มธ.เพิ่มทางเลือก “ผ้าฝ้ายผสมโพลิเอสเตอร์” ผลิตหน้ากากอนามัยในภาวะขาดแคลน ลดเสี่ยงติดเชื้อ COVID-19
รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวว่า มธ.ได้จัดตั้ง “คณะทำงานป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 19” (COVID-19) ขึ้น ภายใต้ความร่วมมือของประชาคมธรรมศาสตร์และหน่วยงานภายนอกอาทิ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คณะศิลปกรรมศาสตร์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ และ โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อทำหน้าที่เป็นแกนกลางในการบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนรับมือสถานการณ์ได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ
ศ.พญ.อรพรรณ โพชนุกูล รองอธิการบดีฝ่ายการนักศึกษา และประธานคณะทำงานป้องกันและควบคุม COVID-19 กล่าวว่า แม้สถานการณ์การแพร่กระจายเชื้อ COVID-19 ในประเทศไทย จะอยู่ในเฟส 2 แต่โรงพยาบาลทั่วประเทศมีความต้องการ “หน้ากากอนามัย” 30-40 ล้านชิ้นต่อเดือน แต่โรงงานรวม 10 โรง สามารถผลิตได้ประมาณ 30 ล้านชิ้น ดังนั้น เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงของการแพร่กระจาย หรือติดเชื้อโควิด-19 ดังนั้น คณะทำงานจึงได้ดำเนินการศึกษาวิจัยคุณสมบัติผ้าที่เหมาะสมในการพัฒนา “หน้ากากผ้ากันน้ำ THAMMASK เพื่อใช้ในทางการแพทย์” หน้ากากผ้าทางเลือกที่ผลิตจากวัสดุผ้าสะท้อนน้ำไม่ดูดซับความชื้นและช่วยลดโอกาสในการแพร่เชื้อ
ด้าน อาจารย์ ธนิกา หุตะกมล อาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีวัสดุและสิ่งทอ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมธ. (SCI-TU) กล่าวเสริมว่า หน้ากากผ้ากันน้ำ THAMMASK เพื่อใช้ในทางการแพทย์ เป็นการประยุกต์ใช้องค์ความรู้เกี่ยวกับโครงสร้างผ้าที่มีคุณสมบัติในการกันน้ำ และเหมาะสมแก่การพัฒนาเป็นหน้ากากผ้าป้องกันสารคัดหลั่ง เบื้องต้นเพื่อใช้ทดแทนหน้ากากอนามัยที่ขาดแคลนในขณะนี้ โดย “ผ้าฝ้ายผสมโพลิเอสเตอร์” (Cotton-Silk) มีโครงสร้างของเส้นใยที่เหมาะสม ประกอบด้วย Cotton-Microfiber จำนวนเส้นด้าย 500 เส้นต่อ 10 ตารางเซนติเมตร โดยมีเส้นด้ายยืนโพลีเอสเตอร์ไฟเบอร์เบอร์ 75 (Polyester Microfiber) เส้นด้ายพุ่งโครงสร้างเส้นใยฝ้ายคอมแพ็กโคมบ์เบอร์ 40 (Cotton Compact Combed)
นอกจากนี้ บริษัทผู้ผลิตการใช้เทคโนโลยีสะท้อนน้ำด้วยสาร NUVA-1811 ซึ่งมีอนุภาคเป็นระดับไมครอน สามารถแทรกเข้าไปเนื้อผ้าเพื่อต้านไม่ให้โมเลกุลของน้ำแทรกเข้าไปในเนื้อผ้าได้ NUVA-1811 ได้รับการรับรองจาก Oekotex Standard 100-2019 ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ มีความปลอดภัยเมื่อสัมผัสผิวหนังโดยตรง ซึ่งทางคณะทำงานฯกำลังอยู่ในระหว่างการทดสอบประสิทธิภาพการใช้งานและความคงทนของเส้นใย ว่า ยังคงประสิทธิภาพเดิมหรือไม่ เมื่อนำไปซักด้วยเครื่องซักผ้ามาตรฐานทั่วไป ดังนั้น “ผ้าฝ้ายผสมโพลิเอสเตอร์” จึงน่าจะเป็นอีกหนึ่งวัสดุทางเลือกในการผลิตเป็นหน้ากากผ้าเพื่อใช้ป้องกันการแพร่เชื้อไวรัส COVID-19 ทั้งในบุคลากรทางการแพทย์และประชาชนทั่วไป
อย่างไรก็ตาม ประชาชนยังสามารถประดิษฐ์ “หน้ากากผ้า D.I.Y. ด้วยผ้านิตเจอร์ซี่” เพื่อใช้ป้องกันสารคัดหลั่งจากการไอหรือจามทดแทนหน้ากากอนามัยในภาวะขาดแคลน เนื่องจากโครงสร้างผ้านิตเจอร์ซี่ (Jersey Knit) จะมีลักษณะคล้องกันเป็นห่วงตลอดทั้งผืน โดยที่ผ้าด้านหน้าจะมีลักษณะเป็นแนวตั้ง ส่วนผ้าด้านหลังมีลักษณะเป็นห่วงแนวนอน อีกทั้งยังเป็นผ้าถักที่มีความยืดหยุ่นสวมใส่สบาย น้ำหนักเบา ระบายอากาศได้ดี สามารถซักและใส่ซ้ำได้
ผศ.ดร.ณัฐธนนท์ หงส์วริทธิ์ธร คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. (SCI-TU) กล่าวเสริมว่า คณะวิทยาศาสตร์ มธ. มีมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 สำหรับบุคลากรและนักศึกษาภายในคณะ โดยกำหนดให้มีรอบการทำความสะอาดเพิ่มมากขึ้นในบริเวณที่มีการใช้งานสูงจัดทำเจลแอลกอฮอล์ 70% ประจำจุดสำคัญต่างๆ เช่น สำนักงานคณะฯ เนื่องจากมีการติดต่อราชการบ่อยครั้ง อีกทั้งมีมาตรการในการคัดกรองโดยการตรวจวัดอุณหภูมิก่อนเข้าอาคารเรียน และมีการประชาสัมพันธ์ข้อมูลการดูแลตนเอง เพื่อเพิ่มความตระหนักรู้ให้แก่นักศึกษาและบุคลากร เพราะมาตรการเหล่านี้นับเป็นการเปิดโอกาสให้ทุกคนได้มีส่วนช่วยรับผิดชอบต่อสังคมร่วมกัน เพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อ COVID-19
นอกจากนี้ สาขาวิชาเทคโนโลยีวัสดุและสิ่งทอคณะวิทยาศาสตร์ฯ มธ. ยังได้ร่วมกับคณะทำงานฯคณะศิลปกรรมศาสตร์และภาคเอกชน เดินหน้าผลิตหน้ากากผ้าภายใต้กิจกรรม “ธรรมศาสตร์รวมใจต้านภัยโคโรนา” เพื่อส่งเสริมการทำหน้ากากผ้าชนิดอื่นๆ ที่สามารถใช้ลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อแก่บุคลากรและนักศึกษา มธ. โดยไม่มีค่าใช้จ่าย
ทั้งนี้ สอบถามเพิ่มเติมได้ที่กองกิจการนักศึกษา โทรศัพท์ 02-564-2924, 02-564-4408 และสำหรับผู้ที่สนใจวิธีการตัดเย็บหน้ากากผ้า เพื่อทดแทนกับหน้ากากอนามัยในช่วงที่ขาดแคลน ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.facebook.com/ScienceThammasat/posts/2200214250082114