WHO ระบุ ไทยรับมือโควิด-19 ได้ดี สามารถแยกตัวผู้ป่วยได้เร็ว ไม่ให้แพร่เชื้อคนอื่น แต่ห่วง 5 วัน แนวโน้มผู้ป่วยในไทยเพิ่มขึ้น ต้องเฝ้าระวังใกล้ชิด สงสัยผู้ป่วยในชุมชนจะเพิ่มขึ้น ย้ำ มาตรการสำคัญ รักษาระยะห่าง 1 เมตร เป็นเรื่องที่ทุกคนต้องทำ ส่วนปิดประเทศหรือไม่ ยังย้ำว่าต้องตระหนักเรื่องรักษาระยะห่าง
วันนี้ (20 มี.ค.) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) หารือร่วมกับ ดร.แดเนียล เคอร์เทซ ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย (WHO) ถึงสถานการณ์โรคโควิด-19 ในไทย โดย ดร.แดเนียล กล่าวว่า WHO มองว่า สธ.และประเทศไทยรับมือสถานการณ์โรคโควิด-19 ได้ดีเยี่ยม โดยไทยเป็นประเทศแรกที่สามารถวินิจฉัยคนไข้ติดเชื้อนอกประเทศจีนได้ และมีความเข้มแข็งในการระบุตัวผู้ติดเชื้อ และแยกตัวผู้ติดเชื้ออย่างรวดเร็ว เพื่อไม่ให้กระจายต่อคนอื่น อย่างไรก็ตาม จากการรับทราบว่า ช่วง 5 วันที่ผ่านมา ประเทศไทยมีจำนวนผู้ป่วยมากขึ้น ก็รู้สึกกังวล โดยเรากังวลเรื่องของโรคโควิด-19 จะแพร่เข้าไปในชุมชน ถ้าเป็นเช่นนั้นการติดตามค้นหาผู้สัมผัสเป็นไปได้ยากขึ้น สิ่งที่ WHO แนะนำว่าต้องทำคือมาตรการการมีระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) เพื่อป้องกันการติดเชื้อ ซึ่ง ครม.ไทยได้อนุมัติมาตรการเกี่ยวกับการระยะห่างทางสังคมแล้ว ถือเป็นมาตรการที่ดีมาก
ดร.แดเนียล กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ต้องฝากว่าในระดับบุคคล ก็ต้องช่วยเหลือกันในการทำเรื่องของระยะห่างทางสังคมด้วย โดยช่วงนี้มาตรการหลักๆ ที่ WHO อยากเสนอ คือ 1. ล้างมือเป็นประจำด้วยสบู่และน้ำสะอาด หรือแอลกอฮอล์เจล 2. หลีกเลี่ยงการสัมผัสใบหน้า เพราะโรคทางเดินหายใจจะติดจากมือที่มีเชื้อแล้วไปสัมผัสหน้าเข้าจมูกปากก็ติดได้ 3. การไอหรือจามให้ใช้ข้อศอกด้านในปิดปาก หรือใช้ทิชชู แล้วทิ้งขยะทันทีแล้วล้างมือตาม และ 4. การทำเรื่องระยะห่างทางสังคม โดยมีระยะห่างอย่างน้อย 1 เมตร ซึ่งอยากจะเน้นย้ำในเรื่องนี้มาก อย่างไรก็ตาม WHO จะร่วมมือกับรัฐบาลไทยในการประสานความร่วมมือเป็นอย่างดี เพื่อรับมือสถานการณ์โรคโควิด-19 ในประเทศไทยด้วย
เมื่อถามว่า สถานการณ์ในปัจจุบันของประเทศไทยถึงเวลา หรือจำเป็นที่จะต้องใช้มาตรการปิดประเทศ (ล็อกดาวน์) หรือไม่ ดร.แดเนียล กล่าวว่า มีเรื่องจำเป็นต้องทำ 2 อย่าง คือ 1. ดำเนินมาตรการทางสาธารณสุขเชิงรุก ซึ่งที่ผ่านมา รัฐบาลไทยทำได้ดีอยู่แล้ว เช่น การระบุผู้ป่วย การตรวจแล็บผู้ต้องสงสัย การแยกผู้ป่วยอย่างรวดเร็ว เพื่อที่จะไม่ให้เกิดการแพร่เชื้อไปยังคนอื่น รวมทั้งการค้นหาผู้ที่มีประวัติสัมผัสเชื้อ ซึ่งประเทศไทยจำเป็นที่จะต้องยังคงเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เนื่องจากจำนวนผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น และกำลังสงสัยว่าจำนวนผู้ป่วยในชุมชนจะเพิ่มขึ้นด้วย และ 2. เป็นสิ่งที่จำเป็นจะต้องให้ความสำคัญกับมาตรการรักษาระยะห่าง ซึ่งไทยดำเนินการอยู่แล้ว และเป็นสิ่งที่ทุกคนจะต้องให้ความสำคัญกับเรื่องการรักษาระยะห่าง
ถามย้ำว่า จำเป็นต้องปิดประเทศหรือไม่ ดร.แดเนียล กล่าวว่า ปิดประเทศหมายถึงอย่างไร แต่ส่วนตัวคิดว่า ทุกคนจะต้องตระหนักในสิ่งที่ตัวเองกำลังทำอยู่ เช่น ยังคงรักษาระยะห่างไว้หรือไม่ ไม่ไปบาร์ ไม่ไปร้านอาหาร ทุกคนต้องเสียสละในส่วนนี้