xs
xsm
sm
md
lg

ไทยอยู่ทาง 2 แพร่ง เตือนไม่อยู่บ้าน ไม่มีรักษาระยะห่าง 1-2 สัปดาห์ อาจป่วยพรวดแบบอิตาลี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สธ.ชี้ ไทยอยู่ทาง 2 แพร่ง ผู้ป่วย “โควิด-19” จะเพิ่มพรวดๆ แบบอิตาลี หรือค่อยๆ เพิ่มแล้วลดลงแบบญี่ปุ่น ไต้หวัน อยู่ที่วินัยคนไทยอยู่บ้าน หยุดแพร่เชื้อ ห่วงหลายพื้นที่สั่งปิดสถานที่ แต่ยังออกมารวมตัวก๊งเหล้า คาด หากไม่ทำ 1-2 สัปดาห์ ไปแบบอิตาลีแน่ เตือนคนกลับต่างจังหวัดให้กักตัวเอง ป้องกันเอาเชื้อไปติดผู้สูงอายุในบ้าน ชี้ เสี่ยงอาการรุนแรงถึงเสียชีวิตมากกว่า

วันนี้ (23 มี.ค.) นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า จาก 2-3 วันที่ผ่านมา จะเห็นว่าตัวเลขผู้ป่วยโควิด-19 เพิ่มขึ้นก้าวกระโดดรวดเร็ว มีคนถามว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป จะเกิดอะไรขึ้นกับประเทศไทย ตนคิดว่า ประเทศไทยไม่ได้เป็นประเทศเดียวที่มีโรคโควิด-19 แต่มีทั่วโลก ตั้งแต่จีนที่มีผู้ป่วยมากและคุมอยู่ ถัดมาระบาดมาทางประเทศใกล้เคียง ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ ข้ามไปฟากยุโรป เช่น อิตาลี ข้ามไปสหรัฐอเมริกา แคนาดา ทั้งนี้ จากการพลอตกราฟโดยใช้ข้อมูลสถิติ ว่า ประเทศไหนถ้าเข้ามาสู่ 100 รายแล้ว การคาดการณ์ปรากฏการณ์ข้างหน้าจะเป็นอย่างไรต่อ ก็พบว่าเมื่อถึง 100 รายแล้ว จะเพิ่มค่อนข้างรวดเร็ว แต่ทิศทางจะเป็นอย่างไรต่อ ขึ้นอยู่กับประชาชนที่จะต้องช่วยตัดสินใจ เช่น จะเป็นอย่างยุโรปแบบอิตาลี หรือ อิหร่าน ที่วิ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว จาก 100 เป็น 200 ขึ้นมาเป็นหลักพัน และระดับหลายหมื่น การขึ้นไปรวดเร็วเช่นนี้ ปัญหาคือระบบสาธารณสุขรองรับไม่ทัน หลายประเทศจึงมีอัตราการเสียชีวิตจำนวนมาก หรือจะเป็นแบบเพื่อนบ้าน เช่น ญี่ปุ่น ไต้หวัน สิงคโปร์ เป็นต้น ที่ตัวเลขขึ้นไป แต่สุดท้ายถูกเบนไปได้ แม้กระทั่งเกาหลีใต้ที่ขึ้นไปจำนวน 7-8 พันราย ก็สามารถเบนออกไปได้อย่างเร็ว

นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า ตอนนี้เราอยู่ที่ประมาณ 721 ราย หมายความว่า เรายังอยู่ในสิ่งที่ทางการแพทย์เรียกว่า Golden Period หรือ เวลาทอง ถ้าเราไม่ประพฤติปฏิบัติตัวมีวินัยอย่างเคร่งครัดในการอยู่บ้านหยุดเชื้อ หรือออกไปนอกบ้านแล้วป้องกันตัวเอง เราจะเดินไปเหมือนยุโรป คือ อีกไม่กี่วันจะทะลุพัน ไม่กี่วันจะทะลุหลายๆ พัน แล้ว ก็นึกไม่ออกว่าทางการแพทย์จะรับมือได้มากน้อยแค่ไหน แม้จะทำดีที่สุด ระบบสุขภาพเราจะแข็งแรงมาก มีความเสี่ยงว่าเราจะเสียชีวิตเพิ่ม เราจึงอยู่ในจุดที่เลือกได้ จะเลือกช่วยกันทำให้ออกมาในแนวทางค่อยๆ เพิ่มขึ้นไป เพราะเราหยุดการเพิ่มไม่ได้ แต่เพิ่มขึ้นไปถึงจังหวะหนึ่งจะค่อยๆ เบนออกไปคือน้อยลง หรือจะทำให้พุ่งโด่งแบบอเมริกาหรือยุโรป ขึ้นกับมือของทุกคน ระบบสาธารณสุขทำได้แค่ค้นหา รักษา เพราะฉะนั้นมาตรการใดที่รัฐออกมา ขอให้เข้าใจคอนเซปต์ว่าคืออะไรแล้วดำเนินการ

“อย่างกรณีรัฐบอกว่าปิดไม่ให้ไปนั่งทานอาหาร ก็ไปนั่งสุมหัว ตั้งวงก๊งเหล้า ถ้าชุมชนสังคมไม่ช่วยกัน วันหนึ่งรัฐอาจจะมีความจำเป็นที่อาจจะต้องล็อกดาวน์ ห้ามทุกคนออกจากบ้าน ซึ่งก็ไม่อยากให้ไปถึงขั้นนั้น เพราะฉะนั้น วันนี้ประชาชนเลือกได้ ถ้าเราร่วมมือกันจะไปแบบญี่ปุ่น ไต้หวัน และขอฝากคนที่กำลังเดินทางออกต่างจังหวัด ความเสี่ยงจะเกิดขึ้นตั้งแต่ท่านขึ้นยานพาหนะ หลายคนไปที่ขนส่งสาธารณะ ต้องป้องกันระมัดระวังตัวเอง ในระหว่างที่นั่งไปในระบบปิดอากาศถ่ายแทน้อย และนั่งเป็นระยะเวลายาวนานหลายชั่วโมง และคนที่เดินทางโดยรถตู้และแออัดที่มีเวลายาวนานต้องระมัดระวัง เมื่อไปที่ปลายทางแล้วบางพื้นที่จะช่วยกรุณาขอความร่วมมือรายงานตัวและกักตัวอยู่ที่บ้าน เพื่อหยุดการแพร่เชื้อ ก็หวังว่า จะเห็นกราฟของบ้านเราไม่ขึ้นเหมือนแบบยุโรปหรืออเมริกา” นพ.ศุภกิจ กล่าวและว่า หากเราไม่ร่วมมือกันภายใน 1-2 สัปดาห์ตัวเลขผู้ป่วยอาจเพิ่มขึ้นไปแบบยุโรปหรืออิตาลีแน่

นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า อีกเรื่องที่อยากย้ำ คือ จากสถิติคนเสียชีวิตทั่วโลกชัดเจนว่า เกิดกับคนที่สูงอายุมากๆ ยิ่งอายุเกิน 70-80 ปีขึ้นไป โอกาสที่จะเสียชีวิตสูงมาก ในขณะที่คนหนุ่มสาวหรือเด็กต่ำมาก แต่อิทธิฤทธิ์การแพร่เชื้อไม่ได้ต่างกัน ฉะนั้น การที่เห็นข่าวคนแห่กลับภูมิลำเนา ตรงนี้อันตรายถ้าท่านติดเชื้อแล้วไม่รู้ว่าตัวเองติดเชื้อ กลับไปคลุกคลีตีโมง กับปู่ ย่า พ่อ แม่ ซึ่งเขาอยู่กับบ้านไม่ได้เป็นปัญหาอะไรเลย ท่านจะเป็นคนเอาเชื้อไปติด แล้วโอกาสที่ผู้สูงอายุเหล่านั้นจะเสียชีวิตมีสูงมาก ฉะนั้น ขอให้ระวัง ช่วงนี้ถ้าไม่จำเป็น คนหนุ่มสาวที่ไปทำงาน เมื่อกลับบ้าน ขอให้แยกหรืออยู่ห่างจากผู้สูงอายุก่อน หรือถ้าต้องไปสัมผัสใกล้ชิด ต้องใส่หน้ากาก ล้างมือ ต้องมั่นใจว่าตัวท่านไม่มีเชื้อจริงๆ แล้วค่อยสัมผัส

“ส่วนเรื่องกลับบ้านยังยืนยันว่า คนในต่างจังหวัดเราก็ตกใจเหมือนกันว่าปิดห้างแล้วคนจะอยู่บ้าน แต่เราก็เข้าใจว่า บางทีไม่มีทางเลือก ฉะนั้น เรามีหนังสือสั่งการชัดเจนไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดและสถานบริการของเราทั้งหมด รวมถึง อสม.เราจะช่วยกันตรวจทุกพื้นที่ว่าใครกลับมา ก็ต้องขอความร่วมมือประชาชนด้วย ลงรถตี 2 ตี 3 อาจไม่มีใครมาดูท่าน แต่ความรับผิดชอบของท่านต่อประเทศชาติ ขอให้ไปท่านไปบอกเขา จะได้แนะนำได้ว่าระหว่างอยู่บ้าน 14 วันนั้นทำอย่างไรให้ปลอดภัย เรายืนยันว่าเรามีระบบที่เตรียมพร้อมไว้แล้ว” นพ.ศุภกิจ กล่าว

เมื่อถามว่า อุปกรณ์การแพทย์เพียงพอหรือไม่ที่จะสามารถรองรับได้  นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า เราเตรียมไว้มากที่สุด โดยเรามีเตียงประมาณ 1 หมื่นเตียง สำหรับเคสไม่หนัก และ 2-3 พันเตียงสำหรับไอ.ซี.ยู. แต่ขึ้นกับความเร็วของการมา ซึ่งเตียงอย่างเดียว ห้องอย่างเดียว ไม่ได้แปลว่าเราพร้อม ต้องมีหมอพยาบาลคนมาดูแล ถ้าค่อยๆ มาไม่ค่อยมีปัญหา ถ้ามาแบบอิตาลีก็จะเป็นปัญหา วันนี้ข้อความสำคัญเดียว คือ ประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจ บางประเทศไม่มีสิทธิเลือกเลย แต่เรามีผู้ป่วย 721 ราย ยังอยู่ที่ทางสองแพร่ง จะไปซ้ายไปขวาขึ้นกับประชาชนล้วนๆ เลย

นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า สำหรับประเด็นเรื่องการตรวจโรคโควิด-19 ขอชี้แจงว่า มีการตรวจอยู่ 2 ลักษณะ คือ 1. การตรวจตัวเชื้อ หรือ แอนติเจน ซึ่งปัจจุบันเราใช้วิธีนี้ เพราะตรวจได้เร็วว่าใครมีเชื้อหรือไม่ แต่จะมีช่วง Window Period คือ ระยะเวลาที่ยังตรวจไม่พบเชื้อ เพราะหากรับเชื้อวันนี้ ประมาณ 3-5 วันถึงจะตรวจเจอ ดังนั้น การที่ไปตรวจเร็วเกินไปแล้วไม่เจอไม่ได้หมายความว่าไม่เป็น และ 2. การตรวจแอนติบอดี หรือ ตรวจภูมิคุ้มกัน ที่ตรวจได้ง่ายและเร็วกว่า แต่ Window Period จะกว้างขึ้นไปอีก เพราะกว่าร่างกายจะสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาเพื่อจัดการกับไวรัส ใช้เวลา 10-14 วัน การแปลผลจึงต้องทำให้ดีและชัดเจน เพราะการตรวจพบท่านอาจเคยติดเชื้อ เคยเป็นแล้วหายแล้ว อาจจะเป็นการติดเชื้อไปเมื่อ 1-2 เดือนก่อน ท่านมาตรวจภูมิคุ้มกันมันก็เป็นบวก การแปลผลต้องดี ไม่เช่นนั้นคนจะตกใจ เพราะเชื้อบางอย่างภูมิคุ้มกันจะขึ้นตลอดชีวิต บางอย่างอาจจะขึ้น 6 เดือน หรือ 1 ปี เมื่อภูมิคุ้มกันยังอยู่ก็ยังตรวจได้ แต่ไม่ได้แปลว่าท่านแพร่เชื้อได้

“ความเข้าใจเช่นนี้สำคัญ เพราะหากวันหนึ่งมีคนเอาชุดตรวจเช่นนี้มาใช้ ไม่ว่าจะมาถูกหรือไม่ถูกกฎหมาย ซึ่งปกติก็ไม่ถูกกฎหมาย เพราะเรายังไม่ได้อนุญาต แต่อาจจะมีคนเอาเข้ามาจากแรงกดดันที่คนอยากจะตรวจกันมาก ก็ไปเอาชุดตรวจราคา 300-500 บาทมาตรวจท่าน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการตรวจแอนติบอดี แล้วมันตรวจแล้วบอกว่าท่านเคยติดเชื้อ ไม่ได้บอกอะไรมากกว่านั้น การแปลผลไม่ถูกทางก็อาจก่อให้เกิดผลเสียได้” นพ.ศุภกิจ กล่าว

เมื่อถามถึงกรณีองค์การอนามัยโลก (WHO) เตือนเรื่องการแพรของโรคโควิด-19 ทางอากาศ นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นการเตือนเจ้าหน้าที่ที่ดูแลผู้ป่วยซึ่งใช้เครื่องผลิตฝอยละออง เพราะโรคทางเดินหายใจบางโรค ยาต้องทำให้เป็นฝอยละอองเพื่อให้คนไข้สูดเข้าไป ซึ่งฝอยละอองนี้มันละเอียดยิบ จนกระทั่งล่องลอยไปได้ไกล ถ้ามีเชื้อโควิดอยู่ก็จะไปกับฝอยละอองนี้ แต่ว่าเครื่องนี้มันไม่ได้ใช้กับคนทั่วไป มนุษย์ทั่วไปอย่างเราเดินไป ไอจามออกมา ไม่สามารถที่จะผลิตละอองฝอยที่ละเอียดยิบขนาดนั้นได้ ดังนั้น คำเตือนที่ออกมาก็เป็นการเตือนแพทย์ให้ป้องกันตัวเองให้ดี




กำลังโหลดความคิดเห็น