xs
xsm
sm
md
lg

“อัศวิน” สั่งปิดห้างสรรพสินค้าใน กทม. เว้นซูเปอร์มาร์เกต ตลาดสด ร้านสะดวกซื้อ ร้านอาหารขายแบบหิ้วกลับบ้าน ตั้งแต่ 22 มี.ค.-12 เม.ย.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



อัศวิน ลงนามปิด 26 กลุ่มสถานที่เสี่ยงแพร่ COVID-19 ตั้งแต่ 22 มี.ค. - 12 เม.ย. พบปิดห้างสรรพสินค้าด้วย เว้นโซนซูเปอร์มาร์เกต ร้านขายยา ขายสิ่งจำเป็นดำรงชีวิต ร้านอาหารให้เปิดฌแพาะขายกลับบ้าน ตลาด-ตลาดนัด เปิดเฉพาะขายของสด อาหารแห้ง ปรุงสำเร็จ ฝ่าฝืนมีโทษ ขอความร่วมมือเอกชนให้ทำงานอยู่บ้าน ลดระยะห่างในทุกสถานที่ รวมทั้งขนส่งสาธารณะ ขอทุกคนอดทนไปด้วยกัน ชี้หากไม่ทำจะมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้น

วันนี้ (21 มี.ค.) พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) แถลงข่าวผ่านเฟซบุ๊ก ผู้ว่าฯ อัศวิน ว่า อย่างที่ทราบกันว่าประเทศไทยกำลังประสบปัญหาการแพร่ของโรคโควิด-19 กทม.ได้ฟังข้อมูลแนวโน้มตัวเลขผู้ที่จะติดเชื้อและเสียชีวิตจากการวิเคราะห์ของอาจารย์แพทย์ คณะแพทยศาสตร์หลายๆ แห่ง ชี้ว่าหากเรายังไม่มีมาตรการเข้มข้นมาสกัดการแพร่ระบาดของโรคในเร็ววันนี้ เราจะมีผู้ป่วยและเสียชีวิตเพิ่มขึ้น จนไม่สามารถรับมือได้ ดังนั้น เพื่อลดความเสี่ยง วันที่ 17 มี.ค. 2563 กทม.จึงออกคำสั่งปิด 8 สถานที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อ แต่ปัจจุบันยังมีอีกหลายสถานที่เสี่ยงการแพร่กระจายของเชื้ออย่างมาก คือ ร้านอาหาร สถานที่ทำงาน ที่มีผู้คนรวมตัวกันจำนวนมาก มีการพูดคยกันในระยะที่ใกล้ชิดและเป็นเวลานาน จึงขอความร่วมมือทุกท่านทุกภาคส่วนให้ความร่วมมือป้องกันการแพร่กระจายเชื้อโควิด-19 เพื่อให้การควบคุมโรคเป็นไปด้วยประสิทธิภาพ

“ขอให้ทุกสถานที่เว้นระยะห่าง 1-2 เมตร เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด รวมถึงร้านอาหารต่างๆ เปิดจำหน่ายแบบซื้อกลับบ้านเท่านั้น ห้างสรรพสินค้าและตลาด ให้เปิดได้เฉพาะในส่วนของการจำหน่ายอาหารและสินค้าจำเป็นในการดำรงชีวิตประจำวันเท่านั้น พี่น้องประชาชนไม่ต้องตื่นตระหนกกักตุนสินค้าอาหารกัน ยืนยันว่าซื้ออาหารของใช้จำเป็นได้อย่างพอเพียง และขอความร่วมมือปิดสถานที่อื่นๆ ที่เป็นแหล่งรวมตัวคนจำนวนมากมาอยู่ร่วมกันอย่างใกล้ชิด จะมีประกาศอีกครั้งภายในวันนี้ มาตรการดังกล่าวจะมี ผอ.เขตคอยควบคุมกำกับดูแลทุกสถานที่ให้ดำเนินการตามมาตรการเข้มข้นจริงจัง หากสถานที่ใดไม่ได้ดำเนินการตามมาตรการดังกล่าว ให้รายงานต่อผมโดยตรง เพื่อเสนอคณะกรรมการโรคติดต่อ กทม.พิจารณาปิดสถานที่นั้นๆ ตามมาตรา 35 พ.ร.บ.โรคติดต่อ” พล.ต.อ.อัศวินกล่าว

พล.ต.อ.อัศวินกล่าวว่า ส่วนรถไฟฟ้าบีทีเอส บีอาร์ที ขนส่งสาธารณะอื่นๆ ขอให้ลดผู้โดยสารแต่ละเที่ยวให้น้อยลง เพิ่มระยะห่างผู้ใช้บริการในขบวนรถ ไม่ว่าจะเป็นระบบล้อ ราง เรือ เพื่อลดโอกาสแพร่เชื้อ COVID-19 พี่น้องประชาชนใช้บริการอาจรอรถนานขึ้น แต่เพื่อความปลอดภัย และควบคุมอัตราแพร่เชื้อโรค ขอให้ทุกท่านเข้าใจร่วมมือกับเรา ผู้ประกอบการขนส่งมวลชนรูปแบบอื่นๆ ขิให้ตระหนักถึงการป้องกันแพร่เชื้อและดำเนินการในแนวทางนี้เช่นกัน โดยให้เริ่มตั้งแต่วันที่ 22 มี.ค.

“ผมเข้าใจสถานการณ์ดี ไม่ต้องการใช้มาตรการกฎหมายลงโทษประชาชน แต่เชื้อแพร่ได้เร็วมาก การควบคุมโรคจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากทุกคนทุกภาคส่วน ขอให้เข้าใจและร่วมมือกับมาตรการดังกล่าวของ กทม. โดยให้ตระหนักว่า เชื้อโควิดอยู่ใกล้ตัวเรา ถ้าไม่ช่วยกัน ตัวเราเอง คนที่เรารัก พ่อแม่พี่น้องลูกหลาน เพื่อนๆ มีสิทธิ์ติดต่อด้วยกันทั้งนั้น พี่น้อง กทม.ขณะที่เราอยู่ในช่วงเวลาชี้ชะตาว่า การระบาดของเชื้อจะควบคุมได้หรือไม่ แม้ผมไม่มีอำนาจสั่งการทุกคนหยุดทำงาน แต่ขอร้องสถานที่ทำงานให้ทำงานที่บ้านได้ หยุดงานเป็นการชั่วคราว งดจัดกิจรรมต่างๆ ที่มีผู้คนรวมตัวจำนวนมาก งดร่วมกิจกรรมไม่จำเป็น งานเลี้ยงสังสรรค์ และขอให้ร่วมมือกันเว้นระยะห่างระหว่างบุคคล ล้างมือ ไม่ไปสถานที่มีผู้คนหนาแน่น ขอให้เชื่อมั่นว่า เราทำงานเต็มที่ โดยเฉพาะ กทม.ทุกฝ่ายทำงานเต็มกำลังคัดกรองรักษาผู้ป่วย รวมถึงทำความสะอาดพื้นที่สาธารณะทุกวัน” พล.ต.อ.อัศวินกล่าว

พล.ต.อ.อัศวินกล่าวว่า การปิดสถานที่ย่อมเกิดผลกระทบเศรษฐกิจ แต่ขอให้คำนึงถึงคุณค่าการมีชีวิต การอยู่บ้านของท่าน คือ การช่วยชาติ ป้องกันการคุกคามของโควิด-19 กทม.จะทำทุกวิถีทางเพื่อป้องกันแพร่ระบาดใน กทม. และเราจะผ่านวิกฤตครั้งนี้ไปด้วยกัน ทั้ง กทม.และคนในประเทศไทย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม. ได้ลงนามในประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง สั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว (ฉบับที่ 2) โดยอาศัยอำนาจตามความมาตรา 35 (1) แห่ง พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร ให้ยกเลิกประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง สั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว ลงวันที่ 17 มี.ค. 2563 และให้ปิดสถานที่ในพื้นที่กรุงเทพมหานครเป็นการชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 22 มี.ค. - 12 เม.ย. 2563 ดังต่อไปนี้

1. ร้านอาหาร (ให้เปิดเฉพาะการจำหน่ายอาหารเพื่อนำกลับไปบริโภคที่อื่นและร้านอาหารในโรงแรมที่ให้บริการเฉพาะผู้ที่พักอาศัยในโรงแรม)

2. ห้างสรรพสินค้า เว้นแต่ซูเปอร์มาร์เกต ร้านขายยาหรือสินค้าเบ็ดเตล็ดที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต ร้านอาหาร (ให้เปิดเฉพาะการจำหน่ายอาหารเพื่อนำกลับไปบริโภคที่อื่น)

3. พื้นที่นั่งหรือยืนรับประทานอาหารในร้านสะดวกซื้อ

4. ตลาดและตลาดนัด (เปิดเฉพาะการจำหน่ายอาหารสด อาหารแห้ง อาหารปรุงสำเร็จเพื่อนำกลับไปบริโภคที่อื่น อาหารสัตว์ ร้านขายยา และสินด้เบ็ดเตล็ดที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต)

5. ร้านเสริมสวย แต่งผมหรือตัดผม

6. สถานที่บริการสักผิวหนังหรือเจาะส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างกาย

7. สถานที่เล่นสเกต หรือโรลเลอร์เบลด หรือการเล่นอื่นๆ ในทำนองเดียวกัน

8. สวนสนุก สถานที่เล่นโบว์ลิ่ง หรือตู้เกม

9. ร้านเกม และร้านอินเทอร์เน็ต

10. สนามกอล์ฟ หรือสนามฝึกซ้อมกอล์ฟ

11. สระว่ายน้ำ หรือกิจการอื่นๆ ในทำนองเดียวกัน

12. สนามชนไก่ และสนามซ้อมชนไก่่

13. ศูนย์พระเครื่อง พระบูชา และสนามพระเครื่อง พระบูชา

14. ศูนย์แสดงสินค้า ศูนย์ประชุม และสถานที่จัดนิทรรรศการ

15. สถานศึกษาทุกระดับ และสถาบันกวดวิชา

16. สถานที่ให้บริการควบคุมน้ำหนัก คลินิกความงาม และสถานเสริมความงาม

17. สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ (ร้านสปา ร้านนวดเพื่อสุขภาพ ร้านนวดเพื่อเสริมความงาม)

18. สถานที่ให้บริการสปา อาบน้ำ ตัดขุน รับเลี้ยงหรือรับฝากสัตว์

19. สถานประกอบกิจการอาบ อบ นวด

20. สถานประกอบกิจการอาบน้ำ อบไอน้ำ อบสมุนไพร

21. โรงมหรสพ (โรงภาพยนตร์ โรงละคร โรงมหรสพ)

22. สถานที่ออกกำลังกาย

23. สถานบริการและสถานประกอบการที่คล้ายสถานบริการ

24. สนามมวย และโรงเรียนสอนมวย

25. สนามกีฬา

26. สนามม้า

อนึ่ง เนื่องจากเป็นกรณีที่มีความจำเป็นรีบด่วนหากปล่อยให้เนิ่นช้าไปจะก่อให้เกิดผลเสียหาย อย่างร้ายแรงแก่สาธารณชนหรือกระทบต่อประโยชน์สาธารณะ จึงไม่อาจให้คู่กรณีใช้สิทธิโต้แย้ง ตามมาตรา 30 วรรคสอง (1) แห่งพ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 ผู้ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามมาตรา 52 แห่ง พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558








กำลังโหลดความคิดเห็น