อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เผยผลตรวจเลือด “หนูทดลอง” หลังรับวัคซีนต้านโควิดต้นแบบจากจุฬาฯ พบภูมิคุ้มกันหรือแอนติบอดีขึ้นได้ผลดี จุฬาฯ เตรียมศึกษาการฉีดหลายรูปแบบ ค่อยศึกษาในสัตว์ใหญ่และในคน ถึงความปลอดภัย กระตุ้นภูมิและป้องกันโรคได้หรือไม่
วันนี้ (6 พ.ค.) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงความคืบหน้าการวิจัยและพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด-19 ว่าขณะนี้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่พัฒนาวัคซีนชนิดดีเอ็นเอเพื่อป้องกันโรคโควิด ได้ดำเนินการทดลงฉีดวัคซีนในหนูทดลองแล้ว และนำเลือดของหนูทดลองมาให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ตรวจว่ามีภูมิคุ้มกันหรือแอนติบอดีขึ้นหรือไม่ ผลการตรวจของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ออกมาพบว่าหนูทดลองที่รับการฉีดวัคซีนต้นแบบ มีแอนติบอดีขึ้นค่อนข้างดี ให้ผลน่าพอใจ แต่จะป้องกันเชื้อโควิดได้หรือไม่เป็นอีกเรื่องที่ต้องศึกษาต่อไป
นพ.โอภาสกล่าวว่า ในระยะถัดไปจะมีการทดลองฉีดวัคซีนต้นแบบนี้ในหนูทดลองหลายๆ รูปแบบ ดูว่าแบบไหนกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดีที่สุด เช่น ฉีด 1 เข็ม หรือ 2 เข็ม แล้วเอามาตรวจซ้ำจนแน่ใจ แล้วจะเอาวัควีนต้นแบบที่ผลิตขึ้นไปทดสอบในสัตว์ใหญ่ขึ้น เช่น ลิง เมื่อแน่ใจความปลอดภัยแล้วก็จะฉีดทดลองในมนุษย์ต่อไป ซึ่งก็ถือว่าดำเนินการได้เร็วในเวลา 1 เดือน แม้อาจจะไม่ทันจีนที่มีการพัฒนาไปก่อนหน้านั้น แต่ประเทศไทยก็ต้องดำเนินการต่อ
เมื่อถามว่าการทดลองว่าภูมิคุ้มกันจะป้องกันเชื้อได้หรือไม่ จะอยู่ในขั้นไหน นพ.โอภาสกล่าวว่า ภูมิคุ้มกันจะป้องกันได้หรือไม่ จะต้องอยู่ในสัตว์ใหญ่และในคน ส่วนหนูจะดูแค่ว่าภูมิขึ้นหรือไม่ ซึ่งในคนก็จะดูทั้งเรื่องของความปลอดภัย กระตุ้นภูมิได้หรือไม่ ป้องกันเชื้อได้หรือไม่ คงต้องใช้เวลา แต่ขณะนี้ก็เริ่มพัฒนาวัคซีนต้นแบบได้เร็ว ก็น่ายินดีว่าคนไทยสามารถทำได้ ถ้าไม่ทำวันนี้ก็ไม่รู้จะเริ่มทำวันไหนแล้ว
ถามถึงการพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิดแบบเชื้อตายของศิริราช นพ.โอภาสกล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีการแจ้งผลมา ซึ่งปกติแล้วการพัฒนาวัคซีนแบบเดิมคือแบบเชื้อตายจะมีความช้ากว่า ส่วนของจุฬาฯ ใช้เทคนิคใหม่คือดีเอ็นเอวัคซีนจะค่อนข้างเร็วกว่า