจะเป็นอาสาสมัครถ้าผู้วิจัยยอมฉีดให้ ซึ่งต้องดูด้วยว่าแพทย์จะกำหนดคุณสมบัติคนที่จะเป็นอาสาสมัครอย่างไร แต่หลักการสาธารณสุขสากล คนที่จะได้รับวัคซีนในช่วงของการทดลอง จะต้องเป็นบุคลากรทางการแพทย์ เพราะอย่างน้อยก็ได้รับการทดลองในขณะที่ทำงานกับผู้ป่วย

นายอนุทินกล่าวว่า สำหรับงบประมาณเงินกู้ 4.5 หมื่นล้านบาท จะแบ่งเป็นหลายส่วน อาทิ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ระบบบริการประชาชนผ่านสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) การเพิ่มศักยภาพของหน่วยบริการสาธารณสุขของสำนักงานสาธารณสุขทั่วประเทศ ทุกกรมในกระทรวงสาธารณสุข โรงเรียนแพทย์ สถาบันวัคซีนแห่งชาติ เป็นต้น แต่สิ่งที่ตนเน้นย้ำ คือ งบประมาณนี้เป็นเงินกู้ ดังนั้นสิ่งที่ลงทุนไปจะต้องได้ประสิทธิภาพกลับคืนมา ไม่ใช่ไปลงทุนในสิ่งที่ใช้แล้วทิ้ง หมดไปกลับสิ่งที่ยิ่งใช้ยิ่งเสื่อม นอกจากนี้ยังจะไปเพิ่มประสิทธิภาพของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลให้มีประสิทธิภาพเพื่อให้ประชาชนมีความเชื่อถือ เป็นต้น

“สำหรับการยกระดับของหน่วยบริการจะต้องดูตามความเหมาะสม ซึ่งก็มีการกำหนดและแบ่งกันชัดเจน โดยโรงพยาบาลชุมชนอาจได้รับงบประมาณมากกว่าโรงพยาบาลทั่วไป เพราะโรงพยาบาลชุมชนยังขาดอุปกรณ์เครื่องมือที่มีความจำเป็น แต่ก็ต้องดูความเหมาะสมกับพื้นที่ เช่น เครื่องช่วยหายใจที่จะต้องอยู่ในห้องไอซียูที่มีผู้ป่วยหนักควรได้รับการดูแลที่ดีจากโรงพยาบาลขนาดใหญ่ ก็คงไม่ได้นำไปไว้ที่โรงพยาบาลอำเภอ ทั้งนี้ในโรงพยาบาลชุมชนจะเน้นเรื่องประสิทธิภาพการส่งต่อผู้ป่วย อย่างไรก็ตามงบประมาณนั้นจริงๆไม่ได้มองว่าที่ไหนต้องได้มากกว่า แต่จะเน้นให้ประชาชนได้รับการบริการที่ดี ไม่ว่าจะอยู่จุดไหน คนไทยเข้าที่ไหนก็รักษาได้หมด”นายอนุทิน กล่าว

เมื่อถามว่ากรณีโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลกังวลว่าจะได้รับงบประมาณน้อย นายอนุทิน กล่าวว่า ไม่ต้องกังวล ทุกอย่างยุติธรรม
ด้าน ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ผู้อำนวยการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า หลังตรวจภูมิคุ้มกันในลิงที่ได้รับวัคซีนโควิดเข็มแรก พบว่าได้ผลดีนั้น วันที่ 22 มิ.ย.จะฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 ในลิงต่อ เพื่อดูเรื่องการกระตุ้นภูมิคุ้มกันต่อไป ส่วนการทดลองในคน ต้องพิจารณาหลายอย่าง คือ 1. อายุ ซึ่งทั่วโลกจะมีอาสาสมัครอายุประมาณ 18-60 ปี แต่บางโครงการก็แบ่งกลุ่มอายุ 18-55 ปี และ 55-70 ปี 2. สุขภาพดี ไม่มีโรคประจำตัว ทั้งนี้ ระยะแรกจะแบ่งอาสาสมัครเป็นกลุ่ม บวกลบประมาณ 100 คน คือ กลุ่มที่มีอายุหลากหลาย และอีกกลุ่มคือ ผู้สูงอายุ เพื่อดูว่าวัคซีนกระตุ้นภูมิได้หรือไม่ โดยจะมีการให้วัคซีนในปริมาณที่แตกต่างกัน และกลุ่มที่ได้วัคซีนเปรียบเทียบ ส่วนระยะที่ 2 จะใช้อาสาสมัครคล้ายกัน แต่เพิ่มจำนวนคนขึ้น

ศ.นพ.เกียรติกล่าวว่า กรณีข่าวว่ายังหาอาสาสมัครไม่ได้นั้นไม่จริง เพราะโครงการอยู่ในขั้นการทำลองในลิง ถ้าฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 ได้ผลดี เราเลือกไปผลิตในโรงงานหมื่นโดสก็จะเตรียมอาสาสมัคร คิดว่าตอนนั้นไม่น่าจะมีปัญหา และตอนนี้ยังไม่ได้เปิดรับอาสาสมัครด้วย เพราะยังไม่ถึงระยะเวลา จะทำข้ามขั้นตอนไม่ได้ การจะทดสอบในคนจะมีเงื่อนไข คือ 1. ประสิทธิภาพในสัตว์ทดลองได้ผลดี 2. ข้อมูลความปลอดภัยต้องมากพอ 3. โรงงานผลิตต้องมีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับสากล 4. สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) มีข้อมูลว่าวัคซีนหรือยา มีความปลอดภัยมากพอ และ 5. ผ่านการอนุมัติของคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ จึงจะประกาศรับอาสาสมัครได้ ส่วนกรณีถ้ามีผู้ใหญ่ในรัฐบาลหรือในกระทรวงจะเป็นอาสาสมัครก็เป็นสิ่งที่ดี แต่ต้องอยู่ในเกณฑ์ที่เป็นอาสาสมัครได้ ย้ำว่าไม่มีเรื่องสิทธิพิเศษ ทุกอย่างเป็นไปตามกติกา ไม่เกี่ยวกับยากดีมีจน หรือมีอำนาจ ทุกคนควรมีโอกาส และอย่าลืมว่าเราไม่รู้ว่าวัคซีนจะได้ผลหรือไม่ การที่คนจิตอาสามาเพราะอยากมีส่วนร่วมในการพัฒนาวัคซีนอยู่แล้ว




กำลังโหลดความคิดเห็น