xs
xsm
sm
md
lg

ศมส.ให้ทุนวิจัยมานุษยวิทยา 30 ทุน วิกฤตโควิด-19

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ดร.นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ผู้อำนวยการศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) (ศมส.) กล่าวว่า ขณะนี้ ศมส. ได้จัดโครงการมานุษยวิทยาในสถานการณ์โรคระบาด โรคเปลี่ยนคน คนเปลี่ยนโลก โดยมีเป้าหมายสำคัญ คือ การนำความรู้มานุษยวิทยา มาใช้สร้างความเข้าใจต่อปรากฏการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ที่กำลังส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของคนทุกระดับอย่างกว้างขวาง ดังนั้น จึงได้สนับสนุนให้นักวิชาการด้านมานุษยวิทยาและสาขาที่เกี่ยวข้อง นำเสนอบทความที่จะเป็นประโยชน์ต่อสังคมไทยในการเผชิญกับวิกฤตโควิด-19 เพื่อรับทุนสนับสนุนในการต่อยอดในการทำการวิจัย โดยพบว่า ได้รับการเสนอกว่า 383 เรื่องจากหลากหลายสาขาวิชา สะท้อนถึงความตื่นตัวของแวดวงวิชาการด้านสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ที่ให้ความสำคัญกับสถานการณ์วิกฤตโควิด-19

โดยมีข้อเสนอที่มีคุณค่าและเป็นประโยชน์จำนวนมาก ทั้งในมิติของปรัชญา ประวัติศาสตร์ โบราณคดี แนวคิดทฤษฎีทางสังคมวิทยา-มานุษยวิทยา นโยบายสาธารณะ ระบบสาธารณสุข วัฒนธรรมท้องถิ่น ศิลปะและประสบการณ์ของผู้คนที่ต้องเผชิญกับความเสี่ยงต่างๆ อาทิ ผู้คนในสหวิชาชีพทางการแพทย์ : COVID-19 และเสียงที่เล่าออกมาไม่ได้, กักขัง-กักตัว อดีตนักโทษประหารชีวิตกับวิกฤตโควิด-19, “พรุ่งนี้สุดจะคาดเดา” : ชีวิตกับโควิดในห้องปฎิบัติการไวรัสวิทยา 24 ชั่วโมง, “กาหล้า” ความทรงจำจากประสบการณ์ การให้ความหมายและมุมมองต่อการระบาดของโรคโควิด 19 ของชาวไทใหญ่, ตะโกะตูฮัน : วิถีมุสลิมและการปรับตัวทางพิธีกรรมศาสนาอิสลามภายใต้เงื่อนไขของวิกฤตโควิด 19, เงียบไม่เหงา : ภาวะที่ยังได้ยินในโลกไร้เสียง, สุนทรียศาสตร์ของการอยู่ร่วมกันในภาพยนตร์ที่เกี่ยวกับโรคระบาด, ภาพแห่งความทรงจำ COVID-19 ประเทศไทย 2563 เป็นต้น

ทั้งนี้ เพื่อเปิดกว้างให้มีการนำเสนอมุมมองที่หลากหลาย ศมส. จึงเพิ่มจำนวนทุนสนับสนุนในการเขียนบทความวิจัยจากเดิม 20 เรื่อง เป็น 30 เรื่อง โดยจะมีการพิจารณาและประกาศผล ทางเว็บไซต์ www.sac.or.th


กำลังโหลดความคิดเห็น