สธ.ชี้ ผู้ป่วยโควิดรายใหม่ เกือบครึ่งหนึ่งมาจากสัมผัสผู้ป่วยก่อนหน้านี้ หากไม่นับเคสมาจากต่างประเทศ การติดเชื้อในประเทศอยู่ประมาณเกือบ 90 ราย ย้ำ ยังต้องเดินหน้า 2 มาตรการ มีอาการไข้ ไอ เจ็บคอ ปอดอักเสบ ต้องรีบมาพบแพทย์ และรักษาระยะห่างระหว่างบุคคลและสังคม แจงเคสเสียชีวิตไม่ได้แปลว่าพื้นที่นั้นโรครุนแรง ส่วนพื้นที่พาหุรัดต้องสอบสวนเป็นคลัสเตอร์ใหม่หรือไม่
วันนี้ (3 เม.ย.) นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า จำนวนผู้ป่วยโควิด-19 รายใหม่ 103 คน ปัจจัยเสี่ยงที่สอบสวนโรค พบว่า เกือบครึ่งหนึ่งเป็นผู้ป่วยสัมผัสกับผู้ป่วยรายเก่าที่สอบสวนโรคไปก่อนหน้านี้ และอีกเกือบครึ่งเป็นผู้ป่วยรายใหม่ที่เพิ่งตรวจได้ ตอนนี้ตัวเลขผู้ป่วยรายใหม่ลดลงมาเรี่ยๆ ร้อย อย่างไรก็ตาม หากนับผู้ป่วยรายใหม่ที่ติดเชื้อภายในประเทศ ไม่นับผู้ป่วยที่เดินทางมาจากต่างประเทศ หรือเคสอิมพอร์ต ที่มีประมาณ 14-15 คน ก็เท่ากับว่า คนไทยติดเชื้อในประเทศวันละประมาณ 90 คน อย่างของวันนี้ 103 คน เป็นการติดเชื้อในประเทศ 88 คน พื้นที่ที่ยังมีผู้ป่วยรายงานแบ่งออกเป็นกลุ่ม 4 กลุ่ม คือ 1. กทม.และปริมณฑล 58 คน แบ่งเป็น กทม. 47 คน นนทบุรี และสมุทรปราการ จังหวัดละ 5 คน ปทุมธานี 1 คน 2. ภูเก็ต ชลบุรี จังหวัดละ 16 คน 3. กลุ่มชายแดนใต้ที่มาจากมาเลเเซียและอินโดนีเซีย 12 คน และ 4. จังหวัดอื่นๆ จังหวัดละคนสองคน
“สถานการณ์อาจค่อนข้างคงที่ โชว์ลักษณะที่ดีไม่เพิ่มมาหลายวัน แต่ยังต้องทำ 2 เรื่องสำคัญ คือ มาตรการสาธารณสุข ขอความร่วมมือผู้ป่วยไข้ ไอ เจ็บคอปอดอักเสบ คือ มีอาการเหนื่อยหอบ เข้ามาพบแพทย์โดยเร็ว จะพยายามตรวจหาผู้สัมผัสให้มากที่สุด และติดตามไป 14 วัน เพื่อตัดวงจรการแพร่ระบาดของโรคได้ และอีกมาตรการ คือ มาตรการทางสังคม คือ เพิ่มระยะห่างระหว่างบุคคลและสังคม ตอนนี้หลายจังหวัดประกาศมาตรการจังหวัดตัวเองออกมา เพื่อกระตุ้น เพิ่มความเข้มข้นมาตรการเหล่านี้ให้มากที่สุด โดยมาตรการทั้งสองอย่างต้องควบคู่กัน มิเช่นนั้นจะไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร” นพ.ธนรักษ์ กล่าว
เมื่อถามถึงกรณีการเสียชีวิตที่ปทุมธานีโดยตรวจพบว่าเป็นโควิด-19 แต่ชาวบ้านบริเวณโดยรอบมีความกังวล นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า จากการติดตามคนสัมผัสเสี่ยงสูงมาตั้งแต่ต้นปี แม้กระทั่งคนที่โดยสารร่วมเครื่องบิน รถบัส ร่วมบ้าน พบว่า 100 คน ติดโควิดจริงๆ 2-4% ไม่ได้แปลว่าสัมผัสเสี่ยงสูงแล้วจะติดเชื้อ ซึ่งเมื่อมีคติดเชื้อก็สอบสวนโรคลงไปในพื้นที่ สอบสวนให้เร็วที่สุด เพื่อดูว่าใครบ้างสัมผัสเสี่ยงสูง ดังนั้น คนในพื้นที่ อยากบอกว่าทำใจให้สบายๆ ไม่ต้องเครียดกังวล เพราะโอกาสป่วยจากผู้เสียชีวิตไม่ได้สูงมาก ผู้เสียชีวิตสักคนไม่ได้แปลว่าโรครุนแรงในพื้นที่นั้น เพราะอาจมาจากปัจจัยอื่น เช่น ผู้สูงอายุ โรคประจำตัว
ถามถึงกรณีข้อกังวลในพื้นที่แถบพาหุรัด-สำเพ็ง มีกระแสข่าวสาวติดโควิด-19 ไม่รู้ตัว และแพร่เชื้อให้คนในพื้นที่และคนใกล้ชิดจำนวนมาก ทำให้กังวลว่าจะเป็นคลัสเตอร์ใหม่หรือไม่ นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า คงต้องลงไปสอบสวนดูว่ากรณีนี้จะเป็นคลัสเตอร์ใหม่หรือไม่
เมื่อถามถึงบุคลากรทางการแพทย์ที่ติดเชื้อโควิดจากการพ่นยา (Nebulizer) เพราะไม่รู้ว่าคนไข้มีการติดโควิด จึงขอให้งดพ่นยาคนไข้ทุกคนทุกกรณี นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า ตอนนี้หลักเกณฑ์คือหากเป็นผู้ป่วยโควิด-19 จะไม่พ่นยา อย่างไรก็ตาม การพ่นยาในคนไข้ทั่วไปยังทำได้อยู่ แต่ต้องเช็กประวัติให้ชัดเจน