เมื่อเข้าสู่ยุคที่โลกกำลังจะกลายเป็น “Paperless” หรือ “ไร้กระดาษ” เข้าไปทุกที ทำให้ผู้คนมักไม่ค่อยได้เห็นลายมือกันซะแล้ว
ยิ่งถ้าเป็นเด็กรุ่นใหม่ที่โตมาเป็น Digital Native (พลเมืองยุคดิจิทัล) อาจจะได้เคยจับดินสอหรือดินสอสี และปากกาก็เพียงช่วงชั้นอนุบาลและประถมศึกษา แต่พอเข้าสู่มัธยมศึกษา ดูเหมือนการเรียนการสอนจะถูกออกแบบให้ใช้การพิมพ์ผ่านระบบคอมพิวเตอร์เป็นส่วนใหญ่ ยิ่งถ้าเป็นสังคมทำงาน ก็ใช้คอมพิวเตอร์แทบทั้งหมด จึงไม่ค่อยแปลกใจว่าทำไมลายมือของเด็กยุคดิจิทัลจึงออกแนวอ่านยาก อ่านไม่ออก
หรือภาษาของคนรุ่นพ่อรุ่นแม่ก็คือลายมือ “ไก่เขี่ย” นั่นเอง !
ยังนึกถึงบรรยากาศในยุคสมัยที่ยังไม่มีคอมพิวเตอร์ และเด็กนักเรียนยังต้องมีสมุดจดงานแทบทุกวิชา ซึ่งจะทำให้เรารู้ว่าเพื่อนคนไหนลายมือเป็นอย่างไร ใครลายมือสวยก็จะถูกมอบหมายให้เขียนบอร์ด และเป็นคนจดโน้ตสวย ๆ และจะได้รับความชื่นชมจากเพื่อน ๆ
เรียกว่าลายมือมีความสำคัญมากในยุคนั้น ถึงขนาดขั้นมีหมอดูมาดูลายมือในสมุด ประเภทลายมือบอกนิสัยกันเลยทีเดียว
ที่จริงแล้วการเขียนหนังสือด้วยลายมือหรือ “คัดลายมือ” หรือวิชา “คัดไทย” “คัดอังกฤษ” ยังมีความสำคัญอย่างมาก เพราะช่วยพัฒนาสมองด้วย ถึงขนาดวันที่ 23 มกราคม ของทุกปี ได้ถูกกำหนดให้เป็น “วันลายมือเขียนสากล” หรือ National Handwriting Day
งานวิจัยในนิตยสาร Colorado Parent เคยระบุว่านักเรียนที่เขียนหนังสือไม่คล่องในสหรัฐอเมริกามีจำนวนสูงราว 25-33 % ของนักเรียนทั่วประเทศ ทำให้เกิดคำถามว่า ในห้องเรียนของเด็กยุคนี้ การเขียนหนังสือด้วยลายมือนั้นยังจำเป็นหรือไม่
ผู้เชี่ยวชาญจะตอบว่าจำเป็น และมีงานวิจัยมากมายได้ออกมาระบุถึงความสำคัญของการเขียนหนังสือด้วยลายมือ ว่าเป็นเครื่องมือสำคัญในการเรียนรู้ของเด็ก เพราะสามารถช่วยส่งเสริมพัฒนาการด้านการรู้คิดของเด็ก ทั้งยังสร้างความมั่นใจในตัวเอง ทำให้มีผลการเรียนดีขึ้น มีทักษะด้านการอ่าน และช่วยจุดประกายความคิดสร้างสรรค์ พร้อมทั้งเป็นการฝึกฝนทักษะด้านการคิดวิพากษ์วิจารณ์อีกด้วย
จากแนวคิดนี้ทำให้มีการรณรงค์โดยใช้ชื่อว่า Fight for Your Write เพื่อส่งเสริมให้พ่อแม่และคุณครูเห็นความสำคัญของการเขียนด้วยลายมือผ่านทางเว็บไซต์ bicfightforyourwrite.com อีกด้วย
งานวิจัยหลายชิ้นจากอเมริกาช่วงหลายปีหลังมานี้ ทั้งด้านจิตวิทยาการเรียนรู้ (Cognitive Psychology) และด้านประสาทวิทยา (Neuroscience) ได้ศึกษาเรื่องการสอนคัดลายมือในระดับอนุบาลและประถมศึกษา พบว่าเป็นวิธีที่ช่วยทั้งเรื่อง สมาธิ ความจำ และสมองที่ได้ผล
เวลาที่เด็กหัดคัดลายมือ สมองจะได้รับการกระตุ้น และการคัดลายมือยังเป็นการใช้ทักษะอีกหลายอย่าง หลังการสแกนสมอง เขาพบว่าเด็กที่คัดลายมือบ่อย คัดได้ดีและสวย สมองมักมีปริมาณและความหนาแน่นของส่วนสมองเนื้อสีเทา (มีหน้าที่ควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อ และการให้ความรู้สึก ทั้งประ สาทสัมผัส ความนึกคิด ความจำ การเห็น การพูด การได้ยิน) ในสมองมากกว่าของเด็กทั่วไป นั่นหมายความว่าเด็กคนนั้นมีแนวโน้มจะฉลาดกว่าคนอื่นไปด้วย
เรื่องการเขียนหนังสือด้วยลายมือ เป็นส่วนหนึ่งของการฝึกทักษะทางภาษาของมนุษย์ ที่เริ่มจากการฟัง พูด อ่าน เขียน แต่ด้วยปัจจุบันการเขียนถูกปรับเปลี่ยนรูปแบบเป็นการพิมพ์ แล้วมันจะส่งผลต่อทักษะชีวิตของเด็กอย่างไร ทั้งที่มันมีประโยชน์มากมาย
หนึ่ง – ช่วยควบคุมความเคลื่อนไหวของประสาทสัมผัส
เพราะเวลาเขียนต้องมีการกะระยะ ต้องใช้ความสามารถด้านความสัมพันธ์ของตา แขน มือ นิ้ว หรือแม้แต่เด็กเล็ก การลากเส้นหรือระบายสีให้อยู่ในรูปภาพก็ต้องใช้ประสาทสัมผัสเช่นกัน รวมไปถึงความสามารถในการจำแนกตัวหนังสือกับตัวเลข ให้อยู่ในเส้นบรรทัด เด็กที่มีความบกพร่องทางด้านนี้จะส่งผลต่อการเขียน โดยเด็กจะเขียนตัวเล็ก หรือใหญ่เกินเส้นบรรทัด และจะส่งผลต่อเรื่องมิติสัมพันธ์
อีกทั้ง การเขียนด้วยปากกาและกระดาษช่วยเสริมสร้างการประสานของมือและตา เพราะต้องใช้สายตาในการบังคับการเขียนให้เป็นแนวทางเดียวกัน การเขียนด้วยมือ ยังช่วยให้เด็กเรียนรู้การสัมผัสและรับรู้อีกด้วย
สอง – พัฒนากล้ามเนื้อมือ
การจับดินสอช่วยพัฒนากล้ามเนื้อทั้งมัดเล็กมัดใหญ่ ถ้าเด็กเล็กก็จะได้ฝึกการจับดินสอ การฝึกความถนัดของตัวเอง เด็กที่ได้รับการฝึกฝนบ่อย ๆ จะเขียนได้คล่อง และสามารถพัฒนากล้ามเนื้อได้เต็มที่ ตรงกันข้ามถ้าเด็กที่ไม่ค่อยได้ฝึกการเขียน ก็จะขาดโอกาสในการพัฒนากล้ามเนื้อมือมัดเล็ก แม้อาจใช้เครื่องมือหรืออุปกรณ์อื่นๆ เช่น การปั้นแป้งโดว์ ฯลฯ แต่ก็มีรายละเอียดต่างกันไป
การเขียนด้วยมือช่วยพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็ก ช่วยพัฒนาทักษะในการใช้มือทั้งสองข้างของเด็กปฐมวัย ช่วยให้กล้ามเนื้อมัดเล็กแข็งแรงซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งในชีวิตประจำวัน พ่อแม่ ผู้ปกครองสามารถให้เด็กฝึกเขียนด้วยดินสอ สีเมจิก หรือปากกา แล้วแต่ว่าอุปกรณ์ชนิดไหนจะดึงดูดให้เด็กอยากเขียนมากที่สุด
สาม – ฝึกฝนเรื่องตัวสะกด
เมื่อเขียนบ่อย ๆ โอกาสสะกดพยัญชนะจะทำได้มากขึ้น เขียนได้คล่องขึ้น และจะทำให้มีคำคลังสะสมในสมองเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ปัจจุบันการใช้คอมพิวเตอร์ มีโปรแกรมในการช่วยสะกดคำด้วย ยิ่งถ้าเด็กใช้โปรแกรมนี้บ่อย ๆ จะทำให้ทักษะเรื่องภาษาไม่แข็งแรง
การเขียนด้วยลายมือช่วยให้การเขียนผิดพลาดน้อยลง การเขียนด้วยมือนั้นมีความประณีตกว่าการพิมพ์ เพราะคนเขียนจะมีเวลาไตร่ตรอง รวมถึงยังได้นึกถึงสำนวนและการวางประโยคที่สละสลวยกว่าการพิมพ์ที่เน้นในเรื่องของความเร็วเป็นหลัก ซึ่งอาจทำให้เกิดผิดพลาดบ่อยกว่าการเขียนด้วยลายมือ ทำให้ภาษาเขียนจากการพิมพ์ในบางครั้งอ่านไม่ราบรื่นเท่าที่ควร
สี่ – มีความคิดสร้างสรรค์
การเขียนหนังสือทำให้เราได้ฝึกคิด วิเคราะห์ เพราะต้องผ่านกระบวนการของสมองตั้งแต่รับข้อมูล การเรียบเรียง และการถ่ายทอด ล้วนแล้วต้องใช้ทักษะการคิดทั้งสิ้น
ห้า – พัฒนาสมองในส่วนความจำ
ถ้าต้องเลือกระหว่างการคัดลายมือ กับการพิมพ์ตัวหนังสือบนแป้นคีย์บอร์ด เราควรส่งเสริมเด็กเรื่องการเขียนด้วยมือก่อน เพราะการเขียนหรือการจดโน้ตสิ่งที่เรียนด้วยลายมือตัวเอง แทนที่จะใช้การพิมพ์ในคอมพิวเตอร์ จะทำให้เด็กจดจำสิ่งที่เรียนได้ดีกว่า และแน่นอนว่าดีกว่าการถ่ายรูปจากกระดานหรือจอด้วย นั่นเพราะขณะเขียนด้วยมือ สมองจะทำการประมวล และจัดเก็บไว้ในความจำได้ดีกว่า เมื่อต้องนำข้อมูลมาใช้ ก็ง่ายและเร็วกว่าด้วย
หก – ช่วยฝึกสมาธิ
การเขียนสามารถช่วยฝึกสมาธิเพราะช่วยให้เด็กได้คิดทบทวนสิ่งที่ต้องการเขียนก่อน แล้วจึงเขียนออกมาเป็นลายลักษณ์อักษรซึ่งช่วยให้เกิดความสงบและเกิดสมาธิ ทั้งยังช่วยผ่อนคลายความเครียด เพราะสมองต้องใช้ความคิด เพื่อถ่ายทอดออกมาเป็นตัวหนังสือ จึงทำให้ได้หยุดคิดเรื่องอื่น ๆ ทั้งนี้การเขียนเป็นตัวอักษรยังช่วยบรรเทาความอัดอั้นตันใจ เป็นวิธีการระบายความในใจได้อีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งสามารถช่วยปรับอารมณ์ให้ดีขึ้น การเขียนด้วยลายมือจึงไม่เคยล้าสมัยและเทคโนโลยีก็ไม่สามารถเข้ามาแทนที่ได้
สอดคล้องกับ ดร.มาร์ค ไซเฟอร์ (Marc Seifer) นักกราฟิก ผู้เชี่ยวชาญการเขียนด้วยลายมือ และผู้เขียนหนังสือ The Definitive Book of Handwriting Analysis ได้ระบุถึงประโยชน์ 6 ข้อในการเขียนด้วยลายมือ ดังนี้
ข้อ 1. ช่วยให้จิตใจสงบลง
ไซเฟอร์ได้เรียนรู้จากการเขียนด้วยลายมือของตัวเองว่า มันทำให้เขาสงบลงอย่างไม่น่าเชื่อ โดยเขาแบ่งเวลา 20 นาทีต่อวัน เขียนเรื่องอะไรก็ได้ เช่น ตอนเช้าเกิดอะไรขึ้นบ้าง ทบทวนเรื่องราวในวันนี้ เป็นต้น นั่นจะช่วยทำให้จิตใจสงบ และรักษาระบบสมองไปด้วยในตัว
ข้อ 2. ประสานสมองซีกซ้ายและขวา
การเขียนด้วยลายมือจะทำให้คุณสามารถประสานสมองด้านซ้ายและขวาให้ทำงานเท่ากันได้ ไซเฟอร์ให้ลองดูที่การคัดลายมือเป็นตัวอย่าง การลงมือเขียนและใช้ภาษาจะช่วยให้สมองซีกซ้ายตื่นตัว ส่วนความโค้งและหยักของตัวอักษรคือสุนทรียะทางศิลปะที่สมองซีกขวามอบให้ ซึ่งนั่นช่วยเสริมความคิดในการเขียนของเราให้สมบูรณ์มากขึ้น
ข้อ 3. เพิ่มทักษะความรู้และความเข้าใจ
สำหรับเด็กเล็ก การเขียนด้วยลายมือเป็นเครื่องมือที่จำเป็นสำหรับการพัฒนาทักษะทางด้านปัญญา ผู้ใหญ่ก็เช่นกัน การเขียนด้วยลายมือจะทำให้ไตร่ตรอง คิด และมีวิจารณญาณกับสารที่ส่งออกไปมากขึ้น เพราะการเขียนผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์และเทคโนโลยี จะเน้นที่ความรวดเร็วเป็นหลัก ความคิดที่ได้ออกมาอาจจะเบาบางกว่าการเขียนด้วยลายมือ
ข้อ 4. สร้างแรงบันดาลใจใหม่ ๆ
การเขียนด้วยลายมือมีกระบวนการความคิดและการลงมือที่ช้ากว่าการพิมพ์บนแป้นคีย์บอร์ดหลายเท่าตัว ทำให้เราอยู่กับตัวเอง จดจ่อกับสิ่งที่เขียน และมองภาพใหญ่ได้อย่างไม่หลุดเฟรม รวมถึงแตกย่อยความคิดและสิ่งที่เขียนได้กว้างขึ้น ซึ่งนั่นเป็นบ่อเกิดของความคิดสร้างสรรค์และแรงบันดาลใจอีกมากมาย เห็นได้จากนักเขียนหลายคนๆ เลือกเขียนงานลงบนกระดาษก่อนพิมพ์ทุกครั้ง
ข้อ 5. ความคิดและจิตใจคมชัดขึ้น
การเขียนด้วยลายมือเป็นเครื่องมือชั้นเยี่ยมสำหรับผู้อยู่ในยุคเบบี้บูมเมอร์ คนที่อยู่ในยุคนั้นจะเน้นการเขียนมากกว่าการใช้เทคโนโลยี ซึ่งนั่นช่วยให้ความคิดและจิตใจของพวกเขาคมชัดขึ้น เพราะถูกขัดเกลาจากการเขียนมาแล้วเป็นอย่างดี พูดง่าย ๆ คือการเขียนช่วยลับความคิดเราให้แกร่ง และเติมวุฒิภาวะของเราให้มากขึ้นนั่นเอง
ข้อ 6. ช่วยเพิ่มหน่วยความจำ
หลายคนคงเป็นเหมือนกันคือ ชอบเขียนเพราะจำได้ดีกว่าพิมพ์บนคอมพิวเตอร์ ซึ่งนั่นเป็นเรื่องจริง เพราะการเขียนจะใช้สมองหลายส่วนมากกว่าการพิมพ์ อีกทั้งนักจิตวิทยาหลายท่านลงความเห็นว่า การเขียนบางสิ่งด้วยมือมีผลต่อความจำระยะยาวของมนุษย์ การเขียนด้วยมือจึงเหมาะสำหรับเด็กที่กำลังเติบโต และผู้ใหญ่ที่ต้องใช้ความคิดเป็นประจำ
ในยุคดิจิทัลที่ทุกคนหันมาใช้เทคโนโลยีกันหมด เด็กนักเรียนก็ใช้คอมพิวเตอร์ แทบเล็ต โน็ตบุ๊ค มือถือเป็นตัวช่วยกันหมด เวลาจะเขียนโน้ตก็มักจะใช้วิธีพิมพ์มากกว่าที่จะจดในสมุด และมักจะพึ่งพิงการจดจำผ่านเทคโนโลยีมากกว่าที่จะจดจำด้วยสมองของตนเอง
ยุคแห่งการพึ่งพิงเทคโนโลยีที่ถูกสร้างโดยสมองของมนุษย์สามารถสร้างด้านที่รุ่งโรจน์สารพันให้กับมนุษยชาติ... แต่อีกด้านหนึ่ง เทคโนโลยีก็กำลังทำลายสมองอีกส่วนหนึ่งของมนุษย์เช่นกัน !