เริ่มแล้วพรุ่งนี้! หลัง กทม. เชิญชวนชาวกรุงเข้าใช้ระบบ BKK COVID-19 เพื่อคัดกรอง ให้ความรู้-ให้ความช่วยเหลือในเบื้องต้น ก่อนลงพื้นที่ช่วยเหลือ ปชช.
เมื่อวันที่ 3 เม.ย. ร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง โฆษกกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า สถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่แพร่กระจายอยู่ในประเทศไทยและอีกหลายประเทศ ได้สร้างความวิตกกังวลให้กับประชาชนจำนวนมาก กรุงเทพมหานครจึงได้คิดค้นระบบ BKK COVID-19 เพื่อช่วยคัดกรอง ให้ความรู้ และช่วยเหลือประชาชนให้ได้รับคำแนะนำและการรักษาอย่างถูกวิธีและทันท่วงที โดยประชาชนสามารถเข้าไปทำแบบประเมินความเสี่ยงด้วยตนเองได้ที่เว็บไซต์ http://bkkcovid19.bangkok.go.th/ ซึ่งใช้แบบประเมินตามเกณฑ์ PUI เช่นเดียวกันกับที่แพทย์ใช้ในการสอบถามอาการเบื้องต้นเพื่อคัดกรองผู้ที่มีความเสี่ยงในการติดเชื้อโควิด-19 มีรายละเอียดการประเมินดังนี้
1. ประเมินประวัติเสี่ยง ได้แก่ เดินทางมาจากพื้นที่ที่มีการระบาดอย่างต่อเนื่อง สัมผัสใกล้ชิดบุคคลที่มาจากพื้นที่ที่มีการระบาด สัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยที่เข้าข่ายหรือได้รับการยืนยันการติดเชื้อโควิด-19 หรือเดินทางไปในพื้นที่เสี่ยงภายในประเทศ 2. ประเมินอุณหภูมิ หรือประวัติว่ามีไข้ และ 3. ประเมินอาการทางเดินหายใจ ได้แก่ ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ และหายใจเหนื่อยหรือหายใจลำบาก
เมื่อทำแบบประเมินแล้วเสร็จ ระบบจะทำการประเมินและจัดกลุ่มว่าอยู่ในกลุ่มเสี่ยงระดับใด พร้อมให้ความรู้ในการปฏิบัติตนตามระดับความเสี่ยงนั้นๆ ได้แก่ กลุ่มที่ 1 กลุ่มไม่พบประวัติเสี่ยง (สีเขียว) จะได้รับข้อแนะนำในการดูแลตนเองเบื้องต้นด้วยการล้างมือบ่อยๆ ทานร้อน ช้อนส่วนตัว สวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่างจากผู้อื่น ออกกำลังกาย และพักผ่อนให้เพียงพอ กลุ่มที่ 2 กลุ่มเฝ้าระวัง (สีเหลือง) อาจเป็นโรคอื่น เช่น ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ ให้สังเกตอาการใน 48 ชั่วโมง หากอาการไม่ดีขึ้นควรปรึกษาแพทย์ และจะได้รับข้อแนะนำในการดูแลตนเองเบื้องต้นเช่นเดียวกับกลุ่มสีเขียว แต่เพิ่มในเรื่องของการหลีกเลี่ยงกิจกรรมหรือสถานที่แออัด กลุ่มที่ 3 กลุ่มเสี่ยง (สีส้ม) จะได้รับคำแนะนำสำหรับตนเองและบุคคลใกล้ชิด และสามารถบันทึกข้อมูลเพื่อติดต่อเจ้าหน้าที่ในระบบได้ โดยผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงให้ปฏิบัติตามคำแนะนำเป็นเวลา 14 วัน ดังนี้ ให้หยุดเรียน ทำงาน กิจกรรมต่างๆ แยกห้องนอน ทานอาหาร ห้องน้ำ (ถ้าเป็นไปได้) สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ ห้ามใช้ของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น เว้นระยะห่างจากผู้อื่น ปิดปาก จมูกด้วยทิชชูทุกครั้งที่ไอหรือจาม หมั่นทำความสะอาดห้องน้ำ ที่พัก ของใช้ ทิ้งขยะหน้ากากอนามัย ทิชชูโดยใส่ถุงที่มิดชิด พร้อมสังเกตอาการไข้ ไอ จาม น้ำมูก เจ็บคอ หายใจลำบาก หากมีอุณหภูมิ 37.5 องศาเซลเซียสขึ้นไป และมีอาการหอบเหนื่อย ให้แจ้งเจ้าหน้าที่
โดยระบบจะจัดเจ้าหน้าที่เข้าไปให้คำความรู้และประเมินอาการทุกวัน เป็นเวลา 14 วัน สำหรับผู้ใกล้ชิดกลุ่มเสี่ยง ผู้อาศัยร่วมบ้านทุกคนให้ล้างมือบ่อยๆ หลีกเลี่ยงการใกล้ชิดและควรนอนแยกกับผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง เมื่อต้องอยู่ใกล้กับผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงให้สวมใส่หน้ากากอนามัย และมีระยะห่าง 1-2 เมตร หมั่นทำความสะอาดเสื้อผ้า ผ้าปูเตียง ผ้าขนหนู หรืออื่นๆ ด้วยผงซักฟอกและน้ำธรรมดา ทำความสะอาดที่พักด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อหรือแอลกอฮอล์ 70% และป้องกันด้วยถุงมือ หน้ากาก แว่นตาขนาดใหญ่ พร้อมสังเกตอาการเจ็บป่วยของตนเอง 14 วัน หลังสัมผัสใกล้ชิดผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง และกลุ่มที่ 4 กลุ่มเข้าเกณฑ์สงสัย (สีแดง) ให้สวมใส่หน้ากากอนามัย กักตัวเองในบ้านทันที และควรพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย โดยบันทึกข้อมูลเพื่อติดต่อเจ้าหน้าที่ในระบบ หรือติดต่อทางโทรศัพท์ ได้แก่ ศูนย์เอราวัณ กรุงเทพมหานคร โทร.1646 หรือสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ โทร.1669 หากเจ้าหน้าที่ประเมินแล้วว่าอยู่ในกลุ่มที่จะต้องเข้ารับการตรวจโดยด่วน ทางระบบจะจัดรถพยาบาลจากศูนย์เอราวัณของกรุงเทพมหานครเพื่อเข้าไปรับมายังโรงพยาบาลและทำการตรวจเชื้อหาโควิด-19 โดยเร็วที่สุด
จากนั้นระบบจะรวบรวมข้อมูล และบันทึกสถิติเป็น Open Data เพื่อให้ทุกคนได้ทราบถึงสถานการณ์ โดยสามารถดูรายละเอียดในแต่ละเขต ว่า มีผู้ป่วยในเกณฑ์เสี่ยงจำนวนเท่าใด และมีผู้ป่วยที่เฝ้าระวังจำนวนเท่าใด เพื่อให้ผู้ที่ต้องทำงานเกี่ยวกับการออกนโยบายในการรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 สามารถออกนโยบายที่สอดคล้อง ถูกจุด และถูกพื้นที่ ซึ่งระบบ BKK COVID-19 นี้ จะสงวนสิทธิ์ในการติดตามและประเมินอาการผู้ป่วยเฉพาะผู้ที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานครเท่านั้น สำหรับผู้ที่อาศัยอยู่ในจังหวัดอื่น ๆ สามารถเข้าทำแบบทดสอบเพื่อคัดกรองเบื้องต้น และรับคำแนะนำในการปฏิบัติตัวในระยะต่างๆ ได้ ทั้งนี้ ขอความร่วมมือให้ทุกท่านปฏิบัติตามมาตรการต่าง ๆ ตลอดจนดูแลสุขภาพอนามัยตนเองตามคำแนะนำ พร้อมเชิญชวนให้ทุกท่านร่วมกัน “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” แล้วเราจะผ่านวิกฤตนี้ไปด้วยกัน