xs
xsm
sm
md
lg

อยู่กับเหย้า...เฝ้า COVID-19 "กักตัวเอง" แบบไหน ไม่ให้แพร่เชื้อต่อ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



มาตรการปิดสถานที่บริการหลายแห่งในกรุงเทพมหานคร (กทม.) ปริมณฑล และหลายๆ จังหวัด เพื่อให้ประชาชนหยุดอยู่กับบ้าน เพื่อลดโอกาสการแพร่กระจายของเชื้อ แต่กลุ่มผู้ใช้แรงงานมีการทยอยเดินทางกลับภูมิลำเนา จึงมีการขอให้กักตัวเองที่บ้าน 14 วัน เช่นเดียวกับผู้ที่มาพื้นที่เสี่ยงโรคโควิด-19 หรือไปมีประวัติสัมผัสกับผู้ป่วยโรคโควิด-19 เพราะ กทม.มีผู้ป่วยโรคโควิด-19 จำนวนมากที่สุด


การกักตัวเองจำเป็นที่จะต้องแยกตัวเองออกจากผู้อื่น เพื่อลดโอกาสที่ตัวเองจะแพร่เชื้อต่อให้แก่คนภายในครอบครัว เพราะไม่รู้ว่าตัวเองติดเชื้อหรือไม่ หรืออยู่ในช่วงของการฟักตัวของเชื้อ โดยเฝ้าสังเกตอาการตนเอง 14 วัน หากพ้นระยะ 14 วันแล้วถึงใช้ชีวิตได้ตามปกติ แล้วคนที่กักตัวเองต้องใช้ชีวิตอย่างไร ถึงลดโอกาสแพร่โรคสู่คนอื่น

เริ่มแรกต้องเตรียมความพร้อมด้านที่พักและอุปกรณ์เครื่องใช้ก่อน พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย แนะนำว่า 1.แยกห้องนอนและห้องน้ำของผู้ที่กักตัวเองออกจากสมาชิกอื่น ห้องพักควรโปร่ง อากาศถ่ายเทดี แสงแดดเข้าถึง แยกของใช้ส่วนตัว เช่น เสื้อผ้า ผ้าห่ม ผ้าเช็ดตัว จาน ชาม ช้อน แก้วน้ำ และแยกทำความสะอาด มีอุปกรณ์ป้องกัน เช่น หน้ากากอนามัย สบู่ เจลแอลกอฮอล์ และมีอุปกรณ์สำหรับทำความสะอาด เช่น ไม้ถูพื้น ผ้าสำหรับเช็ดทำความสะอาด ถุงมือ น้ำยาทำความสะอาด สารฟอกขาว และถุงขยะ

วิธีปฏิบัติตัวเมื่อต้องแยกกักตัวเอง ทั้งกรณีอยู่คนเดียวและอยู่ร่วมกับคนอื่น สิ่งที่ทำเหมือนกัน คือ 1.วัดอุณหภูมิกายทุกวัน หากพบว่ามีไข้ อุณหภูมิมากกว่า 37.5 องศาเซลเซียส ร่วมกับอาการทางเดินหายใจ เช่น ไอ น้ำมูก เจ็บคอ หอบเหนื่อย ให้ไปพบแพทย์ โดยแจ้งเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ หรือแจ้ง 1669 เพื่อประสานการรับตัว ต้องไม่ใช้รถสาธารณะในการเดินทาง หรือเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัว หรือรถรับจ้างที่ไม่เปิดเครื่องปรับอากาศ โดยสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา

2.ดูแลสุขอนามัยส่วนบุคคล ด้วยการล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่อย่างน้อย 20 วินาที กรณีไม่มีน้ำและสบู่ ให้ลูบมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ที่มีความเข้มข้นอย่างน้อย 70% ปิดปากจมูกด้วยกระดาษทิชชูทุกครั้งที่ไอจาม โดยปิดถึงคาง แล้วทิ้งทิชชูลงในถุงพลาสติกและปิดปากถุงให้สนิทก่อนทิ้ง หรือใช้แขนเสื้อปิดปากจมูกเมื่อไอหรือจาม และทำความสะอาดมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ หรือล้างมือด้วยน้ำและสบู่ทันที


3.หากจำเป็นต้องพบปะผู้อื่น ให้ใช้หน้ากากอนามัย และรักษาระยะห่างไม่น้อยกว่า 1-2 เมตรหรือ 1-2 ช่วงแขน หรือใช้เวลาพบปะผู้อื่นให้สั้นที่สุด หน้ากากอนามัยที่ใช้แล้วให้ทิ้งลงในถังขยะที่มีฝาปิดมิดชิด และทำความสะอาดมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ หรือน้ำและสบู่ทันที

4.งดกิจกรรมนอกบ้าน หยุดงาน หยุดเรียน งดไปในที่ชุมชน งดใช้ขนส่งสาธารณะ

5.ขยะให้แยกเป็น 2 ประเภท คือ ขยะทั่วไป และขยะที่ปนเปื้อนน้ำมูก น้ำลาย สารคัดหลั่ง โดยกลุ่มหลังให้เก็บรวบรวมและทำลายเชื้อ โดยใส่ถุงขยะ 2 ชั้น และทำลายเชื้อโดยราดด้วยน้ำยาฟอกขาว แล้วมัดปากถุงให้แน่น นำไปทิ้งรวมกับขยะทั่วไป หลังจัดการขยะ ให้ล้างมือด้วยน้ำและสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ทันที

ส่วนที่แตกต่างกันนั้น หากอยู่บ้านคนเดียว เรื่องการกินอาหารไม่มีปัญหามากนัก เพราะรับประทานคนเดียว แต่หากมีผู้จัดอาหาร หรือสั่งอาหารจากแหล่งอื่น ให้กำหนดจุดรับอาหารเพื่อป้องกันการสัมผัสใกล้ชิด ต้องทำความสะอาด โถส้วม อ่างล้างมือ หลังใช้งาน


ส่วนกรณีพักร่วมกับคนอื่นหรือคนในครอบครัว ให้หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดบุคคลอื่นในที่พักอาศัย โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรังต่างๆ และควรอยู่ห่างจากคนอื่นๆ ไม่น้อยกว่า 1-2 เมตร หรือ 1-2 ช่วงแขน หรือใช้เวลาพบปะผู้อื่นให้สั้นที่สุด แยกห้องนอน ไม่ใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้อื่นและแยกทำความสะอาด จัดน้ำดื่มแยกเฉพาะ แยกรับประทานอาหาร ให้ตักแบ่งอาหารมารับประทานต่างหาก และเก็บล้างภาชนะด้วยน้ำยาล้างจาน ผึ่งให้แห้งและตากแดด แยกการใช้ห้องส้วมกับคนในครอบครัว หากแยกไม่ได้ ควรใช้ห้องส้วมเป็นคนสุดท้าย และให้ทำความสะอาดทันทีหลังใช้ส้วม ปิดฝาทุกครั้งก่อนกดชักโครกเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรค

สำหรับกรณีอาศัยในอาคารชุด เช่น หอพัก คอนโดมิเนียม อพาร์ตเมนต์ ให้ปฏิบัติตัวเหมือนกัน แต่เพิ่มเติมเรื่องของหลีกเลี่ยงการใช้พื้นที่ส่วนกลางร่วมกับผู้อื่น เช่น ล็อบบี ลิฟท์ กรณีที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ให้ใช้หน้ากากอนามัย และรักษาระยะห่างไม่น้อยกว่า 1-2 เมตร หรือใช้เวลาให้สั้นที่สุด หรือเลี่ยงเวลาที่มีผู้ใช้หนาแน่น รวมทั้งงดใช้บริการสันทนาการร่วม เช่น สระว่ายน้ำ ห้องออกกำลังกาย

แล้วคนในครอบครัวหรืออาศัยร่วมกับผู้ที่กักตัว ต้องทำตัวอย่างไร?


พญ.พรรณพิมล กล่าวว่า 1.ให้ทุกคนในบ้านดูแลสุขอนามัยส่วนบุคคล ด้วยการล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่อย่างน้อย 20 วินาที กรณีไม่มีน้ำและสบู่ ให้ลูบมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ที่มีความเข้มข้นอย่างน้อย 70% หลีกเลี่ยงจุดเสี่ยง และดูแลสุขภาพตนเอง 2.ไม่ใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกัน เช่น ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว แก้วน้ำ หลอดดูดน้ำ ไม่ดื่มน้ำและไม่รับประทานอาหารสำรับเดียวกับผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยง และแยกทำความสะอาด 3.เก็บรวบรวมขยะมูลฝอยทั้งหมดใส่ถุง ปิดปากถุงให้มิดชิด แล้วใส่ลงถังเพื่อให้ อปท. เก็บขนนำไปกำจัดต่อไป 4.กรณีใช้ส้วมร่วมกัน ให้ระมัดระวังจุดเสี่ยงสำคัญที่มีการสัมผัสร่วมกัน เช่น บริเวณโถส้วม อ่างล้างมือ ก๊อกน้ำ ลูกบิดประตู และล้างมือด้วยน้ำและสบู่ทุกครั้ง

5.บุคคลในครอบครัวหลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดกับผู้ที่กลับมาจากพื้นที่ระบาด โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรังต่างๆ ควรอยู่ห่างกัน ไม่น้อยกว่า 1-2 เมตรหรือ 1-2 ช่วงแขน หรือใช้เวลาพบปะผู้อื่นให้สั้นที่สุด หากจำเป็นให้ใช้หน้ากาก 6.เฝ้าระวังอาการเจ็บป่วยของผู้สัมผัสใกล้ชิดหรือสมาชิกในบ้าน เป็นเวลา 14 วัน หลังสัมผัสกับผู้ป่วย 7.คนในครอบครัวสามารถไปทำงาน เรียนหนังสือ ได้ตามปกติ แต่ทั้งนี้อาจต้องให้ข้อมูลกับสถานที่ทำงาน สถานศึกษา ตามเงื่อนไขที่สถานที่เหล่านั้นกำหนด

คำแนะนำสำหรับผู้ดูแลอาคารชุด คือ 1.อาจคัดกรองผู้พักอาศัย หากพบว่ามีไข้ อุณหภูมิมากกว่า 37.5 องศาเซลเซียส ร่วมกับอาการทางเดินหายใจ เช่น ไอ น้ำมูก เจ็บคอ หอบเหนื่อย ให้แจ้งเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ หรือแจ้ง 1669 เพื่อประสานการรับตัวไปพบแพทย์ ทั้งนี้ ต้องไม่ใช้รถสาธารณะในการเดินทาง 2.ทำความสะอาดพื้นที่ส่วนกลางเป็นประจำทุกวัน และเพิ่มความถี่ในจุดเสี่ยงโดยใช้น้ำยาฆ่าเชื้อเช็ดทำความสะอาดบริเวณที่มีการสัมผัสร่วมกันบ่อยๆ เช่น ราวบันได ปุ่มกดลิฟท์ ลูกบิดประตู ก๊อกน้ำ ตู้จดหมาย ป้ายประชาสัมพันธ์ โต๊ะ เก้าอี้ อุปกรณ์ฟิตเนส รวมทั้งอาจจัดให้มีจุดบริการเจลแอลกอฮอล์ 70% บริเวณจุดเข้าออกต่างๆ เช่น หน้าลิฟท์ ประตูเข้า-ออกอาคาร พื้นที่ส่วนกลาง เป็นต้น 3.มีช่องทางสื่อสารประชาสัมพันธ์ให้ข้อมูลเกี่ยวกับโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และแนวทางการปฎิบัติตัวให้ผู้อยู่อาศัยรับทราบ


สำหรับวิธีการทำความสะอาดและการทำลายเชื้อในสิ่งแวดล้อมของที่พักอาศัย มีดังนี้ 1.ผู้ที่ทำความสะอาด แนะนำให้สวมใส่ชุดป้องกันร่างกาย ได้แก่ หน้ากากอนามัย หมวกคลุมผม แว่นตากันลม ถุงมือยาง รองเท้าบูท และผ้ากันเปื้อนพลาสติก 2.ทำความสะอาดพื้นบริเวณที่พักและอุปกรณ์เครื่องใช้ เช่น บริเวณที่มีการสัมผัสร่วมกันบ่อยๆ และจุดเสี่ยงอื่นๆ ด้วยน้ำยาฟอกขาว (โซเดียมไฮโปคลอไรท์ 5% ปริมาณ 1 ส่วนผสมน้ำ 49 ส่วน) ควรเปิดประตู/หน้าต่าง เพื่อให้มีการระบายอากาศระหว่างทำความสะอาด

3.ทำความสะอาดห้องน้ำ ห้องส้วม ด้วยน้ำยาล้างห้องน้ำอย่างสม่ำเสมอ และอาจทำลายเชื้อด้วยน้ำยาฟอกขาว (โซเดียมไฮโปคลอไรท์ 5% ปริมาณ 1 ส่วนผสมน้ำ 49 ส่วน) และควรเปิดประตู/หน้าต่าง เพื่อให้มีการระบายอากาศ 4.หลังทำความสะอาดควรซักผ้าสำหรับเช็ดทำความสะอาดและไม้ถูพื้น ด้วยน้ำผสมผงซักฟอกหรือน้ำยาฆ่าเชื้อ แล้วซักด้วยน้ำสะอาดอีกครั้ง และนำไปผึ่งตากแดดให้แห้ง 5.ทำความสะอาดเสื้อผ้า ผ้าปูเตียง ปลอกหมอน ผ้าขนหนู ฯลฯ ด้วยสบู่หรือผงซักฟอกธรรมดาและน้ำ หรือซักผ้าด้วยน้ำร้อนที่อุณหภูมิน้ำ 60-90 องศาเซลเซียส

แม้จะกักตัวเอง 14 วัน แต่ก็สามารถใช้ชีวิตหรือทำกิจกรรมอย่างอื่นได้ตามปกติ เช่น ทำงานอยู่แต่ในห้อง อ่านหนังสือ เล่นอินเทอร์เน็ต ฯลฯ ขอเพียงไม่ไปใกล้ชิดกับคนในครอบครัว แยกตัวเองออกมา ไม่ออกไปข้างนอก หากปฏิบัติได้ตามนี้ก็สามารถกักตัวเองที่บ้าน โดยแทบไม่มีความเสี่ยงที่จะแพร่เชื้อไปสู่คนที่เรารักได้






กำลังโหลดความคิดเห็น