xs
xsm
sm
md
lg

เตือนคลินิกความงาม ควันจาก “เลเซอร์” เสี่ยงแพร่โควิด หลังเคยพบเชื้อหูดมาก่อน ย้ำต้องมีระบบดูดควัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สมาคมแพทย์ผิวหนังฯ ทำ 3 มาตรการจัดระเบียบ “คลินิกความงาม” สร้างความปลอดภัยคนไข้ และเจ้าหน้าที่จาก “โควิด” ชี้ หลายหัตถการเสี่ยงแพร่เชื้อ ทั้งเลเซอร์ที่ทำให้เกิดควัน พบมีงานวิจัยเลเซอร์สิวเจอไวรัสหูดในควัน การจี้ไฟฟ้า จี้ความเย็น ย้ำต้องมีเครื่องดูดควันระบายอากาศที่ดี พร้อมเผย 4 ความเสี่ยงอาจติดเชื้อในคลินิกได้

นพ.จินดา โรจนเมธินทร์ อุปนายกสมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย กล่าวในการจัดการเสวนาออนไลน์เรื่อง “มาตรการการจัดระเบียบคลินิกความงามหลังการปลดล็อก” ว่า สมาคมแพทย์ผิวหนังฯ วางแผนมาตรการจัดระเบียบคลินิกความงาม รองรับการปลดล็อก ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อความปลอดภัยของคนไข้และเจ้าหน้าที่ และลดความเสี่ยงของการทำหัตถการ ซึ่งหัตถการแต่ละอย่างมีระดับความเสี่ยงไม่เหมือนกัน ต้องแบ่งกลุ่มความเสี่ยงน้อยไปจนถึงเสี่ยงมาก

ศ.นพ.วรพงษ์ มนัสเกียรติ ประธานวิชาการสมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย กล่าวว่า มาตรการฉบับกลางนั้น ได้ร่วมประชุมกับกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) และผ่านการตรวจสอบจากผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อและไวรัสวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ถือว่าได้รับการกลั่นกรองมาแล้ว ทั้งนี้ ที่ต้องมีมาตรการจัดระเบียบ เนื่องจากหัตถการหลายอย่างมีความเสี่ยง มีข้อมูลรายงานว่า ควันที่เกิดจากการทำเลเซอร์ โดยเฉพาะเลเซอร์สิว ตรวจพบเชื้อไวรัสหูด ถึงแม้จะยังไม่มีการรายงานว่าพบเชื้อโควิด-19 เพราะปัจจุบันยังไม่มีการวิจัย แต่ก็ต้องปลอดภัยเต็มที่ไว้ก่อน ซึ่งควันในการทำเลเซอร์อาจจะทำให้เชื้อฟุ้งกระจายภายในคลินิกได้ ถ้าไม่มีการดูดควันที่ดีพอและได้มาตรฐาน เนื่องจากเชื้อโควิด-19 อยู่ได้นาน 2 ชั่วโมง-9 วัน ในอุณหภูมิห้อง ทำให้เชื้อสามารถแพร่กระจายได้ รวมไปถึงการทำหัตถการใดๆ ที่ทำให้เลือดกระเด็นออกมาได้ก็มีความเสี่ยงสูงเช่นกัน เพราะมีรายงานพบว่า สามารถตรวจพบเชื้อไวรัสได้ในเลือดของผู้ป่วยที่ยังไม่แสดงอาการ

ศ.นพ.วรพงษ์ กล่าวว่า การทำหัตถการด้านความงามเลเซอร์ หมอผิวหนังที่มีความเสี่ยง ได้แก่ 1. การปรึกษาที่ใช้เวลานานๆ กับคนไข้ 2. หัตถการที่เกิดควัน รวมไปถึงการจี้ไฟฟ้าหรือการจี้ความเย็น และเลเซอร์ที่เกิดควัน เช่น คาร์บอนไดออกไซด์เลเซอร์ เลเซอร์ที่ทำและมีควันฟุ้งกระจาย Q -switched laser หรือ piocosecond laser หรือแม้แต่เลเซอร์ที่กำจัดขนที่ทำตามร่างกาย 3. หัตถการที่ใช้เวลานาน เช่น การฉีดฟิลเลอร์หลายตำแหน่ง การกดสิวหลายตำแหน่ง ดังนั้น จากที่ประชุมต้องใช้เวลาในการทำหัตถการไม่เกิน 60 นาที หรือ 1 ชั่วโมง และ 4. หัตถการในช่องปาก ซึ่งเป็นหัตถการที่มีความอันตรายมากที่สุด ในที่ประชุมเราได้หารือถึงมาตรการในการจัดระเบียบเพื่อให้เกิดความปลอดภัยของทั้งแพทย์ บุคลากร และคนไข้ โดยแต่ละมาตรการมีดังนี้

1. มาตรการด้านผู้ป่วย ได้แก่ การคัดกรองทางโทรศัพท์ก่อนมาคลินิก เพื่อสอบถามอาการและประวัติเสี่ยง หากมีอาการคล้ายหวัด มีไข้ หรือมีประวัติใกล้ชิดกับผู้ป่วยโควิด หรือเดินทางไปสถานที่เสี่ยง ต้องขอให้ยกเลิกนัดไปก่อน คัดกรองหน้าคลินิก โดยมีการวัดอุณหภูมิ ให้สวมหน้ากาก ล้างมือก่อนเข้าคลินิก เปลี่ยนหรือคลุมรองเท้า จำกัดจำนวนผู้มาคลินิกที่ไม่ใช่ผู้ป่วยไม่เกิน 1 ท่าน ต้องตรวจ rapid test หรือ swab ไม่เกิน 48 ชั่วโมงก่อนทำหัตถการที่นานเกิน 60 นาที มีฉากใสกั้นเจ้าหน้าที่และผู้ป่วยที่จุดต้อนรับ จัดเก็บชื่อนามสกุล ที่อยู่ เลขที่บัตรประชาชน และเบอร์ผู้ป่วย จัดที่นั่งห่างกัน 1-2 เมตร ทำความสะอาดจุดที่อาจปนเปื้อนเชื้อบ่อยๆ เช่น หนังสืออ่านเล่น ของตกแต่ง หลังผู้ป่วยกลับทำความสะอาดเคาน์เตอร์ โต๊ะ เก้าอี้หรือเตียง กระจกส่องหน้า เป็นต้น

2. มาตรการด้านเจ้าหน้าที่ ได้แก่ ห้ามเดินทางต่างประเทศ ถ้ามีความจำเป็นต้องกักตัว 14 วันหลังกลับมาก่อนเข้าทำงาน คนที่ทำงานในคลินิกติดต่อกันหลายชั่วโมง จะต้องวัดอุณหภูมิอย่างน้อยวันละ 2 รอบ สวมหน้ากากตลอดเวลา ล้างมือบ่อยๆ ห้องทำหัตถการ ต้องคลุมเครื่องมือและโต๊ะด้วยพลาสติกและเปลี่ยนทุกครั้ง เจ้าหน้าที่ปฏิบัติการต้องสวมชุดและเครื่องมือป้องกันที่เหมาะสม เช่น ถุงมือ ชุดคลุม หมวกคลุมหัว แว่นตา หน้ากาก และ Face Shield ใช้เครื่องดูดควันทุกครั้งเมื่อทำหัตถการที่เกิดควันและเน้นย้ำให้ผู้ป่วยสวมหน้ากากในห้องเลเซอร์ทุกครั้ง หลังเสร็จหัตถการ ถอดทิ้งชุดและเครื่องมือป้องกันทุกอย่างอย่างถูกต้องถูกวิธี และล้างมือทุกครั้งหลังถอดถุงมือ

3. มาตรการด้านสถานที่ ได้แก่ ต้องคลุมเครื่อง โต๊ะ เตียงด้วยผ้าหรือพลาสติกที่เปลี่ยนได้ ทำความสะอาดด้วยน้ำยาที่ฆ่าเชื้อไวรัสโควิดได้ เช่น ethanol 62-71% หรือ hydrogen peroxide 0.5% หรือ sodium hypochlorite 0.1% ทำความสะอาดห้องน้ำทุกครั้ง ตั้งแต่ก๊อกน้ำ ชักโครก ฝารองนั่ง เมื่อมีการใช้งาน ต้องมีถังขยะเพื่อเก็บแยกขยะให้ดีและทิ้งตามระเบียบของกรมอนามัย การถอดทิ้งชุดและเครื่องมือป้องกันทำอย่างถูกต้องและปลอดภัย คัดแยก ทิ้งอุปกรณ์และขยะทางชีวภาพตามข้อบังคับของกรมอนามัย


กำลังโหลดความคิดเห็น