ในยุคที่เศรษฐกิจกำลังถดถอยจากหลายปัจจัย และยังซ้ำเติมจากพิษสถานการณ์ไวรัสโควิด - 19 คนไทยไม่ว่าจะยากดีมีจน ได้รับผลกระทบนี้ไปทุกหย่อมหญ้า มีรายได้น้อยกว่ารายจ่ายหรือบางรายไม่มีรายได้เข้ามาเลย บ้างถูกเลิกจ้าง กลุ่มเกษตรกรกำลังประสบปัญหาราคาพืชผลการเกษตรตกต่ำ ส่งออกไม่ได้ ในขณะที่ค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันกลับสูงขึ้นทุกวัน
เสียงสะท้อนจากหลายพื้นที่พบว่าผลกระทบทางเศรษฐกิจนี้กำลังลุกลามทำให้บางครอบครัวที่ยากจนอยู่แล้วต้องยอมให้บุตรหลานออกจากโรงเรียนมาช่วยทำงานเพื่อแบ่งเบาภาระครอบครัวอีกทางหนึ่ง ไม่เว้นแม้แต่พื้นที่ปลายด้ามขวาน ใน ต.บาละ อ.กาบัง จ.ยะลา ซึ่งมีเด็กนักเรียนจำนวนไม่น้อยที่ต้องออกจากระบบการศึกษา เพื่อไปรับจ้างทำงานในกรุงเทพฯ หรือเมืองใหญ่ๆ บ้างก็ไปเป็นยาม บ้างก็ไปทำงานร้านอาหาร และมีจำนวนหนึ่งที่เดินทางออกไปทำงานในประเทศมาเลเซีย
เรื่องนี้ “ครูสุเทพ เท่งประกิจ” ครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ปี 2562 จากโรงเรียนบ้านคลองน้ำใส อ.กาบัง จ.ยะลา ได้เล่าถึงปัญหาของชุมชนว่า “เด็กในโรงเรียนส่วนใหญ่มาจากครอบครัวที่มีฐานะยากจน ผู้ปกครองมีอาชีพกรีดยาง ที่ดินก็ไม่มีเอกสารสิทธิ์ และตอนนี้ราคายางตกลงมาเหลือแค่ 4 กิโลกรัม 100 บาท ทำให้เด็กหลายคนแม้จะอยากเรียนต่อแต่ก็ต้องหยุดเรียนเพื่อออกไปช่วยที่บ้านทำงานหาเงินเลี้ยงครอบครัว แต่ครูเองก็พยายามติดตามตัวให้กลับมาเรียนหนังสือตามปกติ”
ทำอย่างไรที่จะช่วยเด็กกลุ่มนี้ได้ ?
หนึ่งในทางออกที่ครูสุเทพและเพื่อนครูในโรงเรียนพยายามหาทางแก้ไขปัญหาร่วมกันคือ การสร้างรายได้ระหว่างเรียนให้กับเด็กนักเรียน ตามความถนัดและความสนใจของแต่ละคน ทั้ง ตัดเย็บเสื้อผ้า ช่างเชื่อม ช่างไม้ เกษตรกรรม งานประดิษฐ์ ทำอาหาร ฯลฯ จึงนำมาสู่ “โครงการพัฒนาแหล่งเรียนรู้และสร้างแกนนำเพื่อการพัฒนาทักษะอาชีพสู่การมีงานทำ” ซึ่งมีกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา หรือ กสศ. เข้ามาเป็น “ลมใต้ปีก” สนับสนุนโครงการนี้ และด้วยการสนับสนุนจาก กสศ. ทำให้โรงเรียนสามารถจัดหาวัสดุ อุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับภาคปฏิบัติ ทั้งจักรเย็บผ้า ตู้เชื่อม เครื่องตัดเหล็ก เครื่องตัดไม้ กบไฟฟ้า และหินเจียร มาใช้ประกอบการฝึกทักษะ
ครูสุเทพ เล่าให้ฟังว่า โครงการนี้เป็นการนำประสบการณ์ตรงในอดีตที่ครูเคยส่งเสียตัวเองเรียนจากการรับจ้างทำงานต่างๆ ตั้งแต่ กวนปูน ก่ออิฐ ฉาบปูน เป็นช่างไม้ ทำให้มีทั้งรายได้และทักษะอาชีพติดตัวมาจนถึงปัจจุบัน และทำให้สามารถใช้รายได้จากงานตรงนั้นมาเป็นค่าใช้จ่ายและค่าเล่าเรียนจนจบเป็นครูมาถึงทุกวันนี้
บทเรียนจริงที่ต้องเอามาใช้จริง
โครงการฝึกทักษะอาชีพ จะเป็นการฝึกแบบลงมือทำจริง และมีรายได้เกิดขึ้นจริงกับนักเรียนจริง เช่น การตัดเย็บเสื้อผ้า ก็เริ่มจากงานง่ายๆ การตัดเย็บผ้าคลุมผม ผ้าพันคอลูกเสือ ซึ่งเด็กๆ ก็ต้องใช้กันอยู่แล้วน่าจะตัดเย็บใช้เอง ไปจนถึงกระเป๋าผ้าที่ปัจจุบันมีการรณรงค์ไม่ให้ใช้ถุงพลาสติก ส่วนวิชาช่างเชื่อมปัจจุบันเด็กๆ สามารถทำชั้นวางรองเท้า โต๊ะ โกลฟุตบอลรูหนูใช้เองได้แล้ว และเริ่มมีคนมาจ้างให้ผลิตของใช้ต่างๆ ในชีวิตประจำวันเพิ่มขึ้น หรือช่างไม้ก็เริ่มสอนให้เด็กรู้จัก ไปหาของที่มีอยู่ตามธรรมชาติ มาออกแบบเป็นข้างของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน
“ทั้งหมดเด็กจะได้ฝึกทักษะการวางแผนพรุ่งนี้จะทำอะไร ต้องเตรียมตัวอะไรบ้าง ได้ทั้งการคิดและคำนวณว่าซื้อผ้ามาหนึ่งโหลเป็นต้นทุนกี่บาท จะตัดได้กี่ชิ้น ผลต่างที่เป็นกำไรเท่าไร ตรงนี้จะฝึกให้เขาได้รู้กระบวนการคิดต้นทุนการผลิต ซึ่งในตำราเรียนยังไม่มีสอน และสุดท้ายเด็กๆ ก็จะมีรายได้ย้อนกลับมาหาตัวเขาเองด้วย” ครูสุเทพ กล่าว
แม้เศรษฐกิจจะไม่ดี แต่การศึกษาถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้มีทางเลือกในอนาคต และมีหน้าที่การงานที่ดี ดังนั้นสิ่งที่จะต้องปลูกฝังให้แก่เด็กนักเรียนคือแนวคิดที่เราจะสอนเขา
“น้องบิ๊ก - ซูฟัร แลฮา” นักเรียนชั้น ม.3 ของโรงเรียน เล่าให้ฟังระหว่างเชื่อมเหล็กเพื่อสร้างกรงนก ว่า “ชอบงานด้านช่างเชื่อม โดยเริ่มเรียนตั้งแต่การออกแบบ การวัด การตัด จนถึงการเชื่อม ซึ่งช่วงเริ่มต้นอาจลำบากหน่อย เช่น แช่นานไปก็เหล็กทะลุ หรือเร็วไปเหล็กก็ไม่ติดกันต้องลองทำไปเรื่อยๆ ทุกวันนี้ชำนาญมากขึ้น มีคนมาจ้างต่อกรงนกและกำลังจะทำไซดักปลาที่ออกแบบเอง เมื่อมีรายได้ก็เอาไปซื้ออุปกรณ์การเรียนไม่ต้องรบกวนที่บ้าน
ไม่ต่างจาก อิบรอเหม อาบู นักเรียน ชั้นเดียวกันจากที่เคยลองทำราวตากผ้าใช้เอง ตอนนี้มีครูในโรงเรียนสนใจสั่งให้ทำให้หลายชุดแล้ว และก่อนหน้านี้เคยทำชุดขาตั้งขวดน้ำขายไปได้หลายชุด งานตรงนี้เป็นเรื่องสนุก ได้เรียนรู้ทักษะใหม่ๆ และช่วยให้มีรายได้ ซึ่งตั้งใจจะเก็บรายได้ไว้เป็นทุนการศึกษาในอนาคต
เรียนหนักงานเบา เรียนเบางานหนัก
ครูสุเทพ อธิบายเพิ่มว่า แม้เศรษฐกิจจะยังไม่ฟื้นตัว แต่การศึกษาถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้มีอนาคต มีหน้าที่การงานที่ดี ดังนั้นสิ่งที่จะต้องปลูกฝังเด็กนักเรียนคือแนวคิดที่เราจะสอนเขาว่า “หากเรียนหนักงานเบา เรียนเบางานหนัก” เช่น เคยให้ลูกศิษย์ช่วยกันวิเคราะห์ว่า “หากลูก จบ ป. 4 จะทำอาชีพอะไรได้บ้าง?” เด็กๆ ก็จะบอกว่าเป็นพวกการเกษตร ตัดยาง เลี้ยงวัวควาย แต่งานที่ก้าวหน้าขึ้นมาอย่างผู้ใหญ่บ้านก็เป็นไม่ได้ หรือจบ ม.3 ม.6 แล้วเป็นอะไรได้บ้าง? ตรงนี้ทำให้เด็กเขาเห็นอนาคตตัวเองว่าหากอยากสบายในอนาคตก็ต้องตั้งใจในชั้นสูงขึ้นไป
เมื่อเด็กมีเป้าหมายตั้งใจที่จะเรียนให้สูงๆ แล้ว จากนี้ก็เป็นเรื่องที่เราต้องช่วยพัฒนาทักษะอาชีพให้เขามีงาน มีรายได้พิเศษพอจะเป็นค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันและค่าเล่าเรียนต่อในอนาคต
“ปัจจุบัน มีนักเรียนหลายคนที่สามารถช่วยงานรับเหมาก่อสร้าง เช่น การสร้างอาคารในโรงเรียน ที่เด็กๆ ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการก่อสร้าง ที่ทำให้นักเรียนได้เรียนรู้จากของจริง ลงมือทำจริงๆ อย่างก่ออิฐ ฉาบปูน เราก็ภูมิใจว่าเขาสามารถทำงานตรงนี้ได้ เมื่อมีวิชาความรู้ตรงนี้ก็จะมีรายได้ บางคนจะได้ใช้เป็นทุนไปเรียนต่อ บางคนหากไม่ได้เรียนต่อก็สามารถนำไปเป็นทุนประกอบอาชีพในอนาคตได้
จะเห็นว่าเด็กส่วนใหญ่ที่จบ ม.3 จากโรงเรียนบ้านคลองน้ำใสไปเกือบทั้งหมดตั้งใจเรียนต่อ บางคนไม่มีเงินก็จะไปรับทำงานจ้างหาเงินเรียนได้ด้วยตนเอง ทั้งกรีดยาง ทำงานในร้านอาหาร เป็นงานพิเศษ จนสามารถเรียนต่อชั้น ม. 6 และยังสามารถสอบเข้ามหาวิทยาลัยทักษิณได้ ทั้งหมดเป็นสิ่งที่เราต้องแนะนำและสร้างโอกาสให้แก่พวกเขา ซึ่งครูโรงเรียนอื่นๆ ก็สามารถทำได้ โดยดูตามความถนัด ความสนใจและบริบทของพื้นที่ตัวเอง” ครูสุเทพ กล่าวทิ้งท้าย
ดร.อุดม วงษ์สิงห์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาคุณภาพครู นักศึกษาครู และสถานศึกษา กสศ. กล่าวว่า “โครงการพัฒนาแหล่งเรียนรู้และสร้างแกนนำเพื่อการพัฒนาทักษะอาชีพสู่การมีงานทำ” ของครูสุเทพ เท่งประกิจ” ครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ปี 2562 เป็น โครงการขยายผลจากการทำงานของครูที่ทำสร้างสมเป็นต้นทุนมา ซึ่งโครงการนี้จะมุ่งเน้นการพัฒนาระบบการดูแลเด็กและเยาวชนด้อยโอกาสเพื่อสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาเป็นสำคัญ การทำงานของครูสุเทพจึงมุ่งเน้นขยายผลให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ได้ตลอดชีวิตแก่เด็กและเยาวชนด้อยโอกาสทั้งในโรงเรียนและชุมชน เพราะนอกจากความรู้ที่ครูจะถ่ายทอดเพื่อให้มีความรู้ความสามารถในด้านวิชาการแล้ว ทักษะการประกอบอาชีพได้ตามความถนัดและมีศักยภาพพอที่จะพึ่งพาตนเองในการดำรงชีวิตทั้งในปัจจุบันและอนาคตก็มีความสำคัญ