xs
xsm
sm
md
lg

COVID-19 กระทบความต้องการแรงงาน “สุวิทย์” ยันพร้อมขับเคลื่อนการศึกษารูปแบบใหม่มุ่งเน้นความมั่นคงของมนุษย์ ทั้งอาชีพ อาหาร และสุขภาพ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) (ภาพจาก www.nxpo.or.th)
MGR Online - รมว.อว. ระดมสมองสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) เผยผลสำรวจ 12 อุตสาหกรรมยังต้องการบุคลากรคุณภาพอีกกว่า 3 แสนคน พิสูจน์งานมีแต่แรงงานทักษะไม่ถึง ชี้หลัง “โควิด-19” จากบริบทโลก รัฐบาลต้องผลักดันโปรเจกต์ใหญ่ให้เกิดการจ้างงานตอบสนองเศรษฐกิจฐานราก พร้อมเพิ่มพูนทักษะใหม่ให้บัณฑิต คนทำงาน ผ่านการจัดหลักสูตรระยะสั้น การฝึกงาน และการทำวิจัย

เมื่อช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) เผยผลสำรวจความต้องการบุคลากรทักษะสูงในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ในระยะเวลา 5 ปี (พ.ศ. 2563-2567) และแนวทางการผลิตและพัฒนากำลังคน (Manpower Planning) ในการประชุมคณะกรรมการอํานวยการ สอวช. ครั้งที่ 4/2563 โดยมี นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธาน

นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ กล่าวว่า ข้อมูลที่ สอวช. ทำการสำรวจความต้องการบุคลากรทักษะสูงในอุตสาหกรรมเป้าหมายเป็นข้อมูลที่ดี และถือเป็นแผนการพัฒนากำลังคนแผนแรกของประเทศที่มีการจัดทำขึ้น ซึ่งจะเป็นฐานข้อมูลสำคัญที่จะเป็นแนวทางการพัฒนากำลังคนเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศได้ในช่วงสถานการณ์ปกติ แต่ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในปัจจุบันทำให้ต้องกลับมาทบทวนบริบทโลกที่ส่งผลกระทบถึงการลงทุนจากต่างประเทศที่มีแนวโน้มที่จะดึงการลงทุนในประเทศต่างๆ กลับสู่ประเทศของตนเอง และคาดว่า หลายๆ ประเทศจะเน้นเรื่องเศรษฐกิจฐานราก (Local Economy) มากขึ้น ซึ่งการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะกระทบความต้องการกำลังคนอย่างแน่นอน ประเทศไทยจึงต้องหันมาพิจารณารูปแบบตำแหน่งงาน และการพัฒนากำลังคนที่เปลี่ยนไปตามสถานการณ์โลกที่คาดว่าจะเกิดขึ้นหลังวิกฤตการณ์โควิด

“หลังจากการแพร่ระบาดของโควิด คาดว่า ตำแหน่งงานจะไม่ได้เกิดขึ้นตามธรรมชาติของการตลาด แต่ต้องมีการสร้างงานให้เกิดขึ้นโดยแรงผลักดันของรัฐบาลที่เป็นบิ๊กแบงโปรเจกต์ ซึ่งกระทรวง อว. เองจะต้องสร้างบัณฑิตให้ตอบโจทย์และรองรับกับตำแหน่งงานที่เปลี่ยนไปตามสถานการณ์ และเรื่องการ Reskill ยังคงเป็นเรื่องสำคัญเพื่อสร้างกำลังคนให้ตอบโจทย์ได้ทันต่อบริบทโลกที่เปลี่ยนแปลงไป สิ่งที่ควรเร่งทำตอนนี้ คือ ต้องช่วยกันคิด ช่วยกันสร้างตำแหน่งงานขึ้นมาเพื่อรองรับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยคาดว่ากลุ่มงานที่สำคัญในช่วงหลังสถานการณ์โควิดที่ภาครัฐควรผลักดันมีอยู่ 3 ด้าน คือ ด้านความมั่นคงทางสุขภาพ, ความมั่นคงทางด้านอาหาร และความมั่นคงทางอาชีพ โดยโครงสร้างทางเศรษฐกิจอาจจะต้องเน้นเศรษฐกิจฐานราก หรือ Local Economy มากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม ได้มอบหมายให้ สอวช. หารือกับภาคเอกชน นักเศรษฐศาสตร์ รวมถึง บีโอไอ เพื่อคาดการณ์และวิเคราะห์สถานการณ์เศรษฐกิจ แนวโน้มการลงทุน และการจ้างงาน เป็นฉากทัศน์ของประเทศหลังวิกฤตการณ์โควิด เพื่อให้เห็นภาพกว้างที่ชัดเจนมากขึ้นและค่อยมาเจาะลึกลงรายละเอียดเพื่อหาวิธีการพัฒนากำลังคนให้ตอบโจทย์ตามความต้องการของประเทศหลังสถานการณ์โควิดได้อย่างตรงจุดต่อไป” ดร.สุวิทย์ กล่าว


ผลสำรวจ 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ต้องการบุคลาการกว่า 3 แสนตำแหน่ง

สำหรับผลการสำรวจความต้องการบุคลากรในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ในระยะเวลา 5 ปี (พ.ศ. 2563-2567) ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สอวช. เปิดเผยว่า สอวช. ได้ดำเนินการสำรวจแนวโน้มความต้องการบุคลากรในอุตสาหกรรมเป้าหมายจำนวน 12 อุตสาหกรรม โดยดำเนินการสำรวจขณะที่ยังไม่มีปัจจัยเกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดเข้ามาเกี่ยวข้อง พบว่า อุตสาหกรรมเป้าหมายจำนวน 12 อุตสาหกรรม ซึ่งประกอบด้วย อุตสาหกรรมเชื้อเพลงชีวภาพและเคมีชีวภาพ อุตสาหกรรมดิจิทัล อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ อุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกลุ่มผู้มีรายได้สูงและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ อุตสาหกรรมการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ อุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคต อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ และอุตสาหกรรมพัฒนาบุคลากรและการศึกษา มีความต้องการบุคลากรรวม 317,946 คน ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่ระดับปริญญาตรีถึงปริญญาเอก

ทั้งนี้ ในจำนวนความต้องการบุคลากร 12 อุตสาหกรรม ข้างต้น สอวช. ได้นำผลมาวิเคราะห์สามารถแบ่งเป็นความต้องการบุคลากรเพื่อรองรับยุทธศาสตร์ BCG ของประเทศ 4 ด้าน คือ ด้านเกษตรและอาหาร 74,244 คน ด้านสุขภาพและการแพทย์ 20,153 คน พลังงาน ด้านวัสดุและเคมีชีวภาพ 9,836 คน และด้านการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ 41,380 คน และหากพิจารณาจำนวนความต้องการบุคลากร กับจำนวนนักศึกษาที่สำเร็จการศึกษาในแต่ละปี พบว่า ภาคการศึกษาสามารถผลิตบัณฑิตได้ประมาณ 3 แสนคน/ปี ส่วนอุตสาหกรรมเป้าหมายมีความบุคลากรตกปีละ 63,589 คน/ปี


ผลสำรวจดังกล่าว ทำให้เห็นว่าประเทศไทยไม่ได้มีปัญหาขาดแคลนแรงงานในเชิงปริมาณ แต่ขาดแคลนแรงงานเชิงคุณภาพ ประกอบกับในปัจจุบันภาคอุตสาหกรรมมีความต้องการบุคลากรที่มีความรู้แบบบูรณาการข้ามสาขามากขึ้น ประเด็นการพัฒนาบุคลากรเพื่อตอบโจทย์ประเทศจึงอยู่ที่การสร้างความรู้และทักษะของกำลังคนให้ตรงตามความต้องการของภาคอุตสาหกรรม ทั้งสร้างหลักสูตรระดับอุดมศึกษาให้ทันสมัยและเข้มข้นมากขึ้นเพื่อผลิตบัณฑิตให้ตรงความต้องการ ควบคู่ไปกับการเพิ่มพูนทักษะ (Upskill-Reskill) ให้แก่บัณฑิต คนทำงาน ผ่านการจัดหลักสูตรระยะสั้น การฝึกงาน และการทำวิจัย โดยมีมาตรการรัฐสนับสนุนให้เกิดแรงจูงใจ อาทิ สิทธิประโยชน์ BOI สำหรับกิจการฝึกอบรม สิทธิประโยชน์ทางภาษี โดยการยกเว้นค่าใช้จ่าย 2.5 เท่า สำหรับการฝึกอบรมระยะสั้นจากหน่วยงานฝึกอบรมที่ได้รับการรับรอง และสอดคล้องกับทักษะที่กำหนดไว้ใน Future Skills Set ที่ สอวช. อยู่ระหว่างการจัดทำ สิทธิประโยชน์ทางภาษี โดยการยกเว้นค่าใช้จ่าย 1.5 เท่า ของการจ้างงานบุคลากรทักษะสูงในสาขาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และวิศวกรรม เป็นต้น

สำหรับปัญหาเชิงคุณภาพของกำลังแรงงานในปัจจุบัน พบว่า ยังมีทักษะที่มีช่องว่าง อาทิ ทักษะภาษาต่างประเทศ ทักษะการใช้คอมพิวเตอร์ ทักษะคณิตศาสตร์และการคำนวณ ทักษะในการบริหารจัดการ ทักษะในการคิด และทักษะในการสื่อสาร เป็นต้น อีกทั้งกำลังแรงงานยังต้องได้รับการพัฒนาความรู้ให้เพียงพอต่อความต้องการ อาทิ ความรู้ด้านกฎระเบียบ ความรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ความรู้ธุรกิจ และความรู้วิชาชีพ ส่วนคุณลักษณะที่ยังขาดแคลน คือ ความใฝ่เรียนรู้ เป็นต้น


กำลังโหลดความคิดเห็น