สธ.เผยไทยคืบหน้า “วัคซีนต้านโควิด” 2 รูปแบบ คือ DNA ทดสอบในหนู และ mRNA ทดสอบในลิง จุฬาฯ คาดเจาะเลือดพิสูจน์ภูมิคุ้มกันในลิงกลาง มิ.ย.นี้ หากยังต่ำเจาะอีกครั้งช่วง ก.ค. เลือกตัวที่ดีที่สุด ผลิตวัคซีน 1 หมื่นโดสทดสอบในคน 3 ระยะ ประสาน 2 โรงงานเมืองนอก “อเมริกา-แคนาดา” ผลิตให้ คาดได้ช่วง ต.ค.และสิ้นปี 63 พร้อมให้ไบโอเนทรับถ่ายทอดเทคโนโลยี หากเป็นไปตามแผน ปลายปี 64 ผลิตวัคซีนในไทยได้
วันนี้ (24 พ.ค.) นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงการพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ว่า ประเทศไทยมีความพยายามในการพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในหลายรูปแบบ ทั้งรูปแบบดีเอ็นเอ (DNA) เอ็มอาร์เอ็นเอ (mRNA) การใช้โปรตีนบางส่วนของเชื้อ โครงสร้างมาทำเปลือกไวรัส (VLP) วัคซีนเชื้อตาย หรือเอาไวรัสตัวอื่นมาเป็นพาหะนำสารพันธุกรรมโควิดไปเป็นวัคซีน แต่ที่มีความก้าวหน้า 2 ตัว คือ DNA วัคซีน และ mRNA วัคซีน โดยเริ่มทำการทดสอบในสัตว์ทดลอง ซึ่งวัคซีน DNA โดยบริษัท ไบโอเนท-เอเชีย จำกัด และไบโอเทค เริ่มทดสอบในหนูทดลอง ส่วนวัคซีน mRNA โดยคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผ่านการทดสอบในหนู และเริ่มทดสอบในลิงเมื่อวันที่ 23 พ.ค.
นพ.นครกล่าวว่า วัคซีนที่ผ่านการทดสอบมีขั้นตอน คือ ต้องผ่านในสัตว์ทดลองให้ได้ผลพอใจ ผ่านเงื่อนไขความปลอดภัย และกระตุ้นสร้างภูมิคุ้มกันให้กับสัตว์ทดลองได้ ถึงเริ่มทำการทดสอบในคนได้ การทดสอบในคนมี 3 ระยะ คือ 1. หาความปลอดภัย 30-50 คน 2. กระตุ้นภูมิคุ้มกัน 250-500 คน และ 3. ให้ผลในการป้องกันโรค 1,000 คนขึ้นไป ซึ่งเมื่อวันที่ 22 พ.ค. มีวัคซีนต้นแบบ 10 ชนิดที่เริ่มทดสอบในคนแล้ว คือ จีน 5 ชนิด อเมริกา 2 ชนิด อังกฤษ เยอรมนี และออสเตรเลีย อย่างละ 1 ชนิด อย่างไรก็ตาม แม้ไทยจะเริ่มช้ากว่า แต่หลายประเทศที่พัฒนาไปแล้วจะเป็นฐานให้ประเทศที่กำลังพัฒนากันไป จะได้ปรับปรุงวัคซีนให้ดีขึ้นเรื่อยๆ
“การดำเนินงานเพื่อให้ไทยมีวัคซีนป้องกันโควิดในเวลาใกล้เคียงกับประเทศอื่น คือ การพัฒนาวัคซีนในประเทศ ซึ่งเรามีนักวิจัยที่มีศักยภาพในประเทศ มีหน่วยงานอื่นๆ มาร่วมสนับสนุน และการเชื่อมพันธมิตรนานาชาติในการร่วมพัฒนา ถ้าพันธมิตรพัฒนาแล้วได้วัคซีน เราก็จะขอร่วมถ่ายทอดเทคโนโลยี และข้อตกลงจัดซื้อวัคซีนร่วมกัน เพื่อไทยมีวัคซีนในเวลาใกล้เคียงประเทศอื่น” นพ.นครกล่าว
ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ผอ.ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า สาเหตุที่ไทยต้องพัฒนาวัคซีนเอง ไม่รอซื้อ เนื่องจากประชากรโลกมีจำนวนมาก 7.7 พันล้านคน และต้องได้วัคซีน 30-50% อย่างจีนและอเมริกา ที่กำลังพัฒนาวัคซีนก็มีประชากรจำนวนมาก จีน 1,400 ล้านคน อเมริกา 330 ล้านคน ก็คงไม่พอกว่าจะมาถึงประเทศเรา ไทยจึงต้องเข้าไปแข่งด้วย แต่เราไม่ได้เริ่มจาก 0 อย่างศูนย์วิจัยวัคซีนจุฬาฯ เราตั้งมา 15 ปี เรียนรู้เทคโนโลยีสะสมมาเรื่อยๆ สามารถทำได้หลายอย่างรวดเร็วขึ้น สำหรับวัคซีน mRNA ที่ผ่านด่านหนูและกำลังทดลองลิง คาดว่าสิ้นเดือนน่าจะเรียบร้อย โดยประมาณ 2 สัปดาห์ภูมิน่าจะขึ้น และจะขึ้นสูงใน 4-6 สัปดาห์ ก็จะมีการตรวจเลือดลิงรอบแรกกลาง มิ.ย. แต่ถ้าผลเลือดยังต่ำ ก็รอปลาย มิ.ย.หรือต้น ก.ค.
ศ.นพ.เกียรติกล่าวว่า ทั้งนี้ ในไทยยังไม่สามรถผลิตวัคซีนจากเทคโนโลยี mRNA ได้ เพราะเป็นเทคโนโลยีใหม่มาก ทั่วโลกขณะนี้มีโรงงานที่ผลิต mRNA ได้ ไม่น่าเกิน 7 แห่ง เราจึงจองโรงงานขนาดเล็กในต่างประเทศก่อน คือที่อเมริกา และเยอรมัน แต่มีโรงงานที่แวนคูเวอร์ แคนาดา เพื่อผลิตให้เราจำนวน 1 หมื่นโดส โดยเมื่อเราได้ผลทดสอบในลิงดี ก็จะเลือกตัวที่ดีที่สุดไปผลิต ซึ่งจพนวน 1 หมื่นโดส มาจากวัคซีนทั่วไปจะฉีดคนละ 2 โดส เราจึงเตรียมอาสาสมัครไว้ 5 พันคน คาดว่าจะผลิตได้จากโรงงานแรกเร็วสุดคือ ต.ค. และอีกแห่งน่าจะได้ก่อนสิ้นปี เพื่อใช้ทดสอบในคน 3 ระยะ คือ ระยะ 1 ไม่เกิน 100 คน โดยแบ่งเป็นกลุ่ม กลุ่มละ 10-15 คน เพื่อดูขนาดต่ำสุด ขนาดกลาง ขนาดสูง เทียบกับกลุ่มเปรียบเทียบ ว่าปลอดภัยหรือไม่ เช่น มีไข้ บวม ผื่น หรือไม่ ระยะ 2 อาสาสมัครก็เยอะขึ้น และระยะ 3 ที่ต้องมากกว่าพันคน อย่างไรก็ตาม การเตรียมการผลิตไม่ใช่รอทุกอย่างเสร็จ ต้องเตรียมโรงงานไทยรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจาก 2 โรงงานขนาดเล็กนี้ด้วย โดย บ.ไบโอเนทขเอเชีย พร้อมรับเทคโนโลยีมาผลิต ถ้าแต่ละขั้นตอนผ่านด่านแล้วดี ไทยก็พร้อมผลิตวัคซีนในอีก 1 ปีครึ่งข้างหน้า ถ้าเป็นไปตามแผน อาจจะได้ผลิตเพื่อหลายล้านคนได้ภายในปลายปี 2564 สำหรับการฉีดทดลองในลิงวันแรกยังไม่พบว่ามีไข้
นายวิฑูรย์ วงศ์หาญกุล ประธานกรรมการบริหาร บ.ไบโอเนทขเอเชีย จำกัด กล่าวว่า จากการหารือก็เห็นตรงกันว่า ช่วงโรคระบาดจะต้องเลือกพัฒนาวัคซีนที่มีความรวดเร็วและปลอดภัย ดังนั้น DNA และ mRNA วัคซีนเป็นคำตอบ บริษัทจึงหันมาทำทาง DNA วัคซีน ซึ่งราก็พัฒนาได้อย่างรวดเร็ว และเรามีศักยภาพที่จะผลิต DNA วัคซีนเพื่อใช้ในประเทศได้ และพร้อมรับการถ่ายทอด mRNA
เมื่อถามถึงความร่วมมือการพัฒนาวัคซีนกับประเทศอื่นๆ นพ.นครกล่าวว่า ขณะนี้กำลังเร่งทำความร่วมมือพันธมิตรในการร่วมวิจัยพัฒนาวัคซีน โดยบางส่วนได้รับความร่วมมือมาแล้ว เช่น จีน ในการร่วมการวิจัย ซึ่งถ้าสำเร็จเราก็จะรับการถ่ายทอดเทคโนโลยี เพื่อผลิตเองในประเทศ แต่กว่าจะผลิตเองได้ต้องใช้เวลา ก็มีความตกลงว่า ไทยจะซื้อวัคซีนบางส่วนจากประเทศต้นทางเพื่อมาใช้ในช่วงสั้นๆ ก่อน ระหว่างรับถ่ายทอดเเทคโนโลยีพื่อผลิตเองให้เพียงพอ เพราะไม่มีประเทศใดผลิตให้เพียงพอคนทั้งโลกได้ ความร่วมมือจึงเป็นสิ่งจำเป็น และขยายการผลิตวัคซีนให้กว้างขวาง ไม่ว่าใครสำเร็จต้องสร้างความร่วมมือต่อกัน