สธ.เผย ไทยเริ่มเจอผู้ป่วย “โควิด” ประปราย กลับไปเหมือนช่วง ก.พ.- ต้น มี.ค. ชี้ ต้องคงอัตราผู้ป่วยรายใหม่ต่ำกว่า 5 คนต่อ 1 ล้านคนต่อวัน ไปเรื่อยๆ ช่วยให้ไม่ต้องปิดๆ เปิดๆ เมือง หากอัตราป่วยสูงกว่านี้อาจต้องเพิ่มมาตรการ เตือนคนไทยการ์ดตก ทั้งป้องกันตนเอง ทำงานที่บ้านน้อยลง เหลื่อมเวลาทำงานไม่ดี พบรถไฟฟ้าคนแน่น โดยเฉพาะสถานีย่านออฟฟิศ ขอความร่วมมือทำงานที่บ้านเพิ่มขึ้น
วันนี้ (25 พ.ค.) นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ขณะนี้สถานการณ์ผู้ป่วยโควิด-19 ของประเทศไทย มีจำนวนผู้ป่วยในประเทศค่อนข้างน้อย แนวโน้มเจอผู้ป่วยประปรายเป็นระยะๆ จากเดิมที่เจอวันละ 100 คน ก็เลยวันละไม่กี่คน ถ้ายังคงแนวโน้มลักษณะจำนวนผู้ป่วยอย่างนี้ต่อไป ก็จะยังคงสภาวะของการมีการแพร่ระบาดในวงจำกัดต่อเนื่องต่อไปในระยะยาว ซึ่งเป็นภาพที่เราอยากจะเห็น ไม่อยากเห็นผู้ป่วยกลับมาเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ สภาพตอนนี้จะคล้ายสถานการณ์การพบผู้ป่วยเหมือนช่วง ก.พ.ถึงต้น มี.ค. ที่มีผู้ป่วยจำนวนน้อย แต่ที่แตกต่างคือ ลักษณะการป้องกันตัวของคนไทยดีขึ้นกว่าช่วงต้นมี.ค.มาก เนื่องจากคนไทยใส่หน้ากากมากขึ้น ออกมานอกบ้านน้อยลง และตอนนี้เราไม่มีการรวมตัวกันของคนเยอะๆ ซึ่งโอกาสเกิดคลัสเตอร์ใหญ่ๆ ก็คือ ที่ที่รวมตัวกันเยอะๆ
นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า แต่ตอนนี้เริ่มพบปัญหาคือมาตรการหย่อนลง ทั้งการป้องกันตัวส่วนบุคคล และมาตรการองค์กร ที่การทำงานที่บ้าน (Work From Home) ยังน้อย และการเหลื่อมเวลาทำงานยังไม่ดี ซึ่งล่าสุด ได้พูดคุยกับผู้แทนของบีทีเอส ก็พบว่า สภาพรถไฟฟ้าขณะนี้มีผู้ใช้บริการกลับเข้ามามากขึ้น หลังจากผู้ใช้บริการลดลงอย่างมากช่วงปิดเมือง และให้ทำงานที่บ้าน แต่ตอนนี้เริ่มเพิ่มแล้ว โดยเฉพาะชั่วโมงเร่งด่วน มีผู้โดยสารมาใช้บริการสถานีค่อนข้างมาก เกินศักยภาพแต่ละเที่ยวที่รับผู้โดยสารได้ เช่น สถานีศาลาแดง ที่เป็นโซนย่านออฟฟิศ บางคนรอรถไฟฟ้าครึ่งชั่วโมง นั่งเพียง 10 นาที ดังนั้น พื้นที่โซนออฟฟิศและหน่วยงานต่างๆ ควรให้ความร่วมมือเรื่องทำงานที่บ้านและเหลื่อมเวลามากขึ้น ซึ่งก็ไม่มีกฎหมายไหนบังคับให้เอกชนทำงานที่บ้านได้ นอกจากนี้ รพ.ที่ยังมีผู้ป่วยแน่น ก็ควรจัดเรื่องการลดความแออัดและการเว้นระยะห่างด้วย
“ในสภาวะแบบนี้ไม่อยากให้ประเทศต้องเปิดๆ ปิดๆ อยากให้ผู้ป่วยอยู่ในระดับต่ำแค่นี้ต่อไป ระดับต่ำแค่ไหนที่จะไม่ไปปิดไปเปิด ข้อเสนอของทีมที่ปรึกษาคือ ต่ำกว่า 5 คนต่อ 1 ล้านคนต่อวันไปตลอดเรื่อยๆ แต่ถ้ามากกว่านี้ มาตรการอื่นๆ ก็ต้องกลับมา อย่าง กทม.ที่มีประชากร 8 ล้านคน ถ้ายังมีผู้ป่วย 40 ราย ก็ถือว่าอยู่ในวงจำกัด” นพ.ธนรักษ์ กล่าวและว่า สำหรับผู้ป่วยระดับวิกฤต คือ คนไข้ล้น รพ. เกณฑ์คร่าวๆ คือ ผู้ป่วยมากกว่า 10 คนต่อล้านคนนานกว่า 14 วัน อย่าง กทม.ถ้ามีคนไข้เกิน 80 คน เกิน 14 วันก็เตรียมตัวได้ หรือเกิน 15 คนต่อล้านคนต่อวันแค่ครั้งเดียว ก็ถือว่าวิกฤต อย่างไรก็ตาม กทม.ช่วงที่พีกสุดมีผู้ป่วยประมาณไม่เกิน 100 ราย