xs
xsm
sm
md
lg

สสส.ระดมความคิดออกแบบคู่มือปฏิบัติตัว New Normal 12 กิจการ ลดเสี่ยงโควิด เปิดเมืองปลอดภัย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สสส. ระดมความคิดออกแบบ 2 คู่มือ “มนุษย์โควิด” ป้องกันตนเองห่างจากโรค และคำแนะนำ 12 ประเภทกิจการ บอกวิธีปฏิบัติตัวป้องกันตนเองทั้งผู้ให้บริการ ผู้รับบริการ ในการลดความเสี่ยงจากโรคโควิด-19 ทั้งตลาด ร้านอาหาร รถไฟฟ้า วินมอเตอร์ไซค์ ร้านสะดวกซื้อ ฯลฯ มุ่งสู่ชีวิตวิถีใหม่แบบปลอดภัย

วันนี้ (10 พ.ค.) นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และรักษาการ ผอ.สำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. กล่าวว่า สสส. ร่วมกับเครือข่าย THAI SAFE NETWORK บริษัท ลูกคิด (Lukkid) จำกัด สถาบันวิจัยเพื่อการพัมนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) บริษัท สคูลดิโอ จำกัด และ Eureka Global จัดทำคู่มือสู้โควิดในชีวิตจริง ซึ่งผ่านการคิดเชิงออกเเบบ เเละการคิดเชิงระบบ มาร่วมสร้างต้นเเบบบนพื้นฐานความรู้ด้านระบาดวิทยา ออกมาจำนวน 2 ชุด ได้แก่ ชุด “มนุษย์โควิด ตอน เปิดเมืองให้ป(ล)อด” และชุด “คำแนะนำ 12 ประเภทกิจการ” เพื่อเป็นการดำเนินชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) อย่างเข้าใจง่าย


นพ.ไพโรจน์ กล่าวว่า คู่มือชุดมนุษย์โควิด นำเสนอแนวทางป้องกันตนเองให้ห่างจากโรค วิธีการดูแลตนเอง การประเมินสุขภาพ อาการของคนที่เสี่ยงเป็นมนุษย์โควิด ส่วนชุดคำแนะนำ 12 ประเภทกิจการ นำเสนอวิธีการป้องกันตนเองลดความเสี่ยงการติดเชื้อในแบบที่เรียกว่า เปิดเมืองให้ปลอดโรค ด้วย 12 ตัวอย่าง ได้แก่ ตลาดสด ร้านอาหาร ร้านสะดวกซื้อ กิจกรรมสันทนาการ ร้านตัดผม ร้านบริการตัดแต่งขนสัตว์เลี้ยง สนามกอล์ฟ สนามกีฬา การเดินทาง ทั้งรถโดยสารสาธารณะ เรือ เครื่องบิน มอเตอร์ไซค์รับจ้าง และรถไฟฟ้า จึงหวังอย่างยิ่งว่าคู่มือทั้ง 2 ฉบับจะเป็นแนวทางดำเนินวิถีชีวิตใหม่ ชีวิตดี เริ่มที่เรา

นพ.ไพโรจน์ กล่าวว่า คำแนะนำที่ทำ 12 กิจการในการเปิดเมือง มาจากหลักการใหญ่ คือ ล้างมือ ไม่จับหน้าตา ทำความสะอาดบ่อยๆ และลด 4 พฤติกรรมเสี่ยง คือ ลดความหนาแน่น ลดการพูดคุย ลดระยะเวลา และลดที่ปิดที่ไม่จำเป็น แล้วนำมาออกแบบคู่มือ 12 กิจการ ยกตัวอย่าง 1. ตลาด แผงลอย เช่น จุดขายจัดพื้นที่ให้สลับกัน ไม่ชิดกัน เตรียมเจลแอลกอฮอล์คนขาย-ลูกค้า จัดพื้นที่โปร่งถ่ายเทสะดวก มีนาฬิกาคอยเตือน เวลาอยู่ในร้านล้างมือ รักษาระยะห่าง 1-2 เมตร หยิบจับอะไรต้องล้างมือ ระหว่างซื้อขายการจ่ายเงินอาจมีตะกร้าเป็นจุดกลางแลกเปลี่ยน ลดการส่งระหว่างกัน เพื่อลดการใกล้ชิดกัน มีแผงกั้นอาจเป็นพลาสติกก็ได้ หลังซื้อขายร้านก็ทำความสะอาดทุก 1 ชั่วโมง มีแอลกอฮอล์ทำความสะอาดล้างมือ

2. ร้านอาหาร เช่น รักษาระยะห่าง 1-2 เมตร เตรียมแอลกอฮอล์พื้นที่ล้างมือ ใส่หน้ากาก คัดกรองการป่วย เข้าร้านแล้วต้องดูการปรุงของแม่ครัว ใช้ช้อนชิมช้อนตักไม่ให้ใช้ร่วมกัน ใส่ถุงมือขณะปรุงอาหาร คิดเงินอาจใช้ระบบโอนเงิน หากจ่ายเงินสดก็ลดการสัมผัสผ่านตัวกลางวางในถาดหรือตะกร้า และล้างมือหลังเสร็จสิ้น ทำความสะอาดทุก 1 ชั่วโมง


3. รถไฟฟ้า เช่น ก่อนขึ้นรถไฟฟ้าทำความสะอาดล้างมือ เข้าคิวขึ้นรถรักษาระยะห่าง 1-2 เมตร จุดแลกเหรียญมีโอกาสถ่ายทอดเชื้อได้ ถ้าหันมาใช้บัตรส่วนตัวก็ลดโอกาสแพร่เชื้อ เวลาขึ้นรถโดยสารใส่หน้ากาก รักษาระยะห่างตลอด แม้จะแออัดบ้างก็ต้องพยายามลดความหนาแน่นให้ห่าง 1-2 เมตร หยิบจับอะไรก็ล้างมือ ระหว่างโดยสารลดการพูดคุย ทั้งโทรศัพท์ พูดคุยกับเพื่อน เพราะเกิดละอองฝอยได้ ออกจากรถแล้ว รถไฟฟ้าก็ต้องทำความสะอาดถี่ขึ้น

4. วินมอเตอร์ไซค์ เช่น หากป่วยควรอยู่บ้าน คนขับวินก็เช่นกัน ระหว่างรอขึ้นรถต้องรักษาระยะห่าง 1-2 เมตร ใส่หน้ากาก การใส่หมวกกันน็อก ถ้าใส่ถูกต้องถูกวิธี คือ การใส่เฟซชิลด์ ร่วมกับใส่หน้ากาก ล้างมือก่อนโดยสาร ขึ้นรถแล้วลดการพูดคุย เวลาซ้อนรถมอเตอร์ไซค์ พยายามไม่ไปขยี้หูตา ไอจาม หลังลงรถแล้วคงต้องล้างมือและจ่ายเงิน ถ้ามีทางเลือกดิจิทัล หลายวินก็จ่ายดิจิทัลได้ ส่วนวินเองก็เตรียมตัวร่วมด้วย เช่น ระหว่างรอผู้โดยสาร ลดการจับกลุ่มพูดคุย รักษาระยะห่างแต่ละคัย สวมหมวกกันน็อก สวมถุงมือ


น.ส.เมษ์ ศรีพัฒนาสกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านกระบวนการคิดเชิงออกแบบ บริษัท ลูกคิด (Lukkid) จำกัด กล่าวว่า การออกแบบคู่มือทั้ง 2 ชุด มีกระบวนการคิด 3 ขั้นตอน คือ 1. เข้าใจกลุ่มเป้าหมาย โดยสำรวจผ่านทางออนไลน์และลงพื้นที่สัมภาษณ์ 2. ระดมไอเดียความคิดจากส่วนรวม ผ่านรายการสดทางช่อง youtube และ 3. ถอดองค์ความรู้จากการแสดงความคิดเห็นของกลุ่มเป้าหมายมาปรับใช้ในการออกแบบ นำเสนอในรูปแบบอินโฟกราฟิก มีภาพประกอบทุกขั้นตอนทำให้ประชาชนสามารถเข้าใจได้ง่าย สามารถนำไปปรับใช้ได้ในชีวิตจริง

ทั้งนี้ สามารถดาวน์โหลดคู่มือสู้โควิดในชีวิตจริง “มนุษย์โควิด ตอน เปิดเมืองให้ป(ล)อด” ได้ที่ https://drive.google.com/open?id=1peOTDqlw_rvrReia8Vvkz3-3C1xTAE80 และสามารถติดตาม “คำแนะนำ 12 ประเภทกิจการ” ได้ที่แฟนเพจเฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/thaidotcare/


กำลังโหลดความคิดเห็น