xs
xsm
sm
md
lg

“วัคซีนโควิด” จุฬาฯ กระตุ้นภูมิสูง เจือจาง 500 เท่า ยังฆ่าไวรัสได้ เตรียมตรวจเลือดลิงต่อ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมวิทย์ เผยใช้วิธี PRNT ตรวจหาภูมิคุ้มกันในหนู หลังรับ “วัคซีนโควิด ต้นแบบจากจุฬาฯ ระบุนำเซรั่มหนูมาเจือจางในระดับต่างๆ ก่อนนำมาผสมกับไวรัสโควิด พบเจือจางเซรั่มหนูถึง 500 เท่า ก็ยังทำลายเชื้อไวรัสได้มากถึง 50% สะท้อนภูมิคุ้มกันสูง เตรียมตรวจเลือดในลิงต่อ หลังฉีดวัคซีนครบ 2 สัปดาห์

วันนี้ (7 มิ.ย.) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงการตรวจหาภูมิคุ้มกันในหนูหลังรับวัคซีนต้นแบบป้องกันโควิด-19 ว่า กรมฯ ได้ช่วยตรวจหาระดับภูมิคุ้มกันในหนูที่ได้รับวัคซีนต้นแบบ โดยวิธี plaque reduction neutralization test (PRNT) ซึ่งต้องทดสอบโดยใช้เชื้อไวรัสโควิด-19 ภายใต้ระดับความปลอดภัยทางชีวภาพระดับ 3 การทดลองโดยนำซีรั่มจากเลือดหนูที่ได้รับวัคซีนต้นแบบมาเจือจางที่ระดับต่างๆ กัน จากนั้นนำมาผสมกับไวรัสโควิด-19 ก่อนนำไปใส่ลงในเซลล์แล้วนำไปบ่มในอุณหภูมิที่เหมาะสมนาน 6 วัน แล้วจึงนำไปย้อมสีและตรวจนับจำนวนไวรัส ถ้าซีรั่มในเลือดไม่มีภูมิคุ้มกัน เซลล์ก็จะติดเชื้อ 100% แต่ถ้าเซรั่มในเลือดมีภูมิคุ้มกันสามารถป้องกันเชื้อได้ ไวรัสที่อยู่ในเซลล์ที่มีการติดเชื้อจะลดลงอย่างน้อย 50% ซึ่งภูมิคุ้มกันที่ได้ ไม่สามารถระบุได้แน่ชัดว่า สามารถป้องกันโรคได้ดีหรือไม่ เนื่องจากยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนและยอมรับ


นพ.โอภาส กล่าวว่า การดูภูมิคุ้มกันขึ้นดีหรือไม่ดีนั้น สามารถดูได้จากการเจือจางซีรั่ม ถ้าเจือจางมากและพบการทำลายเชื้อไวรัสโดยภูมิคุ้มกันในซีรั่มลดลง 50% แสดงว่า มีภูมิคุ้มกันสูงในหนู ซึ่งวัคซีนต้นแบบของคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ส่งมาให้กรมฯ ตรวจพบว่า สามารถเจือจางซีรั่มไปถึง 500 เท่า ยังสามารถทำลายเชื้อไวรัสได้ แสดงว่า ในซีรั่มหนูมีภูมิคุ้มกันสูงต่อไวรัสโควิด-19 ดังนั้น วัคซีนต้นแบบนี้จึงนำไปทดลองในลิง และหากได้ผลดีก็จะทดลองในคนต่อไป

นพ.โอภาส กล่าวว่า ส่วนประเด็นเรื่องของการจะได้ใช้วัคซีนเมื่อไรนั้น เป็นเรื่องของอนาคตยังไม่สามารถตอบได้ ซึ่งบางประเทศรายงานเร็วที่สุดต้นปี 2564 บางประเทศรายงานปลายปี 2564 ซึ่งการวิจัยพัฒนาวัคซีนไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ละขั้นตอนต้องทดสอบในสิ่งมีชีวิตทำให้ผลที่ได้มีความแปรปรวนของการทดสอบ จึงคาดการณ์ได้ยากว่า วัคซีนที่มีคุณภาพ มีความปลอดภัย และมีประสิทธิผลนั้นจะสำเร็จได้เมื่อใด อย่างไรก็ตาม เชื่อว่า ประเทศไทยมีศักยภาพทั้งบุคลากรและเทคโนโลยีที่ไม่ได้เป็นรองนานาชาติมากนัก โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยหรือหน่วยงานภาคอุดมศึกษาต่างๆ มีความพร้อม เพียงแต่เราไม่สามารถดำเนินการเพียงหน่วยงานเดียวได้อย่างครบวงจร จึงจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือกันในหลายภาคส่วน เพื่อให้ประเทศไทยสามารถพัฒนาและผลิตวัคซีนโควิด-19 จนประสบความสำเร็จได้


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 7 มิ.ย. จะมีการดำเนินการเจาะเลือดลิงที่รับวัคซีนต้นแบบป้องกันโควิด ซึ่งผ่านมาแล้ว 2 สัปดาห์ เพื่อนำส่งให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ตรวจวัดระดับภูมิคุ้มกันหลังรับวัคซีนว่า ภูมิคุ้มกันขึ้นดีหรือไม่อย่างไรต่อไป






กำลังโหลดความคิดเห็น