แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ แจงอาการ "ผู้ป่วยโควิด-19" รุนแรงแตกต่างกัน ไม่เกี่ยวกับตัวเชื้อไวรัส เพราะยังไม่มีการกลายพันธุ์ หรือหลายสายพันธุ์สำหรับตัว COVID-19 แต่เกี่ยวกับร่างกายผู้ป่วย ชี้คนแก่ มีโรคประจำตัว กินยากดภูมิ คนอ้วน สภาพปอดเสียหายหรือปอดทำงานได้ไม่เต็มที่ ทำให้รับเชื้อแล้วอาการรุนแรงกว่า ส่วนเด็กอาการน้อย ห่วงหากแพร่ระบาดระยะ 3 อาจนำเชื้อกลับไปให้คนในบ้านง่าย ระบุปริมาณเชื้อมีส่วนต่อความรุนแรงด้วย อย่างกลุ่มปาร์ตี้ 11 คน
วันนี้ (14 มี.ค.) นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ กล่าวถึงอาการของผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 ที่มีความรุนแรงมากน้อยต่างกันในแต่ละราย ว่า ความรุนแรงของผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีความแตกต่างกัน ขณะนี้ยังไม่น่าเกี่ยวข้องกับตัวเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เนื่องจากเป็นเชื้อตัวใหม่ เพราะฉะนั้น เชื้อจึงยังไม่มีชนิดที่กลายพันธุ์รุนแรง หรือมีหลายๆ สายพันธุ์ ยังมีอยู่สายพันธุ์เดียว แต่ความรุนแรงที่แตกต่างกันนั้นน่าจะเกี่ยวข้องกับตัวของผู้รับเชื้อเข้าไป ซึ่งกลุ่มที่มีปัจจัยเสี่ยงทำให้เกิดอาการรุนแรงมากกว่ากลุ่มอื่น คือ ผู้สูงอายุ คนที่มีโรคประจำตัว พวกที่กินยากดภูมิ เช่น ยาสเตียรอยด์ ซึ่งมีร่างกายที่อ่อนแออยู่แล้ว เมื่อโดนเชื้อเข้าไปก็ทำให้ร่างกายแย่ได้ พวกนี้เวลาติดเชื้อตัวนี้เป็นแล้วจะรุนแรง ตรงนี้เป็นหลักการคร่าวๆ และการศึกษาไม่ว่าจากจีนหรือของไทยก็ตาม ออกมาเหมือนกันใกล้เคียงกันในเรื่องนี้
นพ.ทวี กล่าวว่า ในส่วนของเด็กความรุนแรงต่ำกว่า จะสังเกตว่า โรคติดเชื้อต่างๆ เป็นโรคของเด็กเกือบทั้งหมด เพราะธรรมชาติจะสร้างให้ร่างกายของเด็กสู้กับเชื้อพวกนี้ได้ เพื่อจะได้เติบโตเป็นผู้ใหญ่และมีภูมิคุ้มกัน ถือเป็นธรรมชาติ แต่ที่เรากังวล คือ เด็กจะเป็นตัวการพาโรคโควิด-19 เข้าไปในครอบครัว เพราะเด็กไม่ค่อยมีอาการ เมื่อไปเล่นด้วยกันที่โรงเรียน ก็อาจมีการส่งต่อเชื้อ และพาเชื้อเข้าไปในครอบครัว ไปให้ปู่ย่าตายายคนแก่ที่มีโรคประจำตัว แบบนี้เสร็จเลย เราถึงบอกว่าถ้าไทยเข้าสู่ระยะ 3 การปิดโรงเรียนอาจจะต้องยาวขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) คิดกันอยู่แล้ว แต่ตอนนี้โชคดีที่กำลังปิดเทอมอยู่
เมื่อถามว่าผู้ใหญ่หรือผู้สูงอายุที่อาจรุนแรงกว่าเด็ก เกี่ยวกับสภาพปอดที่เสียหายกว่าจากการใช้ชีวิตหรือไม่ นพ.ทวี กล่าวว่า เรื่องของสภาพของปอดก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้อาการมีความรุนแรงด้วย อย่างคนสูบบุหรี่ คนมีโรคประจำตัว ปอดจะอ่อนแออยู่แล้ว รวมถึงคนอ้วนมากๆ ลองคิดดูว่าหน้าอกเหมือนมีหมู 3 ชั้นหนา 3-4 นิ้วมาทับไว้ การขยายของหน้าอกเพื่อให้ออกซิเจนเข้าปอดมากๆ ก็ทำได้น้อยลง พอได้น้อยลงการทำงานปอดก็ทำงานได้น้อยลง มีประสิทธิภาพน้อยลง พอเชื้อเข้าไปก็มีอาการรุนแรง คนอ้วนจึงเป็นปัจจัยเสี่ยงหนึ่งด้วย
เมื่อถามว่าปริมาณเชื้อที่รับเข้าไปส่งผลต่อความรุนแรงของโรคด้วยหรือไม่ นพ.ทวี กล่าวว่า ปริมาณเชื้อก็มีความเป็นไปได้ เราเห็นกลุ่มคนที่ไปกินดื่มกัน 10 กว่าคนแล้วติดกันจำนวนมาก ตนสงสัยว่าคนที่ต้นตอ เชื้อจะค่อนข้างเยอะ และการติดของกลุ่มนี้เป็นการติดที่ใกล้ชิดมากและอยู่ในที่อับ เวลาโดนจึงโดนจังๆ ทุกคน และมักเป็นการนั่งกินดื่มชนิดไหล่ชนไหล่และไม่ได้ใส่หน้ากาก มีการตะโกนร้องเพลง ซึ่งการตะโกนก็ทำให้เชื้อออกมา นี่ก็คือความเสี่ยงของคนกลุ่มนั้น