xs
xsm
sm
md
lg

คณบดีศิริราช ย้ำ แห่หา “แรพิดเทสต์” ตรวจโควิด-19 ไม่มีประโยชน์ ควรหยุดอยู่บ้าน มีระยะห่าง เป็นวิธีสู้ที่ดีที่สุด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



คณบดีศิริราช ย้ำ แรพิดเทสต์ไม่ใช่ของวิเศษที่ต้องไปตรวจ ขอคนไม่มีอาการ ไม่มีความเสี่ยงหยุดอยู่กับบ้าน มีระยะห่างทางสังคม ช่วยต่อสู้กับโควิด-19 ได้ดีที่สุด ส่วนคนมีอาการ และเป็นกลุ่มเสี่ยงควรมาตรวจ ส่วนคนไม่มีอาการ แต่เป็นกลุ่มเสี่ยงควรตรวจด้วย หากผลเป็นลบให้เฝ้าระวังต่อ 14 วัน ห่วงกลุ่มกลับบ้านต่างจังหวัดออกันที่ขนส่ง หากไม่กักตัวเอง ลดสุงสิงจะทำให้มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้น อาจพบถึง 2 พันคน  

วันนี้ (27 มี.ค.) ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงการตรวจยืนยันโรคโควิด-19 ว่า ในเวลานี้ เราจะแยกคนไทยเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 คนไม่มีอาการ และไม่ได้เป็นกลุ่มเสี่ยง แนะนำว่า ไม่ต้องไปทดสอบอะไรเลย และไม่ต้องไปหาชุดทดสอบรวดเร็ว (แรพิดเทสต์) มาตรวจ เพราะไม่มีประโยชน์ นอกจากเสียเงินแล้ว จะทำให้น้ำยาที่ต้องใช้ตรวจในคนจำเป็นไม่เพียงพอ โดยสิ่งที่ควรทำ คือ การอยู่บ้านหยุดเชื้อเพื่อชาติ ซึ่งจะทำให้เชื้อแพ้เรา และทำเรื่องระยะห่างทางสังคม เพราะโรคติดต่อจะไม่ติดต่อถ้าเราไม่ติดต่อกัน หากคุยกันก็ควรห่างประมาณ 2 เมตร เพราะในระยะ 1 เมตร การพูดคุยกันจะมีฝอยละอองขนาด 5 ไมครอน ออกมามากถึง 3,000 ละออง 

กลุ่มที่ 2  คือ กลุ่มคนที่ไม่มีอาการ แต่เป็นคนกลุ่มเสี่ยง ซึ่งไม่ใช่แค่การประเทศกลุ่มเสี่ยง แต่รวมสถานที่ที่มีการเจอผู้ป่วยด้วย ก็ให้เอะใจว่าอยู่ในกลุ่มเสี่ยง กลุ่มนี้แนะนำให้ไปที่ รพ. เพื่อทดสอบ หากผลเป็นลบ อย่าเพิ่งดีใจ เพราะหมายความว่า เวลาตอนนั้นบอกเป็นลบ สิ่งที่ต้องทำต่อ คือ กลับไปอยู่บ้านให้ครบ 14 วัน และมีระยะห่างทางสังคม แต่ถ้าตรวจแล้วผลบวกแสดงว่ามีไวรัสอยู่ในตัวแล้ว ก็ต้องอยู่ รพ. การตรวจยังคงเป็นการใช้วิธีพีซีอาร์เพื่อยืนยันเชื้อเป็นหลัก แต่หากมีผู้ป่วยล้น รพ.จนรับไม่ไหว แรพิดเทสต์ที่มีความไวจะมีประโยชน์ เพราะหากผลเป็นบวก จะทำให้บุคลากรตรงนั้นต้องระวังทันที และผู้มาตรวจก็เข้าสู่กระบวนการตรวจยืนยันอีกครั้งหนึ่ง ว่า มีไวรัสตัวนี้จริงหรือไม่ นอกจากนี้ ยังมีประโยชน์ในคนที่มีอาการรุนแรงแล้ว เพราะหากมาแล้วต้องใส่ท่อช่วยหายใจ ทำให้เก็บตัวอย่างจากหลังจมูกไม่ได้ ส่วนใหญ่พวกนี้ระบบภูมิคุ้มกันจะพบในกระแสเลือดสูงแล้ว ก็ใช้เจาะเลือดตรวจได้

และกลุ่มที่ 3 คือ กลุ่มที่มีอาการและเป็นกลุ่มเสี่ยง กรณีแบบนี้ขอให้ไป รพ.และทำการทดสอบด้วยวิธีหลัก คือ ตรวจแบบพีซีอาร์ เพราะเสี่ยงแล้วต้องยืนยันว่าใช่หรือไม่ใช่ และทำการรักษา ดังนั้น ต้องถามตัวเราว่าอยู่กลุ่มไหน 

“สำหรับแรพิดเทสต์มี 2 อย่าง คือ 1. ตรวจหาระดับพันธุกรรมไวรัสเหมือนกัน แต่เทคโนโลยีทำให้สั้นลง รู้ผลเร็วขึ้น แต่สิ่งนี้อยู่ในระหว่างการวิจัยพัฒนาเครื่องมือ ยังไม่ออก และ 2. ตรวจภูมิคุ้มกัน แต่มีช่วงเวลาที่จะตรวจไม่เจอ เพราะวันแรกที่ได้เชื้อเข้าไป เฉลี่ย 5-7 วัน หลังรับเชื้อภูมิคุ้มกันจะขึ้น ถ้าเรามาตรวจภูมิในช่วงที่ภูมิยังไม่ขึ้นหรือน้อย อาจเป็นลบ แต่จริงๆ มีไวรัสในตัวเราแล้ว การพยายามวิ่งไปตรวจเทสต์ พอผลเป็นลบก็ดี๊ดา จริงๆ ไม่ใช่ แต่ถ้าตรวจช่วง 7-14 วันแล้วภูมิขึ้น ก็ต้องยืนยันอีกครั้งด้วยการตรวจพีซีอาร์ ยืนยันว่า แรพิดเทสต์ไม่ได้เป็นเมจิก ไม่เป็นของวิเศษที่จะใช้ทดแทน หรือทุกคนต้องตรวจยืนยัน เพราะถ้าไม่แปลผลให้ดี แปลผิดก็เป็นอันตราย” ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าว

ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า องค์การอนามัยโลก ย้ำว่า วิธีสู้โควิดทั้วโลก ไม่ใช่การออกมาทดสอบตรวจเชื้อ สิ่งที่ทุกคนทำได้และช่วยได้ คือ 1. การอยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพราะหากในบ้านเราปลอดไวรัส การออกจากบ้านก็เป็นการเพิ่มความเสี่ยง อาจไปคุยกับคนที่มีไวรัส แต่ไม่มีอาการ เมื่อกลับบ้าน ก็เสี่ยงทำให้ในบ้านนั้นมีโอกาสติดได้ นอกจากนี้ คนที่มีเชื้อก็เสี่ยงออกไปแพร่ใส่คนอื่น บ้านอื่นๆ ก็จะเป็นสีแดงเยอะขึ้น ถ้าต้องออกจากบ้านต้องมีระยะห่างทางสังคม อย่างน้อย 1-2 เมตร สวมหน้ากากอนามัย หรือหน้ากากผ้า ตอนนี้ขอว่าอย่าเอาสุขสบายอย่างเดียว หากเราทำสำเร็จ เราจะหยุดเชื้อได้สำเร็จ

ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา สถานการณ์ผู้ป่วยของไทยยังไม่หนักเท่ามาเลเซีย ซึ่งขึ้นสูงและเร็ว ทั้งจำนวนผู้ป่วยและเสียชีวิต ถ้าไทยยังไม่ยอมหยุดเพื่อเว้นระยะห่างทางสังคม โดยเฉพาะคนที่เดินทางกลับต่างจังหวัด หากยังมีการสังสรรค์ ก็มีโอกาสที่จะแพร่เชื้อสูงมาก ซึ่งตนคาดว่า ภายใน 2 สัปดาห์ เราจะพบตัวเลขผู้ป่วยกระโดดขึ้นอีกครั้งจากกลุ่มที่เดินทางกลับจากต่างจังหวัด ที่มีการไปรวมตัวกันตามขนส่ง ถึงแม้จะใส่หน้ากาก แต่ก็อยู่รวมกันเป็นเวลานาน และเดินทางในรถคันเดียวกันหลายชั่วโมง ก็ถือว่ามีความเสี่ยงที่จะแพร่เชื้อทำให้อาจพบผู้ป่วยถึง 2 พันคน เมื่อถึงวันนั้นบุคลากรทางการแพทย์ของไทยอาจจะไม่เพียงพอ เพราะสัดส่วนในการดูแลผู้ป่วยปัจจุบันใน กทม.แพทย์ 1 คน ดูแลผู้ป่วย 800 คน แต่ถ้าเป็นต่างจังหวัดโดยเฉพาะภาคอีสานแพทย์ 1 คน ดูแลผู้ป่วยมากถึง 3,000 คน รวมถึงอุปกรณ์และผู้เชี่ยวชาญก็อาจจะมีน้อยหรือไม่พร้อม อาจทำให้อัตราการเสียชีวิตเพิ่มสูงไปพร้อมกับจำนวนผู้ป่วย

ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า ขอให้ทุกฝ่ายเตรียมพร้อมเรื่องอุปกรณ์ป้องกันเอาไว้ให้เพียงพอกับสถานการณ์ในอนาคต เพราะจากข้อมูลเฉพะใน รพ.ศิริราช การดูแลผู้ป่วย 1 คน ใน 1 วัน ต้องใช้ชุดหมี หรือชุดป้องกันส่วนบุคคล หรือ PPE มากถึง 30 ชุด ซึ่งตอนนี้โรงพยาบาลศิริราช มีการดูแลผู้ป่วยอาการหนัก 7 ราย ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ มีทั้ง คนอ้วน และคนที่มีโรคประจำตัว ต้องใช้ชุดเฉลี่ยวันละ 200 ชุด เพราะฉะนั้น ต้องหาให้พอ อยากให้คนที่ใจบุญมีคอนเนกชันในการจัดหาชุด PPE ได้ก็ขอให้บริจาคเป็นชุดแทนเงิน เพราะในสถานการณ์แบบนี้ต่อให้มีเงินก็หาซื้อไม่ได้ เพราะทั่วโลกต่างมีความต้องการแบบเดียวกัน ส่วนกรณีที่ รพ.ศิริราช มีการตัดเย็บชุดพลาสติกป้องกันเชื้อนั้น เป็นการเตรียมเอาไว้ใช้สำหรับดูแลผู้ป่วยที่อาการไม่มาก ส่วนการดูแลผู้ป่วยอาการหนักยังจำเป็นอย่างมากที่ต้องใช้ชุด PPE เท่านั้น








กำลังโหลดความคิดเห็น