เครือข่ายฯ เสนอรัฐ ลดเวลาขายเหล้าเบียร์ วอนธุรกิจน้ำเมา หยุดส่งเสริม หยุดโฆษณา หยุดกระตุ้นการสังสรรค์ ลดปัจจัยเสี่ยงการแพร่และติดเชื้อโควิด-19
วันนี้ (1 เม.ย.) นายคำรณ ชูเดชา ผู้ประสานงานเครือข่ายเฝ้าระวังธุรกิจสุรา (Alcohol Watch) เปิดเผยว่า เครือข่ายเฝ้าระวังธุรกิจสุรา เครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮอล์ เครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ และสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า ขอแสดงความห่วงใยต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จำเป็นที่ทุกฝ่ายจะต้องร่วมมือกันแก้ไขปัญหานี้ร่วมกัน โดยเฉพาะปัจจัยเสี่ยงที่เกิดจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นหนึ่งปัจจัยแพร่ระบาด ทางเครือข่ายฯ จึงมีข้อเสนอตามข้อเท็จจริงดังนี้
1. ยิ่งดื่ม ยิ่งภูมิคุ้มกันร่างกายต่ำ แอลกอฮอล์เป็นเครื่องดื่ม ที่ส่งผลกระทบต่อระบบภูมิต้านทานของร่างกาย ฤทธิ์แอลกอฮอล์ส่งผลต่อตับ และระบบน้ำเหลืองซึ่งเป็นแหล่งสร้างภูมิคุ้มกันในการต่อต้านเชื้อไวรัส
2. นักดื่ม เสี่ยงที่จะติดเชื้อง่าย และเสี่ยงที่จะป่วยรุนแรงเมื่อติดเชื้อ ผู้ติดสุรา มีโอกาสติดเชื้อในปอดจากไวรัส มากกว่าคนปกติ 2.9 เท่า และเป็นสาเหตุการเสียชีวิตของผู้ติดเชื้อวัณโรคปอดถึง 13.5% ซึ่งเชื้อไวรัสโควิด-19 มีลักษณะเดียวกัน ดังนั้น ในสถานการณ์นี้ผู้ที่ดื่มสุราจนมีอาการติดสุรา จะมีความเสี่ยงที่จะป่วยรุนแรงเมื่อได้รับเชื้อไวรัสโควิด-19 จึงต้องระมัดระวังบุคคลเหล่านี้ไม่ให้เสี่ยงที่จะสัมผัสเชื้อ
3. สุราคือสินค้าควบคุม ในสถานการณ์นี้ สินค้าแอลกอฮอล์ เป็นสินค้าที่ ไม่จำเป็น (Non essential) และเป็นสินค้าที่ต้องจำกัดการเข้าถึง ได้แก่ จำกัดการซื้อขาย การโฆษณาประชาสัมพันธ์ การทำ CSRเป็นต้น เพราะเป็นสินค้าที่ทำให้คนดื่มมีความเสี่ยงมากขึ้น ทำให้คนดื่มขาดสติ และเป็นสินค้าที่ฟุ่มเฟือย
4. ปัญหาสังคมจากการดื่ม ในช่วงเวลาวิกฤตนี้ สุราสร้างผลกระทบทางสังคมอยู่แล้วในภาวะปกติ ยิ่งในภาวะวิกฤติโควิด-19 ก็จะยิ่งทวีความรุนแรงของปัญหา หากรัฐบาลไม่ดำเนินการอย่างใดต่อสินค้าน้ำเมา ได้แก่
4.1 เนื่องจากมาตรการขอให้อยู่บ้าน ประชาชนจำนวนหนึ่งที่ยังขาดความรับผิดชอบ อาจนัดหมายออกไปดื่มตามสถานที่อ่างเก็บน้ำ ริมน้ำ ชายทะเล ในชุมชน ทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ยากต่อการควบคุม รวมถึงปัญหาการดื่มในปริมาณที่มึนเมา ควบคุมสติไม่ได้ จะมีพฤติกรรมต่อต้านสังคม ไม่ยอมรับการปฏิบัติตามที่ราชการร้องขอ การท้าทายในรูปแบบต่างๆ ดังได้เห็นคลิปที่มีการต่อต้านการทำงานของ อสม. ที่ต้องไปขอร้องให้หยุดการตั้งวงดื่ม หรืออาจะขาดสติจนท้าทายว่าเป็นคนไม่กลัวไวรัส ไปทำพฤติกรรมเสี่ยงในกลุ่มเพื่อน เช่น กอดจูบท้าทายกันเป็นเรื่องขำขัน หรือ มีการท้าทายแข่งขันการดื่มหนัก เป็นต้น ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการเผยแพร่เชื้อไวรัสได้
4.2 ปัญหาการสื่อสารที่คึกคะนอง สร้างความเข้าใจที่ผิดๆในโลกสังคมออนไลน์ เช่นการทำคลิปสื่อสารว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สามารถฆ่าไวรัสได้ โดยการแสดงในคลิปมีการอธิบายขั้นตอน เช่นการอมกลั้วคอ ให้อยู่ในลำคอเพื่อให้แอลกอฮอล์ทำลายไวรัสเป็นต้น ซึ่งไม่ใช่ข้อมูลที่ถูกต้องและมีการแชร์คลิปดังกล่าวไปอย่างกว้างขวาง ในประเทศไทย ซึ่งการสร้างความเชื่อผิดๆเป็นปัญหามาแล้วในต่างประเทศ เช่น อิหร่าน ตุรกี มีผู้เสียชีวิตแล้วหลายสิบคนจากดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มีดีกรีสูง ที่เชื่อว่าฆ่าโควิด
4.3 ผลจากการดื่มสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาความรุนแรงในครอบครัว เกิดมีปากเสียง การทำร้ายร่างกาย การใช้ความรุนแรงต่อลูก ต่อญาติพี่น้องในบ้านมากขึ้น เมื่อมีการดื่ม คนในบ้านอาจอดทนในพฤติกรรมไม่ได้ มีปากเสียง หรืออาจมีการใช้จ่ายเงินไปซื้อสุราแทนที่จะซื้อของจำเป็นในยามนี้ หรือเมื่อเมาไม่ได้สติ มีปากเสียงจะทำร้ายกัน ซึ่งปกติจะมีเหตุความรุนแรงอยู่แล้วแต่ในภาวะนี้อาจจะเพิ่มขึ้น อีกทั้งหากเมาแล้วยังขับขี่รถออกไปซื้อเพิ่ม หรือเกิดความคึกคะนอง จะเกิดปัญหาอุบัติเหตุ ปัญหาทำร้ายกันในชุมชน เป็นต้น
5. การทำการตลาดออนไลน์ และเร่งระบายเบียร์ ที่ผลิตมาแล้วเพื่อเทศกาลสงกรานต์ ก่อนสินค้าจะหมดอายุ
ด้วยช่วงเทศกาลสงกรานต์ในทุกๆ ปี เป็นโอกาสทองของธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แต่เมื่อเทศกาลสงกรานต์ถูกเลื่อนออกไป ทำให้ธุรกิจต้องหาทางระบายสินค้าที่ผลิตออกมาแล้วให้ได้มากที่สุด โดยเฉพาะเบียร์ซึ่งมีช่วงเวลาหมดอายุ จึงพบว่ามีการโหมทำการตลาดทั้งทางตรงและทางอ้อม ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ออนไลน์ กันมากขึ้น ซึ่งในปัจจุบันแทบทุกแบรนด์หันมาทำการตลาดขายออนไลน์ เสี่ยงต่อการทำผิด พรบ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 รวมไปถึงจะพบว่ามีการจัดกิจกรรมปาร์ตี้ออนไลน์ ที่สอดรับกับการสั่งเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ออนไลน์เพื่อกินดื่มกันมากขึ้น
ทั้งนี้ เครือข่ายมีข้อเสนอ ดังนี้
1. ยึดหลัก “อยู่บ้าน หยุดสังสรรค์ รักษาร่างกายให้แข็งแรง สร้างเสริมภูมิคุ้มกัน” ทั้งนี้ มาตรการให้ประชาชนอยู่บ้าน ทำให้หลายคนไม่รู้ว่าจะทำอะไร ซึ่งปกติตอนเย็นจะใช้เวลาสังสรรค์ และการพบปะเพื่อน พบว่าประชาชนจำนวนหนึ่ง ได้รวมตัวกันดื่มสังสรรค์ ในกลุ่มเพื่อน ทั้งในบ้านและพื้นที่สาธารณะ ทำให้เป็นพฤติกรรมเสี่ยงในการแพร่เชื้อในกลุ่ม ซึ่งเคยปรากฏแล้วว่า กลุ่มที่ทำงานย่านสถานบันเทิงต่างๆ เป็นแหล่งแพร่เชื้อสำคัญในเวลานี้ จึงเป็นช่วงเวลาที่ต้องอดทนและคิดบวก ในการใช้โอกาสนี้ลด ละ เลิก สุรา หรือเข้าระบบการบำบัดรักษา รักษาร่างกายให้แข็งแรงเป็นเกราะป้องกันเชื้อไวรัส
2. ธุรกิจน้ำเมา หยุดส่งเสริม หยุดโฆษณา หยุดกระตุ้นการสังสรรค์ ลดปัจจัยเสี่ยงการแพร่และติดเชื้อได้ ด้วยธุรกิจน้ำเมาได้รับผลกระทบอย่างหนัก เพราะมีการปิดแหล่งท่องเที่ยวสถานบริการ ได้ใช้โอกาสนี้ทำการตลาดผ่านออนไลน์ เป็นการส่งเสริมให้ประชาชนร่วมกลุ่มสังสรรค์ ซึ่งผิดหลักการรักษาระยะห่างทางสังคม ในการป้องกันการแพร่เชื้อ บรรดาผู้ผลิต นำเข้าและจำหน่ายสุรา ตลอดจนผู้ประกอบการร้านเหล้าผับบาร์ และธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสุราควรใช้โอการนี้ในการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม ด้วยการไม่ทำกิจกรรมส่งเสริมการขาย สื่อสารการตลาด ที่ไปกระตุ้นการกินดื่มในช่วงเวลานี้อย่างเด็ดขาด สิ่งที่ควรทำคือการร่วมสนับสนุน บริจาควัสดุ อุปกรณ์ สิ่งของเครื่องใช้ทางการแพทย์ เพื่อให้แพทย์ พยาบาล โรงพยาบาลต่างๆ ได้ใช้ในการต่อสู้กับวิกฤต
3. รัฐบาลควรพิจารณาในการออกนโยบายสำคัญ คือ
3.1 ลดเวลาการจำหน่ายสุรา ซึ่งปัจจุบันให้ขายได้ในเวลา 11.00-14.00 น. และ 17.00-24.00 น.” เสนอให้ปรับเหลือ 17.00-20.00 น. หรือลดจำนวนเวลาให้สั้นกว่านี้ หรือ งดจำหน่ายไปเลยแต่มาตรการนี้ควรดูแลผู้ที่มีภาวะติดสุราซึ่งจะมีอาการขาดสุรา ดังนั้นต้องเตรียมการรองรับ
3.2 ห้ามการขายสุราทางออนไลน์ ห้ามโฆษณาส่งเสริมการขายทางออนไลน์ทุกรูปแบบ รวมทั้งห้ามขายแบบสั่งตรงจากร้านค้า (Delivery) โดยการออกเป็นอนุบัญญัติ อาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551หรือใช้อำนาจตามกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง
3.3 ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ต้องมีแนวปฏิบัติให้กับชุมชนที่ชัดเจนว่าควรจัดงานเพื่อรักษาประเพณี หรือไม่ หรือไม่ควรจัด หรือ ถ้าจะจัดงานต้องทำอย่างไร และจะมีมาตรการงดการดื่มฉลองในช่วงนี้อย่างไร