ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ตรวจระบบระบายน้ำเพื่อเตรียมความพร้อมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่กรุงเทพมหานคร กดปุ่มเดินเครื่องระบบ Pipe Jacking ถนนพหลโยธิน แก้ปัญหาน้ำท่วมแยกเกษตรศาสตร์ พร้อมจี้ รฟม.เร่งแก้ไขระบบระบายน้ำจากการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงแยกรัชโยธิน-แยกเกษตร สั่งเพิ่มกำลังสูบสถานีสูบน้ำตามแนวถนนวิภาวดีรังสิต รับน้ำเข้าระบบอุโมงค์ระบายน้ำใต้คลองบางซื่อ วางบ่อหน่วงน้ำ ซอยสุทธิพร 2 รองรับน้ำฝนถนนอโศก-ดินแดง
วันนี้ (28 พ.ค.) เมื่อเวลา 09.30 น. พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ตรวจระบบระบายน้ำเพื่อเตรียมความพร้อมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ประกอบด้วย โครงการก่อสร้างระบบระบายน้ำเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วม (Pipe Jacking) ถนนพหลโยธิน บริเวณแยกเกษตรศาสตร์ ระบบระบายน้ำที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงแยกรัชโยธิน-แยกเกษตร โครงการปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพระบบระบายน้ำตามแนวถนนวิภาวดีรังสิต เขตจตุจักร และโครงการก่อสร้างบ่อหน่วงน้ำใต้ดิน (Water Bank) บริเวณปากซอยสุทธิพร 2 เขตดินแดง โดยมีคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร สำนักการระบายน้ำ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้การต้อนรับและบรรยายสรุปผลการดำเนินงาน
เนื่องจากถนนพหลโยธิน บริเวณโดยรอบแยกเกษตรศาสตร์ มีการก่อสร้างระบบสาธารณูปโภค อาทิ อุโมงค์ทางลอด สะพานข้ามแยก และระบบสาธารณูปโภคใต้ดิน ซึ่งส่งผลกระทบทำให้ประสิทธิภาพในการระบายน้ำบริเวณดังกล่าวลดลง เมื่อฝนตกในปริมาณมากจึงประสบปัญหาน้ำท่วมขังบ่อยครั้ง กรุงเทพมหานคร โดยสำนักการระบายน้ำ จึงดำเนินโครงการก่อสร้างระบบระบายน้ำเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วม (Pipe Jacking) ถนนพหลโยธิน บริเวณแยกเกษตรศาสตร์ เขตจตุจักร เริ่มต้นสัญญาวันที่ 10 ก.พ. 61 สิ้นสุดสัญญาวันที่ 7 ก.ย. 62 ระยะเวลาก่อสร้าง 575 วัน ประกอบด้วย ก่อสร้างท่อระบายน้ำ ค.ส.ล. เส้นผ่านศูนย์กลาง 1.80 ม. ความยาว 1,325 ม. ด้วยวิธีดันท่อ ก่อสร้างท่อลอดเหล็กเหนียว เส้นผ่านศูนย์กลาง 1,200 มม. ความยาว 76 ม. ด้วยวิธีดันท่อ ก่อสร้างท่อลอดเหล็กเหนียว เส้นผ่านศูนย์กลาง 1,800 มม. ความยาว 206 ม. ก่อสร้างบ่อสูบน้ำ ค.ส.ล. จำนวน 1 บ่อ ก่อสร้างบ่อดันท่อ จำนวน 8 บ่อ ก่อสร้างบ่อรับ จำนวน 2 บ่อ งานรางระบายน้ำ ค.ส.ล. รูปตัวยู ความยาว 80 ม. พร้อมทั้งก่อสร้างบ่อสูบน้ำบริเวณถนนประเสริฐมนูกิจ ตอนลงคลองลาดพร้าว กำลังสูบ 4.50 ลบ.ม./วินาที ปัจจุบันโครงการก่อสร้างระบบระบายน้ำถนนพหลโยธิน บริเวณแยกเกษตรศาสตร์ ได้ดำเนินการแล้วเสร็จ สามารถป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขัง บรรเทาความเดือดร้อนแก่ประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนนในการสัญจรและประชาชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณดังกล่าว
ในส่วนของระบบระบายน้ำที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงแยกรัชโยธิน-แยกเกษตร เนื่องจากช่องรับน้ำฝนและฝาท่อระบายน้ำถูกทับจากการปูผิวจราจรแอสฟัลต์ทำให้มีขนาดเล็กลง ประกอบกับบ่อพักในผิวจราจรมีเศษวัสดุก่อสร้างตกหล่นอยู่ในบ่อพักเป็นจำนวนมาก โดยแนวทางการแก้ไขได้ประสานการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ดำเนินการเปิดช่องรับน้ำฝน ยกขอบบ่อพักท่อระบายน้ำ เก็บเศษวัสดุภายในบ่อพัก ก่อสร้างรางระบายน้ำรูปตัวยู เปิดฝาบ่อพักที่โดนปิดทับ ทั้งนี้ ได้มอบหมายสำนักการโยธาเร่งติดตามการดำเนินการแก้ไขให้แล้วเสร็จโดยเร็ว
สำหรับโครงการเพิ่มประสิทธิภาพระบบระบายน้ำบริเวณถนนวิภาวดีรังสิต เนื่องจากถนนวิภาวดีรังสิตเดิมอยู่ในพื้นที่รับผิดชอบของกรมทางหลวง ต่อมาเมื่อปี 2542 กรมทางหลวงได้มอบให้กรุงเทพมหานครดูแลรับผิดชอบระบบระบายน้ำบริเวณคูน้ำตามแนวถนนวิภาวดีรังสิตทั้ง 2 ฝั่ง ทั้งนี้สถานีสูบน้ำตามแนวถนนวิภาวดีรังสิตได้เปิดใช้งานมาเป็นระยะเวลายาวนาน อัตรากำลังสูบน้ำที่มีอยู่เดิม 59 ลบ.ม./วินาที ทำให้ไม่สามารถระบายน้ำได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ สำนักการระบายน้ำจึงดำเนินโครงการปรับปรุงสถานีสูบน้ำตามแนวถนนวิภาวดีรังสิต จำนวน 15 สถานี โดยดำเนินการปรับปรุงแล้วเสร็จ 9 สถานี อัตรากำลังสูบน้ำรวม 90 ลบ.ม./วินาที สำหรับสถานีสูบน้ำที่อยู่ระหว่างดำเนินการปรับปรุง ได้แก่ สถานีสูบน้ำคลองบางซื่อขาเข้าฝั่งใต้ คาดว่า จะแล้วเสร็จในเดือน มิ.ย.นี้ โดยจะเพิ่มอัตรากำลังสูบน้ำเป็น 92 ลบ.ม./วินาที เมื่อโครงการปรับปรุงสถานีสูบน้ำตามแนวถนนวิภาวดีรังสิตแล้วเสร็จทั้งหมด 15 สถานี จะเพิ่มอัตรากำลังสูบน้ำจาก 92 ลบ.ม./วินาที เป็น 110 ลบ.ม./วินาที สามารถระบายน้ำลงสู่คลองบางซื่อ คลองลาดยาว คลองบางเขน คลองวัดหลักสี่ ระบายออกสู่คลองเปรมประชากร และอีกส่วนหนึ่งระบายออกคลองลาดพร้าว ตลอดจนช่วยรองรับน้ำบริเวณคูน้ำตามแนวถนนวิภาวดีรังสิต ทั้งฝั่งขาเข้าและฝั่งขาออกเข้าสู่ระบบอุโมงค์ระบายน้ำใต้คลองบางซื่อ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 5.00 ม. ความยาว 6.40 กม. กำลังสูบ 60 ลบ.ม./วินาที ได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำชนิดเครื่องยนต์ดีเซลและแบบไฮดรอลิกเสริม 10 เครื่อง กำลังสูบน้ำรวม 20 ลบ.ม./วินาที ตามสถานีสูบน้ำตลอดแนวถนนวิภาวดีรังสิต และติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้า 3 แห่ง รวมถึงประสานกรมทางหลวงดำเนินการขุดลอกคูน้ำตลอดแนวถนนวิภาวดีรังสิตทั้ง 2 ฝั่ง เพื่อเปิดทางน้ำไหลเข้าสู่ระบบสถานีสูบน้ำได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ เตรียมพร้อมรองรับสถานการณ์ฝนในปีนี้
ทั้งนี้ ถนนอโศก-ดินแดง ช่วงตั้งแต่ซอยตระกูลสุข ถึงซอยขวัญพัฒนา เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำมีลักษณะเป็นแอ่งกระทะ เมื่อเกิดฝนตกในปริมาณมากทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมขัง ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนนและผู้ที่อาศัยอยู่ในบริเวณดังกล่าว อีกทั้งส่งผลกระทบต่อปัญหาการจราจรในพื้นที่ใกล้เคียง ที่ผ่านมาสำนักการระบายน้ำได้แก้ไขปัญหาในระยะเร่งด่วน โดยก่อสร้างรางระบายน้ำ (Gutter) บริเวณปากซอยสุทธิพร 2 เพื่อเร่งระบายน้ำท่วมขังบริเวณถนนอโศก-ดินแดง สำหรับในระยะยาวได้ดำเนินงานก่อสร้างบ่อหน่วงน้ำใต้ดิน (Water Bank) ปากซอยสุทธิพร 2 ถนนอโศก-ดินแดง เขตดินแดง เริ่มต้นสัญญาวันที่ 12 ธ.ค. 61 สิ้นสุดสัญญาวันที่ 5 ส.ค. 62 ระยะเวลาก่อสร้าง 237 วัน ประกอบด้วย ก่อสร้างบ่อรับน้ำใต้ดินและติดตั้งระบบสูบน้ำขนาด 1.25 ลบ.ม./วินาที พร้อมอุปกรณ์ จำนวน 1 แห่ง ก่อสร้างท่อเหล็กขนส่งน้ำ เส้นผ่านศูนย์กลาง 0.80 ม. ความยาว 400 ม. สร้างรางระบายน้ำ ค.ส.ล. ความยาว 360 ม. ปัจจุบันบ่อหน่วงน้ำใต้ดิน (Water Bank) ปากซอยสุทธิพร 2 ดำเนินการแล้วเสร็จ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการระบายน้ำ รวมถึงป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังถนนอโศก-ดินแดง ช่วงจากสี่แยกประชาสงเคราะห์ถึงซอยขวัญพัฒนาและพื้นที่ใกล้เคียง สำหรับรูปแบบการทำงานของบ่อหน่วงน้ำใต้ดิน (Water Bank) จะเริ่มจากการก่อสร้างบ่อเก็บน้ำขนาดใหญ่ไว้ใต้ดิน เพื่อรองรับน้ำฝนในช่วงเวลาที่ฝนตกเข้ามากักเก็บไว้ที่บ่อเก็บน้ำ โดยการเชื่อมท่อระบายน้ำเข้ากับท่อระบายน้ำเดิมหรืออาจจะวางท่อระบายน้ำใหม่จากบ่อเก็บน้ำไปยังคลองโดยตรง พร้อมทั้งติดตั้งเครื่องสูบน้ำ เมื่อฝนหยุดตกและระดับน้ำในคลองลดต่ำลง จะระบายน้ำออกจากบ่อเก็บน้ำลงสู่คลองในพื้นที่ รวมถึงสามารถเร่งระบายน้ำจากบ่อเก็บน้ำ เมื่อเกิดฝนตกหนักต่อเนื่องและปริมาณน้ำเกินความจุของบ่อเก็บน้ำ กล่าวคือ บ่อหน่วงน้ำใต้ดิน (Water Bank) สามารถใช้เป็นทั้งแก้มลิงรับน้ำฝน และใช้เป็นบ่อสูบน้ำกรณีที่ฝนตกหนักอย่างต่อเนื่อง
“กรมอุตุนิยมวิทยาได้ออกประกาศว่า ฤดูฝนในปีนี้ จะเริ่มตั้งแต่กลางเดือน พ.ค. 63 เป็นต้นไป วันนี้คณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ได้ลงพื้นที่ตรวจระบบระบายน้ำ เพื่อเตรียมความพร้อมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขัง จุดแรกที่มาตรวจ คือ Pipe Jacking ถนนพหลโยธิน ซึ่งเป็นระบบท่อลอดใต้ดินที่ดึงน้ำท่วมขังบริเวณแยกเกษตร ระบายลงสู่คลองลาดพร้าว จุดที่ 2 เป็นจุดที่มีการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเขียว ซึ่งกระทบต่อระบบระบายน้ำ การก่อสร้างบางส่วนไปปิดกั้นทางน้ำไหล จากการหารือกับ รฟม. ได้รับการยืนยันว่า จะเร่งดำเนินการแก้ไขให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 15 มิ.ย.นี้ จุดที่ 3 เป็นลำรางระบายน้ำตามแนวถนนวิภาวดีรังสิต ซึ่งกรมทางหลวงได้ขุดลอกดินที่ขวางทางน้ำออก เพื่อเปิดทางให้น้ำไหลได้สะดวก คาดว่า ประมาณ 2 อาทิตย์ จะดำเนินการแล้วเสร็จ จุดสุดท้ายคือ บ่อหน่วงน้ำ หรือ Water Bank บริเวณปากซอยสุทธิพร 2 แก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังถนนอโศก-ดินแดง ซึ่งระบบที่กล่าวมาทั้งหมด จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพระบบระบายน้ำในพื้นที่กรุงเทพมหานคร แต่เดิมมีจุดเสี่ยงน้ำท่วม 17 จุด ขณะนี้เหลืออยู่ 14 จุด ที่ยังดำเนินการแก้ไขไม่ได้ อาทิ บริเวณด้านหน้าศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก เนื่องจากเป็นพื้นที่แอ่งกระทะ สำนักการระบายน้ำจึงได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพิ่มเติมตามจุดเสี่ยงทั้งหมด นอกจากนี้ บางพื้นที่มีท่อระบายน้ำขนาดเล็ก หากมีฝนตกในปริมาณ 60 มม./ชม. อาจทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมได้เช่นเดียวกัน แต่หลังจากสำนักการระบายน้ำได้ดำเนินการปรับปรุงแก้ไข ทำให้ใช้ระยะเวลาในการระบายน้ำเร็วขึ้นกว่าเดิม” ผู้ว่าฯ อัศวิน กล่าว