ศบค.เผย นายกฯ สั่งทุกหน่วยราชการ-รัฐวิสาหกิจ รายงานผลการทำงานที่บ้าน-เหลื่อมเวลาทำงาน หลังมีมติ ครม. หวังลดความแออัดขนส่งมวลชน หลังยังเห็นภาพคนแน่นรถไฟฟ้า บางหน่วยงานเหลื่อมเวลาทำงานแค่ 30 นาที ย้ำ ทำงานที่บ้านต้องมากกว่า 50% มอบรองวิษณุกำกับดูแล
วันนี้ (7 พ.ค.) นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) กล่าวว่า ในการประชุม ศบค. มีการหารือหลายเรื่อง โดยข้อสรุปที่เห็นตรงกัน คือ 1. การเหลื่อมเวลาทำงาน โดยพบว่า ภาคราชการมีการให้เหลื่อมเวลาทำงานเพียง 30 นาที อาจไม่เพียงพอ คงต้องเหลื่อมหลายช่วงเวลา โดยให้ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ที่ดูแลสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ลงมากำกับจะทำให้เหลื่อมเวลาทำงานมากขึ้นได้หรือไม่ เพื่อไม่ให้เกิดการไปแออัดในสถานที่ขนส่งมวลชน
2. การทำงานที่บ้าน (Worfk From Home) เป็นนโบบายของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่าจะต้องให้เกิดมากที่สุด คือ 50% หรือมากกว่านี้ จะช่วยลดการเคลื่อนย้ายคนได้
3. สถานศึกษามีการเตรียมการขยายเปิดเรียนออกไป ใช้เทคโนโลยีในการเรียนการสอน เช่น การสอนผ่านโทรทัศน์ดาวเทียม ออนไลน์ ส่วนที่จำเป็นคือการทดลองทดสอบในห้องปฏิบัติการก็ต้องพัฒนารูปแบต่างๆ ออกไป
“นายกฯ พูดถึงการเดินทางของคน กทม.มีจำนวนมาก โดยสั่งการให้ทุกหน่วยราชการและรัฐวิสาหกิจรายงานเรื่องการทำงานที่บ้านและการเหลื่อมเวลาการทำงานขึ้นมาว่าดำเนินการเป็นอย่างไร เพราะมีมติ ครม.ไปแล้ว เพื่อให้การเคลื่อนย้ายของคนเป็นไปตามนโยบาย ครม.” นพ.ทวีศิลป์ กล่าว
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า สำหรับประเด็นการปิดสถานดูแลผู้สูงอายุ ทำให้ผู้จำเป็นต้องรับการดูแลได้รับผลกระทบ ทั้งนี้ สถานดูแลผู้สูงอายุมี 2 ประเภท คือ ค้างคืนอยู่หลายวันเป็นเดือน ซึ่งคนติดเตียงจำเป็นอย่างมากต้องได้รับการดูแล และประเภทไปกลับ ซึ่งส่วนของไปกลับยังคงขอให้ปิด เพราะมีส่วนแพร่เชื้อได้ ในการพาไปพามา ส่วนนอนค้างคืนมีการพูดคุยปรึกษากัน แต่คงต้องไปดูเพื่อไม่ให้ขัดกับกฎหมาย เช่นเดียวกับร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ เช่น วัสดุก่อสร้าง ร้านขายเฟอร์นิเจอร์ที่ตั้งเป็นเอกเทศ ประกันภัยในห้าง ซึ่งชาวบ้านจำเป็นไปซื้อหาวัสดุอุปกรณ์ จากผลกระทบพายุฤดูร้อน ก็ต้องไปดูในเชิงข้อกฎหมายเช่นกัน