กลุ่มเยาวชน ร้องดีเอสไอ รับปัญหาพนันตู้คีบตุ๊กตาเป็นคดีพิเศษ ข้องใจมีกฎหมายพาณิชย์ห้ามนำเข้า เข้าข่ายการพนันและไม่มีการออกใบอนุญาต แต่ทำไมระบาดทั่วเมือง ชี้ เรื่องนี้มีคำพิพากษาชัดเจนแล้ว วอนดีเอสไอทำความจริงให้ปรากฏ เตือนกลุ่มธุรกิจอย่าดันทุรัง
วันนี้ (13 มี.ค.) ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) นายณัฐพงศ์ สำเภาแก้ว ผู้ประสานงานเครือข่ายเด็กรุ่นใหม่ไม่พนัน นายราเมศร ศรีทับทิม เลขานุการเครือข่ายรณรงค์หยุดพนัน และ นายวันชัย พูลช่วย ผู้ประสานงานเครือข่ายนักกฎหมายเพื่อเด็กและเยาวชน นำกลุ่มนักเรียน นักศึกษา จากหลายสถาบัน กว่า 30 คน ยื่นจดหมายเปิดผนึกถึง พันตำรวจเอก ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ผ่านทาง ร้อยตำรวจเอก ปิยะ รักสกุล ผู้อำนวยการกองบริหารคดีพิเศษ เพื่อให้พิจารณาปัญหาการพนันตู้คีบตุ๊กตา โดยขอให้ดีเอสไอรับไว้เป็นคดีพิเศษ และเร่งเอาผิดตามกฎหมายกับผู้ที่เกี่ยวข้อง
นายณัฐพงศ์ กล่าวว่า จากการลงพื้นที่สำรวจตู้คีบตุ๊กตาในห้างสรรพสินค้า จำนวน 92 ห้าง ใน 10 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ นนทบุรี สมุทรปราการ ลำปาง น่าน พะเยา สุรินทร์ อุบลราชธานี สระบุรี และ พัทลุง ระหว่างวันที่ 7-19 ธ.ค. 62 พบตู้คีบตุ๊กตา ตู้คีบ ตู้ดัน ตู้ตัก เปิดให้บริการทั้งหมด 1,511 ตู้ เฉพาะในกรุงเทพฯ พบ 49 ห้าง จำนวน 1,077 ตู้ เปิดอย่างโจ่งแจ้งในโซนเครื่องเล่น โรงภาพยนตร์ ศูนย์อาหาร หน้าห้องน้ำ และทางเข้าออกห้างสรรพสินค้า เป็นจุดที่เข้าถึงได้ง่าย ไม่เกรงกลัวต่อกฎหมาย ไม่มีใบอนุญาต ไม่มีการควบคุมอายุของผู้เล่น มีเด็กและเยาวชนเล่นเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ ยังพบข้อความบิดเบือนความจริง เช่น ตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ, สินค้านี้ไม่ใช่เครื่องมือการพนัน มีไว้เพื่อการขายสินค้าเท่านั้น และข้อความบอกลักษณะของตู้คีบถูกและผิดกฎหมาย เพื่อหลอกให้ผู้เล่นสับสนและเข้าใจผิด ซึ่งตู้คีบตุ๊กตาทั้งหมดที่พบ เข้าข่ายการพนันทั้งสิ้น ทั้งนี้ เครือข่ายฯได้สอบถามความเห็นประชาชน อายุ 15 ปีขึ้นไป ที่เข้าใช้บริการในห้างสรรพสินค้า เกี่ยวกับ “ตู้คีบตุ๊กตา” จำนวน 1,004 คน กว่าร้อยละ 80 เคยมีประสบการณ์การเล่นตู้คีบตุ๊กตา และเกินกว่าครึ่งไม่ทราบว่าตู้คีบตุ๊กตาเป็นการพนัน
นายณัฐพงศ์ กล่าวว่า สำหรับตู้คีบตุ๊กตาแท้จริงแล้วคือการพนัน ตามพระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ. 2478 บัญชี ข. หมายเลข 28 และเคยมีคำพิพากษาของศาลฎีกาที่ 8600/2547 พิพากษาไว้ชัดเจนว่า ตู้คีบตุ๊กตาเป็นการพนัน หากจะจัดให้มีต้องได้รับอนุญาตโดยถูกต้องจากเจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาต แต่กรมการปกครองมีนโยบายชัดเจนไม่ให้เจ้าพนักงานออกใบอนุญาตให้มีการเล่นการพนันดังกล่าวโดยเด็ดขาดตามหนังสือกระทรวงมหาดไทย (ที่ มท 0307.2/ว 3810) ตั้งแต่วันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2549 นอกจากนั้น ประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง การนำเข้าเครื่องเล่นเกมเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. 2548กำหนดให้เครื่องเล่นเกม ซึ่งใช้เครื่องกล พลังไฟฟ้า พลังแสงสว่าง หรือพลังอื่นใด ทั้งที่เป็นเครื่องครบชุดสมบูรณ์ หรือมีลักษณะที่ทำให้เห็นได้ว่าเป็นเครื่องครบชุดสมบูรณ์หรือแต่บางส่วน ตามพิกัดอัตราอากรขาเข้าประเภทย่อย 9504.30,9504.901 และ 9504.909 ของประเภท 95.04 ซึ่งโดยสภาพจะใช้เล่นอันจะทำให้แพ้ชนะกันได้ไม่ว่าด้วยการนับแต้ม หรือเครื่องหมายใดๆ หรือไม่ก็ตาม เป็นสินค้าที่ต้องห้ามในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร (ตู้คีบตุ๊กตาเป็นสินค้าในพิกัดที่ 95.04) และมีคำพิพากษาศาลฎีกา หมายเลข 10330/2546 พิพากษาว่าตู้คีบตุ๊กตาเป็นของต้องห้ามนำเข้ามาในราชอาณาจักร ไว้เป็นบรรทัดฐานอย่างชัดเจน และยังเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.ศุลกากร และ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน
“ในเมื่อไม่มีการออกใบอนุญาต และกฎหมายกำหนดชัดเจนห้ามนำเข้าตู้คีบตุ๊กตา สิ่งที่ปรากฏในปัจจุบันเกิดขึ้นได้อย่างไร ตั้งแต่การนำเข้ามา จนถึงการประกอบการในพื้นที่ห้างสรรพสินค้าต่างๆ รวมไปถึงตอนนี้กำลังระบาดไปทั่วทั้งในย่านชุมชน ตลาด เราสงสัยว่ามีเจ้าหน้าที่ภาครัฐเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ด้วยหรือไม่ ทางเครือข่ายฯ เป็นห่วงว่าหากไม่มีความชัดเจน ตู้คีบตุ๊กตาที่เข้าข่ายการพนัน จะเล็ดรอดออกมาบ่มเพาะค่านิยมที่หลงใหลการพนันกับเด็กและเยาวชน สุ่มเสี่ยงเกิดนักพนันหน้าใหม่และกลายเป็นปัญหาสังคมในที่สุด เมื่อยังไม่มีมาตรการใดๆ กำกับดูแล ซึ่งเราทราบมาว่า มีตู้คีบตุ๊กตาอีกจำนวนมากรอนำเข้ามาในประเทศ และมีจำนวนหนึ่งถูกกักไว้ที่ด่านศุลกากร” นายณัฐพงศ์ กล่าว
นายราเมศร กล่าวว่า จากปัญหาที่เกิดขึ้น เครือข่ายฯมีข้อเสนอต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ เพื่อนำไปพิจารณา ดังนี้ 1. เครือข่ายฯขอให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ รับประเด็นตู้คีบตุ๊กตาเป็นคดีพิเศษ และเร่งดำเนินการตรวจสอบตู้คีบตุ๊กตาที่เปิดให้บริการอยู่ในห้างสรรพสินค้า และใช้มาตรการเชิงรุกทางกฎหมาย รวมถึงบูรณาการการทำงานร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงมหาดไทย กรมศุลกากร และสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ร่วมแก้ไขปัญหาตู้คีบตุ๊กตาผิดกฎหมาย ไม่ละเลยให้เด็กและเยาวชนเข้าถึงการพนัน ให้เร่งทำความเข้าใจและชี้แจงข้อเท็จจริง 2. ขอให้ตรวจสอบว่ามีข้าราชการ เจ้าหน้าที่ หรือหน่วยงานใดที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าว หรือเข้าข่ายละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายสร้างบรรทัดฐานแก่สังคม 3. ขอเรียกร้องไปยังผู้ประกอบการตู้คีบตุ๊กตา ยุติการให้บริการตู้คีบตุ๊กตาและหยุดบิดเบือนข้อมูลความจริง สร้างความเข้าใจผิดเกี่ยวกับประเด็นตู้คีบตุ๊กตา ขอให้ประกอบกิจการโดยยึดหลักจริยธรรมและความถูกต้องของกฎหมายเป็นสำคัญ และ 4. ขอให้ประชาชนคนไทยช่วยกันสอดส่องดูแล แจ้งเบาะแสตู้คีบตุ๊กตาแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมปกป้องเด็กและเยาวชน ลดการเข้าถึงการพนัน ไม่ควรส่งเสริมให้ลูกหลานคุ้นชินและชื่นชอบในการพนันไม่ว่าจะรูปแบบใดๆ ก็ตาม
“ขณะนี้มีการให้ข้อมูลจากผู้ประกอบการ ว่า ตู้คีบตุ๊กตาไม่เข้าข่ายการพนัน โดยอ้างหนังสือคำสั่งจากกรมการปกครอง ซึ่งเป็นการตีความที่เข้าข้างตัวเองมากเกินไป เป็นการคิดเองเออเอง และต้องไม่ลืมว่าเรื่องนี้มีคำพิพากษาเป็นบรรทัดฐานไว้ชัดเจนแล้ว จะมาตีเนียนไม่ได้ กรมการปกครองก็ยืนยันชัดเจนว่าไม้มีนโยบายการออกใบอนุญาตใดๆ ไม่ควรดันทุรังอีกต่อไป” นายราเมศร กล่าว