xs
xsm
sm
md
lg

สูญเสีย 3 บุคลากรแพทย์ ทำงานหนักสู้โควิด สธ.พร้อมดูแลเยียวยาเต็มที่ แจงไม่มีการติดเชื้อ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สูญเสีย 3 บุคลากรสาธารณสุข ทำงานหนักสู้โรคโควิด-19 สธ.พร้อมเยียวยาครอบครัวเต็มที่ ขอบคุณครอบครัวบุคลากรที่เป็นลมใต้ปีกช่วยหนุนการทำงาน แจงเสียชีวิตจากสาเหตุอื่น ไม่ได้เกี่ยวกับการติดเชื้อโควิด ระบุ สับเปลี่ยนหมุนเวียนบุคลากรยังจำเป็น

วันนี้ (6 เม.ย.) นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ โฆษกกรมสุขภาพจิต และผู้ดำเนินการแถลงข่าวสถานการณ์โรคโควิด-19 กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า วันนี้ผู้ป่วยรายใหม่ลดลงเหลือ 51 คน แต่มีการสูญเสียบุคลากรสาธารณสุข จำนวน 3 คน ที่ รพ.เชียงรายประชานุเคราะห์ รพ.ลำพูน และ อสม.จังหวัดพิษณุโลก ซึ่งนับเป็นความสูญเสียอันใหญ่หลวงของประเทศ และเป็นสิ่งที่ไม่อยากให้เกิดขึ้น ทั้งนี้ ทั่วโลกเกิดการระบาดของโรค การขาดแคลนอุปกรณ์ และภาระงานที่เพิ่มมากขึ้น เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่น อิตาลี มีบุคลากรทางการแพทย์เสียชีวิตมากกว่า 80 คน ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขจะให้การเยียวยาผู้สูญเสีย และครอบครัวอย่างเต็มความสามารถ ขอบคุณที่ทุกคนทำงานอย่างหนัก ไม่ย่อท้อ เพื่อให้ประเทศไทยผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปได้ และขอบคุณครอบครัวบุคลากรทุกคนที่เป็นลมใต้ปีก สนับสนุนการทำงานของบุคลากรสาธารณสุขอย่างเต็มที่

“ในประเทศไทยแม้สถานการณ์ยังไม่รุนแรงเหมือนหลายประเทศ แต่ทุกคนก็ทำงานอย่างกล้าหาญ เต็มที่ สุดความสามารถ นี่ไม่ใช่แค่การมาทำงานเฉยๆ แต่มารบกับสิ่งที่มองไม่เห็น ยิ่งข้าศึกมาก บุคลากรทางการแพทย์ยิ่งเสี่ยงมาก ดังนั้น เป็นหน้าที่ของประชาชนที่จะจับมือกับบุคลากรเพื่อช่วยกันรบกับโรคนี้ เพื่อให้ประเทศผ่านพ้นวิกฤตโรคนี้ไปได้” นพ.วรตม์ กล่าว

นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวว่า บุคลากรที่เสียชีวิตทั้ง 3 คน ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับโรค หรือเกิดการติดเชื้อโรคโควิด-19 แต่เสียชีวิตจากสาเหตุอื่น ซึ่งอาจมาจากภาระงานที่หนัก บางรายมีโรคประจำตัวร่วม โดยทั้ง 3 รายไม่ได้เป็นผู้ป่วยในกลุ่มยืนยันติดเชื้อ

เมื่อถามว่า บุคลากรที่เสียชีวิตเพราะภาระงานที่หนักสะท้อนถึงความไม่เพียงพอหรือไม่ นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า ขณะนี้ก็มีความพยายามลดภาระงานด้านอื่นลง เช่น ผู้ป่วยที่ไม่มีความจำเป็นก็อาจให้รับยาใกล้บ้าน และมีการติดตามอาการโดยไม่ต้องมาที่โรงพยาบาล และมีการจัดสรรบุคลากรเข้ามาช่วยกันดำเนินงานในด้านนี้มากขึ้น ส่วนจังหวัดที่ยังไม่มีผู้ป่วยหรือมีผู้ป่วยน้อย ก็อาจสามารถจัดสรรบุคลากรหมุนเวียนสับเปลี่ยนมาช่วยจังหวัดที่มีผู้ป่วยมากได้ เช่น ภูเก็ต ที่พื้นที่ไม่มาก แต่มีผู้ป่วยมาก จังหวัดข้างเคียงก็อาจจะจัดสรรบุคลากรมาหมุนเวียนช่วยเหลือ เพื่อลดภาระงาน


กำลังโหลดความคิดเห็น