“ศิริราช” เผยไทยคุมโควิด-19 ได้ดี ชี้มาตรการควบคุมไม่ควรเกิน 1-2 เดือน ระบุไทยอยู่ในเกณฑ์ที่ผ่อนปรนมาตรการได้ แต่ต้องระวัง 8 เรื่อง อย่าผ่อนผันเร็วและมากเกินไป ผ่อนผันเฉพาะให้ออกไปทำกิจกรรมสำคัญนอกบ้านได้ ยังต้องมีวินัยป้องกันเชื้อ คนกลุ่มเสี่ยง สูงอายุ มีโรค ยังไม่ควรออกนอกบ้าน ชี้หากตัวเลขเพิ่มขึ้นต้องกลับมาควบคุมใหม่
วันนี้ (27 เม.ย.) ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยอยู่ในกลุ่มประเทศที่ควบคุมโรคได้ดี เพราะคนไทยให้ความร่วมมือกัน ทั้งนี้ การผ่อนปรนมาตรการต่างๆ นั้นต้องใช้ยุทธศาสตร์ทุบด้วยค้อนแล้วปล่อยให้ฟ้อนรำ (The Hummer and The Dance) โดยการทุบด้วยค้อน คือ การออกมาตรการควบคุมต่างๆ อย่างเข้มงวดทำให้จำนวนผู้ป่วยลดลง แต่การควบคุมอย่างเข้มงวดนี้ไม่ควรนานเกินไป เพราะสิ่งที่แลกมาคือเศรษฐกิจ ทุกครั้งที่บอกให้อยู่บ้าน อย่าทำงาน อย่าเข้าไปในพื้นที่สัมผัสชุมชน รายได้ก็ลดลง ขาดงาน มีผลกระทบเชิงเศรษฐกิจ คนอยู่บ้านนานๆ ความตึงเครียดในสังคมจะเพิ่มมากขึ้น จุดหนึ่งอาจรับไม่ได้ โดยปกติไม่ควรเกิน 1-2 เดือน แล้วต้องหาทางผ่อนคลายที่ต้องสมดุลทั้งสุขภาพ เศรษฐกิจ สังคม เมื่อถึงจุดหนึ่งก็จะเข้าสู่ช่วงที่ 2 คือ ปล่อยให้ฟ้อนรำ หรือการผ่อนคลาย
ศ.นพ.ประสิทธิ์กล่าวว่า การเปิดโอกาสให้ฟ้อนรำหรือผ่อนคลายนั้นต้องพิจารณาจากปัจจัยหรือตัวชี้วัดหลายอย่าง เช่น 1. ค่าการแพร่กระจาย ผู้ป่วย 1 รายแพร่ให้คนอื่น 2.2 คน ตอนนี้ข้อมูลวันที่ 14 เม.ย. อยู่ที่ 0.77 คน ตอนนี้ก็อาจอยู่ที่ 0.6 คน 2. การทดสอบ ติดตาม การกักกันบุคคลเราทำได้ดี มีทั้งระดับประเทศ ระดับจังหวัด 3. การให้ความรู้เกี่ยวกับไวรัสตัวนี้ การดูแลสุขอนามัยส่วนบุคคลเราทำได้ดี สังคมไทยร่วมมือดีมาก ใส่หน้ากาก ล้างมือ เก็บตัวอยู่บ้าน ทำให้มั่นใจว่าการให้ความรู้สังคมเราทำได้ดี 4. การปิดสถานที่ที่มีคนเยอะๆ เราก็ทำแล้ว ทำให้ผู้ป่วยใหม่น้อยลง เมื่อ 4 ข้อนี้บรรลุก็จะเริ่มคลายมาตรการบางอย่างลง ถ้าตัวเลขเริ่มกลับมาอีกอาจจะต้องลงค้อนครั้งที่ 2 เพื่อให้ทุกอย่างกลับลงมาโดยอาจต้องประเมินผลทุกๆ 14 วัน
ศ.นพ.ประสิทธิ์กล่าวว่า ทั้งนี้ ข้อพึงระวังจากการควบคุมมาสู่การผ่อนผัน คือ 1. ผู้ติดเชื้อใหม่อาจเพิ่มขึ้น และอาจมีผลต่อการตัดสินใจกลับมาควบคุมอีกครั้ง 2. การผ่อนผันที่เร็วและมากเกินไปเป็นสาเหตุของการเพิ่มผู้ติดเชื้อใหม่ในหลายประเทศ 3. การผ่อนผันควรค่อยเป็นค่อยไป ให้เริ่มทำกิจกรรมที่สำคัญ แต่อาจต้องกลับมาควบคุมถ้าสถานการณ์เปลี่ยนแปลง 4. การปรับตัว เข้าใจ และมีวินัยของคนทั้งประเทศ มีส่วนสำคัญต่ออัตราเร็วของการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ 5. การรักษาระยะห่างระหว่างบุคคล การป้องกันตนเองและสังคม โดยใส่หน้ากาก การล้างมือ ยังเป็นเรื่องที่ต้องกระทำต่อเนื่อง
6. การผ่อนผัน คือ การผ่อนผันการออกจากบ้านเพื่อทำกิจกรรมนอกบ้านต่างๆ ได้มากขึ้น ไม่ใช่ผ่อนผันล้างมือ ใส่หน้ากาก แต่ยังต้องเข้มงวดกับมาตรการป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อ หมายความว่าเมื่อคนไทยออกไปทำกิจกรรมนอกพื้นที่ได้ กิจกรรมนั้นต้องมีการป้องกันการแพร่กระจายทั้งคนออกไปทำกิจกรรมและผู้ประกอบการ เมื่อกลับมาต้องไปอยู่บ้าน อย่าไปอยู่ทั้งวันนอกบ้านนานยิ่งโอกาสแพร่มากขึ้น 7. ผู้อยู่ในกลุ่มเสี่ยง คือ ผู้สูงอายุ ผู้มีความผิดปกติในระบบทางเดินหายใจ ขอให้งดออกจากบ้านอีกระยะหนึ่ง เพราะอาจนำมาสู่การเสียชีวิตจากอาการรุนแรงได้ และ 8. ทุกคนต้องช่วยกัน เพราะผิดพลาดที่จุดใดจุดหนึ่งอาจกระทบทั้งประเทศ